xs
xsm
sm
md
lg

เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วันที่ 5 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันฉัตรมงคล คือวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเสด็จขึ้นครองราชย์ และวันฉัตรมงคลปีนี้เป็นวันครบรอบ 62 ปี แห่งพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

พิธีบรมราชาภิเษกหมายถึง พระราชพิธีในการสถาปนาขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์อย่างสมบูรณ์ หรือพิธีที่จัดขึ้นเพื่อรับรองฐานะความเป็นประมุขของรัฐอย่างเป็นทางการ

พระมหากษัตริย์พระองค์ใดที่ยังมิได้ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจะไม่ใช้คำว่า “พระบาท”นำหน้าคำว่า“สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”และจะยังไม่ใช้นพปฎลเศวตฉัตรหรือฉัตร 9 ชั้น อันเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นพระเจ้าแผ่นดิน

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จสวรรคต ในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2489 รัฐบาลในขณะนั้นได้เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี กราบบังคมทูลฯ ขอพระราชทานอัญเชิญพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบต่อจากพระบรมเชษฐาธิราช เป็นพระมหากษัตริย์ไทยลำดับที่ 9 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์

เนื่องจากขณะนั้น พระองค์ทรงมีพระชนมายุเพียง 19 พรรษา ยังไม่บรรลุนิติภาวะจึงยังมิได้ทรงประกอบพิธีพระบรมราชาภิเษก และยังทรงศึกษาไม่จบ จึงได้เสด็จกลับไปศึกษาต่อยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และได้ทรงเปลี่ยนการศึกษาจากสาขาวิทยาศาสตร์ มาเป็นวิชากฎหมายและการเมืองเพื่อเตรียมพร้อมที่จะรับพระราชภาระในฐานะองค์พระประมุขของชาติ โดยมีคณะอภิรัฐมนตรีซึ่งเป็นที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์ในขณะนั้น ทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ประกอบด้วย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์กรมพระยาชัยนาทนเรนทร,พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอลงกฎกรมหมื่นอดิศรอุดมศักดิ์,พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าธานีนิวัตกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร,พระยามานวราชเสวี (ปลอด ณ สงขลา) และพลตำรวจเอกหลวงอดุลเดชจรัส (บัตร พึ่งพระคุณ)

เมื่อสำเร็จการศึกษา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จนิวัตกลับประเทศไทยในปี พ.ศ.2493 ทรงประกอบพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ต่อจากนั้นได้โปรดเกล้าฯ จัดพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2493 และจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2493 ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระบรมหาราชวัง

ในวันนั้น ทรงมีพระปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

ในการบรรยายเรื่อง “พระมหากษัตริย์อันเป็นที่รัก” โดย ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2555 เนื่องในโอกาสที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว“ภัทรมหาราช ธนบัตรชาติไทย”ภายใต้แนวคิด“ความสุขที่ยั่งยืนของคนไทย ข้างหลังภาพธนบัตร” ดร.สุเมธกล่าวในตอนหนึ่งว่า

“ ในฐานะนักรัฐศาสตร์เต็มตัว รู้สึกฉงนใจและประทับใจกับประโยคแรก ที่ทรงรับสั่งว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม ...”

ทรงใช้คำว่า “ครอง”แทนคำว่า“ปกครอง”ซึ่งไม่ได้มีมิติของอำนาจเลยแม้แต่นิดเดียว หากแต่มีมิติของจิตใจความรู้สึกความเคารพความนับถือและเหนือสิ่งอื่นใดนั้นคือความรัก ซึ่งเหนือกว่าการปกครองด้วยซ้ำ เพราะการปกครองไม่ต้องใช้ความรู้สึกความรักก็ได้ แค่ใช้อำนาจอย่างเดียว

“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม... ณ วันนั้นทรงประกาศคำว่า Good Governance แล้ว ก่อนฝรั่ง 50 ปี คนไทยต้องมารอให้เกิดวิกฤติต้มยำกุ้งเสียก่อน แล้วลุกขึ้นมาพูดคำว่า Good Governance ธรรมาภิบาลตามฝรั่ง ความจริงพระเจ้าอยู่หัวทรงประกาศมาก่อนตั้ง 50 ปี เราจะครองแผ่นโดยธรรม คำว่าธรรมะนี้คือ ธรรมาภิบาล ภาษาอังกฤษ คือ Good Governance”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรทั่วประเทศอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นถิ่นทุรกันดารแค่ไหน ทำให้ทรงเห็นและตระหนักในทุกข์ของราษฎรของพระองค์ และกลายเป็นความผูกพันและห่วงใยอันลึกซึ้งและยาวนานที่มีต่อราษฎร

ความผูกพัน ความห่วงใยนี้เองที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทุ่มเทพระวรกายและพระราชหฤทัยคิดค้นหาทางอยู่ตลอดเวลาที่จะทำให้ราษฎรคลายทุกข์และอยู่ดีกินดีเพราะราษฎรชาวไทยส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงสนพระทัยโดยเฉพาะในเรื่องดินและน้ำอันเป็นปัจจัยสำคัญของเกษตรกรรม ทรงศึกษาด้วยพระองค์เองจนทรงมีความรู้แตกฉาน ทรงสามารถที่จะร่วมกับเจ้าหน้าที่และนักวิชาการ พิจารณาแก้ปัญหาและพระราชทานความคิดเห็นที่นำไปสู่โครงการตามแนวพระราชดำริต่างๆ ที่มีอยู่ประมาณ 3,000 โครงการทั่วประเทศ

ด้วยพระปรีชาสามารถในด้านต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลและเกียรติยศต่างๆ มากมาย ทั้งจากบุคคลและคณะบุคคลในประเทศและต่างประเทศ อันเนื่องมาจากพระราชกรณียกิจและพระราชอัธยาศัยในการแสวงหาความรู้ เป็นต้นว่า “รางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์” จากสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ทูลเกล้าฯ ถวายเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ.2549 จากการที่ได้ทรงอุทิศกำลังพระวรกายและทรงพระวิริยะอุตสาหะในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจมาตลอดพระชนมชีพ

“เหรียญรางวัลผู้นำโลกด้านทรัพย์สินทางปัญญา” (Global Leaders Award) จากองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization) เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2552 เพื่อเทิดพระเกียรติที่ทรงมีบทบาทและมีผลงานด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่โดดเด่น

พระองค์เป็นผู้นำโลกคนแรกที่องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญรางวัล และล่าสุดเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2555 สหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ(International Union of Soil Sciences-IUSS)นำโดยอดีตเลขาธิการสหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติทูลเกล้าฯ ถวาย“รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม” (The Humanitarian Soil Scientist) เป็นพระองค์แรกของโลก

นับตั้งแต่วันที่ ทรงมีพระปฐมบรมราชโองการว่า“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์แห่งมหาชนชาวสยาม” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงอุทิศพระวรกายประกอบพระราชกรณียกิจเพื่อประชาชนของพระองค์อย่างต่อเนื่อง ทรงบำเพ็ญพระองค์อยู่ในทศพิศราชธรรมหรือ ธรรม 10 ประการของพระราชาอย่างเคร่งครัด

หกสิบสองปีที่ผ่านมา ทรงครองแผ่นดินโดยธรรมอย่างแท้จริง และธรรมแห่งราชานี้เองที่คุ้มครองปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ให้มั่นคงแข็งแรง เป็นมิ่งขวัญและศุนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งชาติ

กำลังโหลดความคิดเห็น