xs
xsm
sm
md
lg

อีสานโพลรัฐสอบตกแก้ ศก. ชี้ 3 กระทรวงไม่ผ่านเกณฑ์ 99% จำชื่อ รมต.ไม่ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“อีสานโพล” เผยชาวอีสานให้รัฐสอบตกแก้เศรษฐกิจเหตุสินค้า-พลังงานแพง 57% จี้ขึ้นค่าแรง 300 ทั่วประเทศทันทีปีหน้า ให้คะแนนกระทรวงเกษตร-แรงงาน-พาณิชย์ ไม่ถึง 50% ขณะที่ 76.3% ชูท่องเที่ยวเจ๋งสุด ผงะ! 99% จำชื่อ รมต.ไม่ได้แม้แต่คนเดียว แต่หนุน “สมคิด” นั่งรัฐมนตรีในฝัน แนะสร้างวิสัยทัศน์เพิ่ม

วันนี้ (22 พ.ค.) นายสุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง “การประเมินผลงาน 8 กระทรวงด้านเศรษฐกิจ” ว่า การสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของคนอีสานต่อการทำงานของรัฐบาล โดยเจาะลึกเฉพาะกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับด้านเศรษฐกิจที่ถูกประเมินว่าสอบตกจากการสำรวจที่ผ่านมา เพื่อเป็นเสียงสะท้อนให้รัฐบาลได้นำผลการประเมินและข้อเสนอแนะไปปรับปรุงมาตรการและนโยบายการทำงานได้อย่างเหมาะสม ทำการสำรวจจากกลุ่มตัวอย่าง 873 ราย

โดยผลสำรวจการประเมินผลงานกระทรวงต่างๆ ด้านเศรษฐกิจ พบว่า สาเหตุที่ชาวอีสานส่วนใหญ่ ประเมินให้รัฐบาลสอบตกด้านเศรษฐกิจมากที่สุด ได้แก่ ปัจจัยราคาสินค้าอุปโภคบริโภค และพลังงานที่แพง ส่งผลต่อค่าครองชีพประชาชน ร้อยละ 46.1 รองลงมาเห็นว่า เพราะนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท และเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาทที่ล่าช้า ร้อยละ 21.5 ปัจจัยที่ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ และนโยบายรับจำนำพืชผลทางการเกษตรล้มเหลว ร้อยละ 21.5 การแก้ไขปัญหาหนี้สินล่าช้า ขาดประสิทธิภาพ ร้อยละ 5.8 การควบคุมค่าโดยสารขนส่งสาธารณะ และคุณภาพการให้บริการไม่มีประสิทธิภาพ ร้อยละ 2.6 และเหตุผลอื่นๆ เช่น เศรษฐกิจตกต่ำอยู่แล้ว, ภาวะเศรษฐกิจโลก, ปัญหาการเมืองและการคอร์รัปชันส่งผลต่อเศรษฐกิจ อีกร้อยละ 2.4

เมื่อถามต่อถึงนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ ควรดำเนินการอย่างไรเพื่อให้ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมมากที่สุด กลุ่มตัวอย่างชาวอีสานร้อยละ 57 เห็นว่า ควรให้ขึ้นทันที ภายในปี 2556 รองลงมาร้อยละ 35.5 เห็นว่าให้ทยอยขึ้นภายในปี 2558 อีกร้อยละ 3.5 ให้ขึ้นครั้งเดียวพร้อมกัน ภายในปี 2558 ส่วนดำเนินการแบบอื่นร้อยละ 4 เช่น ให้ขึ้นค่าแรงทันทีภายในปีนี้ และเห็นว่ายังไม่ควรขึ้นค่าแรงเลย เป็นต้น

ในส่วนของการประเมินผลงานของแต่ละกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับด้านเศรษฐกิจ พบว่า จากทั้งหมด 8 กระทรวง มี 3 กระทรวงที่ได้ผลการประเมินว่าผ่านต่ำกว่าครึ่งหนึ่ง ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้รับการประเมินให้ผ่านเพียงร้อยละ 45.4 อีกกระทรวงหนึ่ง คือ กระทรวงแรงงาน กลุ่มตัวอย่างประเมินให้ผ่านเพียงร้อยละ 47.4 และกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้ผลการประเมินว่าผ่านเพียงร้อยละ 48.6 ที่เหลืออีก 5 กระทรวงมีผลการประเมินให้ผ่านเกินกว่าร้อยละ 50 โดยจะเรียงลำดับกระทรวงที่ได้ผลการประเมินดีที่สุด ดังนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ผลการประเมินให้ผ่าน ร้อยละ 76.3, กระทรวงคมนาคม ได้ผลการประเมินให้ผ่าน ร้อยละ 67.3, กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ผลการประเมินให้ผ่าน ร้อยละ 62.0, กระทรวงการคลัง ได้ผลการประเมินให้ผ่าน ร้อยละ 60 และอันดับสุดท้าย กระทรวงพลังงาน ได้ผลการประเมินให้ผ่านแบบเฉียดฉิว ร้อยละ 51

อย่างไรก็ตาม แม้คะแนนประเมินผลงานกระทรวงต่างๆ จะผ่านเป็นส่วนใหญ่ แต่เมื่อถามถึงความรู้จักรัฐมนตรีว่าการของแต่ละกระทรวง กลุ่มตัวอย่างชาวอีสานกลับไม่สามารถเอ่ยชื่อของรัฐมนตรีเองได้ โดยมากกว่าร้อยละ 99 ไม่สามารถบอกชื่อรัฐมนตรีว่าการได้แม้แต่กระทรวงเดียว เช่นเดียวกัน เมื่อสอบถามต่อถึงรัฐมนตรีในฝันที่ชาวอีสานต้องการมานั่งในตำแหน่งรัฐมนตรี กลุ่มตัวอย่างชาวอีสานประมาณร้อยละ 99 ก็ไม่สามารถตอบได้เช่นกัน แต่มีชื่อของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตขุนพลเศรษฐกิจคนสำคัญของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) และแม้แต่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ได้รับการเสนออยู่ชื่อด้วย

สำหรับความคิดเห็นเพิ่มเติมของชาวอีสานเกี่ยวกับผลงานรัฐบาลทางด้านเศรษฐกิจ พบว่า ส่วนใหญ่มีความเห็น เช่น รัฐบาลควรมีวิสัยทัศน์ด้านเศรษฐกิจ ดำเนินนโยบายอย่างรวดเร็ว และปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ นอกจากนี้ยังเห็นว่า รัฐบาลควรเร่งพิจารณาเรื่องค่าแรงและค่าครองชีพให้สอดคล้องกัน บางส่วนแสดงความกังวลว่านโยบายขึ้นค่าแรงของรัฐบาลจะส่งผลต่อบรรยากาศการค้าและการลงทุน และอาจทำให้อุตสาหกรรมต่างๆ ย้ายฐานการผลิต ส่งผลให้ประชาชนไม่มีงานทำและนโยบายไม่ได้ทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดีอย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังต้องการให้รัฐบาลลดปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นและใช้เงินภาษีอย่างไม่เหมาะสม เป็นต้น

“จะเห็นได้ว่า กระทรวงที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่และปากท้องของประชาชน ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงแรงงาน และกระทรวงพาณิชย์ ไม่สามารถสอบผ่านในครั้งนี้ ทั้งนี้ เนื่องด้วยประชาชนยังเห็นว่านโยบายต่างๆ ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหา หรือสามารถทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดีได้อย่างแท้จริง ส่วนกระทรวงที่สอบผ่านมักเป็นกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการค้าและการลงทุน หรือเศรษฐกิจมหภาค เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงพลังงาน และกระทรวงการคลัง ซึ่งไม่ได้มีผลในทางตรงต่อปากท้องของประชาชน โดยเฉพาะประชาชนระดับล่าง อย่างไรก็ดี การจดจำของประชาชนชาวอีสานที่มีต่อรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ซึ่งพบว่า ชาวอีสานไม่สามารถจดจำชื่อของรัฐมนตรีได้ รวมทั้งส่วนใหญ่ไม่สามารถเสนอชื่อบุคคลซึ่งมีความสามารถ และต้องการให้มาดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ อาจสะท้อนได้ว่า ชาวอีสานไม่ได้สนใจการทำงานของกระทรวงต่างๆ อย่างแท้จริง รับรู้เพียงแต่ผลลัพธ์ของนโยบายที่กระทบต่อปากท้องตนเท่านั้น รวมทั้งสะท้อนว่าประชาชนชาวอีสานไม่ได้ให้ความสำคัญต่อปัจเจกบุคคล เท่ากับนโยบายโดยรวมและการปฏิบัติตามนโยบายที่ได้สัญญาไว้” ดร.สุทินกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น