xs
xsm
sm
md
lg

“ศรีราชา” มึน “จรัญ” ผิดจริยธรรมข้อไหน จ่อดูค่านิยม 9 มาตรฐาน จนท.รัฐประกอบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายศรีราชา เจริญพานิช ผู้ตรวจการแผ่นดิน (แฟ้มภาพ)
ผู้ตรวจการแผ่นดิน เผยเช็กคำร้อง “เรืองไกร” ฟ้อง “จรัญ” แล้วชี้ยังไม่พบผิดจริยธรรม ยันเทียบเคียง กม.ขรก.ตุลาการไม่ได้ เหตุคนละองค์กร จ่อดูค่านิยม 9 ประการมาตรฐานเจ้าหน้าที่รัฐผิดข้อใดหรือไม่

วันนี้ (23 พ.ค.) ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายศรีราชา เจริญพานิช ผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว.สรรหา ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบจริยธรรมของนายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้ร่วมประชุมพิจารณาคดีและออกนังบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยคดี ส.ส.ฝ่ายค้านและรัฐบาลยุ่งเกี่ยวกับการแจกจ่ายถุงยังชีพ เมื่อวันที่ 20 เม.ย. แต่กลับไปบรรยายพิเศษให้กับนักศึกษาหลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง รุ่นที่ 3 ที่สำนักงาน กกต.ว่า เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ของสำนักงานฯ รายงานข้อมูลต่อผู้ตรวจการแผ่นดินให้ทราบว่า หลังรัฐธรรมนูญ 50 ใช้บังคับสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญยังไม่มีการออกระเบียบประมวลจริยธรรมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้ทุกหน่วยงานต้องมีการดำเนินการยกร่างระเบียบประมวลจริยธรรมของหน่วยงานตนเองให้แล้วเสร็จภายใน 23 ส.ค. 2551 โดยสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ มีเพียงระเบียบว่าด้วยจริยธรรม ที่ออกมาบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2548 และยังไม่พบว่าพฤติการณ์ของนายจรัญ ที่นายเรืองไกรร้องขอให้ตรวจสอบนั้นเข้าข่ายข้อใดของระเบียบว่าด้วยจริยธรรมที่ศาลรัฐธรรมนูญมีอยู่

ส่วนที่นายเรืองไกรอ้างว่าพฤติการณ์ของนายจรัญเข้าข่ายขัดจริยธรรมโดยนำประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการมาเทียบเคียง คิดว่าไม่น่าจะได้ เพราะเป็นคนละองค์กร เมื่อสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญยังไม่มีประมวลจริยธรรมตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ก็ต้องเอาประกาศค่านิยมหลัก 9 ประการ (Core Value) ของมาตรฐานจริยธรรมสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจผู้ตรวจฯ ยกร่างขึ้นไว้เพื่อเป็นหลักให้แต่ละหน่วยงานนำไปเป็นแนวทางในการวางระเบียบจริยธรรมของหน่วยงานตนเองมา เป็นหลักในการพิจารณาของผู้ตรวจฯ ว่า พฤติการณ์ของนายจรัญ ที่ถูกร้องเรียนนั้นเข้าข่ายข้อใด ข้อหนึ่งในค่านิยมหลักทั้ง 9 ข้อหรือไม่ คงจะใช้ระยะเวลาไม่นานในการพิจารณา

“ผมยังไม่เห็นคำชี้แจงของนายจรัญ แต่เท่าที่ทราบจากสื่อมวลชนวันดังกล่าว นายจรัญ ลาประชุม โดยที่นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้อนุญาตแล้ว เข้าใจว่านายจรัญ คงไปบรรยายพิเศษซึ่งปกติน่าจะทำได้ ถ้าเรื่องเหล่านี้ไม่ได้มีปัญหากับการปฏิบัติหน้าที่ตุลาการ โดยผู้ตรวจฯ คงต้องพิจารณาเมื่อได้ข้อมูลต่างๆ ครบถ้วนถึงความเหมาะสมของเหตุผลในการลาประชุม ว่า บุคคลซึ่งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญควรปฏิบัติหน้าที่ประชุมวินิจฉัยคดีที่เป็นหน้าที่หลักเสียก่อน ที่จะไปช่วยงานองค์กรอื่นซึ่งเป็นงานรองหรือไม่” นายศรีราชากล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น