xs
xsm
sm
md
lg

ศาลแจงเหตุไม่ให้ประกัน “อากง” ขวางอย่าใช้ ม.112 เป็นเครื่องมือ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อำพล ตั้งนพกุล
ศาลยุติธรรมแจงเหตุไม่ให้ อากง ประกันตัว เพราะไม่ยื่นหลักฐานที่ชัดเจนเกี่ยวกับความเจ็บป่วยเพื่อขอประกันตัว เรียกร้องอย่าใช้มาตรา 112 เป็นเครื่องมือทางการเมืองทำลายฝ่ายตรงข้าม ด้านแพทย์สถาบันนิติเวช ชี้ผู้ป่วยเป็นมะเร็งตับในระยะลุกลาม ไม่ใช่ระยะสุดท้าย ด้านบัวแก้วโหมโรงสื่อเทศให้ความสนใจเรื่องสิทธิเสรีภาพของไทยอย่างกว้างขวาง

วันนี้ (16 พ.ค.) นายสราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่า หากเป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 108 ที่ว่าด้วยการปล่อยตัวผู้ต้องหาเป็นการชั่วคราวนั้น จำเป็นต้องมีเหตุผลที่ชัดเจน และเพียงพอที่ศาลจะอนุญาตให้ประกันตัวออกไปได้ ส่วนจะอนุญาตหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล แต่กว่าร้อยละ 93 ศาลจะอนุญาตให้ประกันตัว แต่ในกรณีของ นายอำพล ตั้งนพกุล หรืออากงนั้น เป็นการเจ็บป่วยที่ไม่มีความชัดเจนในตอนที่แจ้งขอรับการประกันตัว จึงเป็นเหตุผลให้ศาลไม่อนุญาต และหากอากงนั้น มีอาการไม่หนักจริงก็อาจพิจารณาให้รักษาในโรงพยาบาของกรมราชทัณฑ์ได้

ทั้งนี้ นายสราวุธระบุว่า ศาลเองก็รู้สึกไม่สบายใจ และเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมกับเป็นห่วง และไม่อยากให้ใครมาใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการทำลายฝ่ายตรงข้าม

ด้านพ.ต.อ.ภวัต ประทีปวิศรุต นายแพทย์สถาบันนิติเวชวิทยา ระบุว่า จากการผ่าพิสูจน์ศพของอากงนั้น พบมะเร็งที่ตับเต็มช่องท้อง เลยทำให้อากงมีอาการท้องอืด และท้องแน่นตลอดเวลา พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมเมื่อผู้ป่วยมีอาการแบบนี้ แพทย์ในกรมราชทัณฑ์ถึงไม่ดำเนินการตรวจสอบ ซึ่งขณะนี้กำลังรอผลการพิสูจน์ชิ้นเพื่อสรุปสาเหตุการตายที่ชัดเจนอีกครั้ง

ขณะที่นายแพทย์พงษ์ศักดิ์ ภูสิทธิ์สกุล ในฐานะผู้มีส่วนร่วมชันสูตรพลิกศพอากง ระบุว่า อากงเป็นมะเร็งตับในระยะลุกลาม ไม่ใช่ระยะสุดท้าย ซึ่งพบชิ้นเนื้อมะเร็งประมาณ 7 เซนติเมตร แต่เชื้อดังกล่าวนั้น ไม่ได้ลามไปถึงหัวใจ และทำให้ตนตั้งข้อสังเกตว่า ขั้นตอนในการส่งตัวไปรักษานั้น มีความบกพร่องมากน้อยหรือไม่ เพราะถ้าหากเป็นเช่นนั้น ทางกรมราชทัณฑ์ก็ควรแก้ไขปรับปรุงในเรื่องดังกล่าว

นอกจากนี้ นายธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ยอมรับว่า กรณีดังกล่าวนั้น สื่อต่างประเทศ เอ็นจีโอ องค์กรสิทธิมนุษยชน และสหภาพยุโรป หรืออียู ต่างก็ให้ความสนใจในประเด็นนี้อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะเรื่องของการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนหรือไม่ ซึ่งทีมทนายความของกลุ่มคนเสื้อแดงนั้น ระบุว่า กรณีของอากงนั้น ได้วิพากษ์วิจาณ์การทำงานของศาลที่ไม่อนุญาตให้ประกันตัวอากง ทั้งที่ก่อนหน้านี้ อากงก็เดินทางไปศาลด้วยตนเองทุกครั้ง โดยไม่คิดที่จะหลบหนี แต่กับกรณีของ นายสนธิ ลิ้มทองกุล ที่มีความผิดในกรณีเดียวกัน กลับได้รับการประกันตัวออกมา

อย่างไรก็ตาม นายสุนัย จุลพงศธร ประธานคณะกรรมาธิการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎรระบุว่า การชี้แจงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้น สามารถสรุปได้ว่า หากอากงได้รับการประกันตัว เช่นเดียวกับนายสนธิ อาการป่วยเรื้อรังของอากงนั้น ก็น่าจะทุเลา หรืออาจหายเป็นปกติได้ พร้อมกันนี้ นายสุนัยยังได้เสนอว่า อยากให้มีการเยียวยาในเรื่องของสิทธิมนุษยชนให้แก่ผู้ที่ถูกกระทำมากกว่านี้ รวมถึงจะเสนอพิมพ์เขียวที่เป็นร่างพระราชบัญญัติป้องกันการทรมาน โดยได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายนักกฎหายสิทธิมนุษยชน มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งร่างดังกล่าวทำการปรับปรุงแก้ไขเมื่อปี พ.ศ.2554 ก็อยากให้ร่างดังกล่าวนั้นจัดทำเป็น พ.ร.บ.และมีการบังคับใช้จริง เพื่อช่วยให้ผู้ที่กระทำความผิดได้รับการปกป้องจากกฎหมายอย่างถูกต้อง
กำลังโหลดความคิดเห็น