คงต้องบอกว่าเป็นเรื่องปกติที่เมื่อปลายปีเดินทางมาถึง กิจกรรมอย่างหนึ่งซึ่งต่อให้ไม่มีคนไถ่ถาม แต่เราก็อยากจะใช้เวลาสักช่วงหนึ่ง รำลึกนึกถึงอะไรต่อมิอะไรที่ผ่านพ้นไปในขวบปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเศร้าหรือจะสุข ผมคิดว่าการได้ทบทวนรอยเท้าที่ผ่านพ้นของตนเอง อย่างน้อยที่สุดก็มีคุณค่าในแง่ที่จะทำให้เรารู้ว่าจะก้าวเดินต่อไปอย่างไรในวันข้างหน้า
ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่ต้องศึกษา ไม่ว่าประวัติศาสตร์ชีวิตส่วนตัว หรือแม้กระทั่งประวัติศาสตร์ของชาติบ้านเมืองหรือของโลก มันคือบทเรียนที่เก็บเกี่ยวศึกษาได้ คนที่ไม่สนใจประวัติศาสตร์ ย่อมมีแนวโน้มสูงกว่าคนอื่นในอันที่จะผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำอีก
เช่นเดียวกันครับ สำหรับคนที่มีภาพยนตร์เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต เช่นกับผมและคุณอีกหลายคน กิจกรรมอย่างหนึ่งซึ่งชอบที่จะทำอยู่ทุกๆ ปี ก็คือ การหวนระลึกนึกถึงหนังที่ตัวเองได้ดูมาตลอดหนึ่งปี และคัดเลือกหนังดีๆ “ในแบบของตัวเอง”
กล่าวสำหรับหนังไทย จะว่าไป ก็ไม่ต่างอะไรกับ “แผ่นเสียงตกร่อง” เพราะถึงแม้ว่าในขวบปีที่ผ่านพ้น จะมีผลงานลงโรงมากกว่า 50 เรื่อง แต่ก็พูดได้ว่า เกือบทั้งหมดล้วนแล้วแต่ทำให้เกิดความรู้สึกไม่น่าพึงพอใจเป็นส่วนมาก หนังไทยก็ยังเป็นหนังไทย วนๆ เวียนๆ อยู่แถวๆ ตลก ผี กะเทย ด้อยคุณภาพ
คำว่า “คุณภาพ” ในที่นี้ ไม่ได้มีความหมายในเชิงว่า ต้องมีสาระนะครับ เพราะหนังที่สนุกๆ หลายต่อหลายเรื่องก็ไม่จำเป็นต้องค้นหาสาระพระแสงด้ามสั้นอะไรกันให้ปวดหัว (อย่างเช่น หนังในตระกูล Jack Ass) หากแต่ “คุณภาพ” หมายถึง ผลลัพธ์ที่ควรจะเป็นของหนังแต่ละแนว อย่างเช่น หนังบางเรื่องบอกว่าเป็นหนังตลก แต่ดูแล้วจิตตก เพราะไม่เห็นว่ามันจะตลกอย่างที่อวดอ้าง อย่างนี้ถือว่าหนังล้มเหลว
ปัญหาอีกอย่างที่เห็นเด่นชัดของหนังไทยส่วนมาก และเป็นปัญหาซ้ำซาก กากแล้วกากอีก ก็หนีไม่พ้นเรื่องของบทหนัง ศิลปะแขนงนี้ ว่าอันที่จริงก็มีอายุไม่น้อยเลยนะครับสำหรับเมืองไทย เรารู้จักการทำหนังกันมานานกว่าครึ่งศตวรรษกันได้แล้วมั้ง แต่บทหนังของเรายังไปไม่ถึงไหนเลย และพอคิดอีกที ย้อนกลับไปยุคก่อนๆ สมัยท่านมุ้ยยังทำทองพูน โคกโพธิ์ ราษฎรเต็มขั้น ช่วงคุณยุทธนา มุกดาสนิท ทำผีเสื้อและดอกไม้ หรือยุคคุณเพิ่มพล เชยอรุณ กับเรื่องคำพิพากษา มาจนถึงคุณเชิด ทรงศรี ทำข้างหลังภาพ คนที่ทันได้ดูก็น่าจะรู้สึกแบบเดียวกันว่า บทหนังของพวกเขาแทบจะไม่เป็นปัญหาเลย แต่เพราะอะไร ยิ่งวันเวลารุดไป อะไรๆ ล้ำหน้า แต่ทว่าพัฒนาการของการเขียนบทหนัง กลับเหมือนถอยหลังลงคลองเข้าไปทุกที
มันอาจจะมีที่พอหวังได้บ้าง แต่อัตราส่วนเมื่อเทียบกับบทหนังห่วยๆ แล้ว ทิ้งกันชนิดไม่เห็นฝุ่น คือบทห่วยมีเยอะ แต่บทดีมีน้อย
หนังไทยยุคนี้ ให้สติปัญญากับคนดู น้อยกว่าดูถูกความคิดคนดู หลายๆ เรื่องคิดว่า มีตลกมาเป็นตัวละครก็พอแล้ว และพวกตลก นอกจากจะหน้าเดิมๆ ก็ยังเล่นแต่มุกเดิมๆ ซ้ำซาก ผมแปลกใจมากว่า คนพวกนี้คงสามารถสต๊าฟจุดฮาของตัวเองไว้ได้แน่ๆ จึงคิดว่า คนดูจะตลกกับอะไรซ้ำๆ เดิมๆ แบบนั้นไปทั้งปีทั้งชาติ
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น นั่นยังไม่เทียบเท่ากับความอ่อนด้อยในการสร้างความรู้สึกสมจริงให้กับเรื่องหรือตัวละคร นี่คือการดูถูกสติปัญญาของคนดูอย่างแท้จริง แน่นอนล่ะ ในความเป็นหนัง เราอาจจะอะลุ่มอล่วยให้ได้บ้างว่า มันไม่ต้อง “สมจริง” มากนักก็ได้ เพราะมันไม่ใช่ “เรื่องจริง” แต่ไอ้ประเภทที่ว่า คนญี่ปุ่นมาเมืองไทยสามสี่วัน พูดภาษาไทยได้คล่องปรื๋อ แบบนี้ มีอยู่สองอย่าง คือถ้าคนเขียนบท ไม่บ้าก็โง่ อย่างใดอย่างหนึ่ง ขอเถอะครับ ความคิดอันมักง่ายสไตล์นี้ ไปผุดไปเกิดที่ไหนก็ไปเถิด
คนทำหนังไทยส่วนมาก ยังคิดกันน้อยครับ เราใช้สมองกันยังไม่ถึงขี้เล็บของไอน์สไตน์เลยด้วยซ้ำ ความช่างคิด-ชอบคิด หรือความทะเยอะทะยานเพื่อสร้างผลงานออกมาให้ดี ไม่มีความสำคัญเท่ากับการทำให้ผ่านๆ พอขายได้ เพราะถึงอย่างไร “คนแม่-ก็ไปดูกันอยู่แล้ว มีตลกมีผีหน่อย เอาอยู่”
แต่คิดแบบนี้ “เอาไม่อยู่” และตกม้าขาหักมาก็มากแล้วล่ะครับ คนไทยยุคนี้ไม่ใช่เศรษฐีที่จะเอาเงินไปหว่านโปรยให้กับหนังซึ่งให้อารมณ์ไม่ต่างกันกับการนั่งดู “ก่อนบ่ายคลายเครียด” ฟรีๆ อยู่ที่บ้าน ยิ่งไปกว่านั้น คนไทยยังรู้ทันว่าคุณคนทำหนังจะมากันมุกไหน สังเกตได้จากหนังตลกของตลกชื่อดังหลายๆ คนสิครับ ปีนี้ งานของพวกเขาล้มคว่ำไม่เป็นท่า...นี่ผมพูดด้วยอิงข้อมูล ไม่ใช่จะมาทับถมถล่มซ้ำแต่ประการใด และถ้าจะทำความเข้าใจสถานการณ์นี้ ก็คงไม่มีอะไรชัดเจนไปกว่าว่า มันได้สะท้อนให้เห็นความเท่าทันของคนไทยต่อหนังไทยห่วยๆ นั่นเอง
ดังนั้น อย่าไปน้อยใจกันเลยคุณๆ ผู้กำกับทั้งหลายว่าคนไทยไม่ดูหนังไทย เพราะถ้าจะพูดให้ถูก ต้องบอกว่า พวกเขาไม่ดูหนังห่วยๆ ต่างหาก และกรุณา...อย่าไปเสียเวลากล่าวโทษคนไทยว่าไม่รักหนังไทยเลย ก็แหม คุณเอ๋ย...จะให้รักลงไปได้อย่างไร ในเมื่อหนังมันไม่ได้มีคุณค่าพอที่จะให้รัก
อย่างไรก็ตาม แม้จะเบื่อ แม้จะบ่น แม้จะเซ็งถึงเพียงใด กับหนังไทยในภาพกว้าง แต่เมื่อลดระดับสายตาลงมาโฟกัสดูทีละเรื่อง เราจะเห็นว่าหนังไทยไม่ได้เลวร้ายไปซะทั้งหมด ซึ่งโดยส่วนตัว สำหรับผม ในรอบหนึ่งศักราชที่กำลังจะผ่านไป แม้จะไม่มีหนังไทยที่พูดได้เต็มปากว่ายอดเยี่ยมชนิดที่อยากจะเก็บไว้ในใจไปแสนนาน แต่กระนั้น ก็มีหลายเรื่องที่ทำให้ผมรู้สึกอภิรมย์ตามสมควรกับการรับชม พูดภาษาบ้านๆ ก็คือ ดูแล้วไม่รู้สึกเสียดายตังค์
อันดับแรกๆ ที่ผมนึกถึง เป็นผลงานจากชายคาจีทีเอช ผมไม่ได้จะมาอวยหรืออะไร เพียงแต่ถ้าสังเกตให้ดี เราจะพบว่าหนังของจีทีเอชผ่านการทำการบ้านมาอย่างแน่นปึ้ก ไม่นับรวมพวกเรื่องการวางแผนการตลาดที่ทางค่ายคงคิดกันหัวฟู ผมคิดว่าบทหนังแต่ละเรื่องที่ถูกส่งออกมาจากค่ายนี้ เราคนดูสามารถ “วางใจได้” ในระดับหนึ่ง ปีนี้ จีทีเอชมีหนัง 3 เรื่อง (ไม่นับรวม “ทางแยกวัดใจ” ที่เป็นโปรเจคต์พิเศษ) และมีคุณภาพที่น่าพอใจ ไล่ตั้งแต่ Suck Seed ห่วยขั้นเทพ, ลัดดาแลนด์, และ วัยรุ่นพันล้าน
องค์ประกอบร่วมประการหนึ่งซึ่งสัมผัสได้จากงานทั้งสามเรื่องนี้ คือการผูกเรื่องราวให้เชื่อมร้อยเกี่ยวโยงกับความเป็นไปของยุคสมัย จีทีเอชและความรู้สึกผูกพันกับยุคสมัยมีให้เห็นมานานแล้วตั้งแต่ยุคแฟนฉัน
นั่นหมายความว่า ขณะที่วันเวลาใน Suck Seed เดินผ่านยุคสมัยแห่งความคลั่งไคล้ของหลายสิ่งหลายอย่าง ไล่ตั้งแต่เกมเตอร์ติส จนมาถึงยุคที่เพลงร็อกอินดี้เริ่มผลิบาน (อันมีป๊อด-โมเดิร์นด็อก เป็นหนึ่งหัวหอกคนสำคัญ) ลัดดาแลนด์ก็แล่นมาแตะบ่าสังคมยุคทุนนิยมสุดเดชที่ความสุข-ความสำเร็จในชีวิต วัดกันด้วยวัตถุเงินทองและบ้านหลังงาม ส่วนวัยรุ่นพันล้าน ก็เดินเคียงมากับยุคเฟื่องฟูของเกมออนไลน์อย่างแร็กนาร็อกอันลือลั่น
ในชั้นที่ลึกลงไป Suck Seed ยังแตะประเด็นเกี่ยวกับความใฝ่ฝันในคืนวันเก่าๆ สมัยที่เราๆ ยังเป็นวัยรุ่น เราเคยหมกมุ่นกับบางสิ่งบางอย่าง เอาจริงเอาจัง ไม่ว่าจะสำเร็จหรือไม่ก็ตาม แต่เราก็ลงแรงทำมันอย่างลุ่มหลง นี่เป็นความงดงามที่หนังวัยรุ่นเรื่องหนึ่งทำให้เรานึกถึง
ลัดดาแลนด์ อาจมีปัญหาที่ไม่ควรจะเกิดอยู่ที่โปสเตอร์ รวมไปจนถึงจุดโหว่รอยรั่วบางจุดในตัวหนัง แต่ประเด็นที่หนังพูด ก็พังทลายทำนบแห่งความสะเทือนใจของเราได้ กับเรื่องความเปราะบางและอ่อนไหวภายในครอบครัว โดยมีผีเป็นเพียงตัวประกอบที่ช่วยขับเน้นประเด็นของเรื่องให้คมชัดขึ้น
วัยรุ่นพันล้าน คงไม่ต้องบรรยายอะไรมาก นี่เป็นหนังที่ตั้งธงไว้แล้วว่าจะมาจุดประกายไฟฝันสร้างแรงบันดาลใจ ผมว่าหนังทำได้ดีระดับหนึ่ง แม้เดินออกมาจากโรงแล้ว พลังฮึกเหิมที่จะก่อร่างสร้างชีวิตจะไม่ได้เพิ่มขึ้นมากมายกว่าตอนก่อนดูเท่าไรนักก็ตาม
ข้ามมาฝั่งสหมงคลฟิล์ม ทั้งในฐานะผู้ออกเงินผลิตเองและเป็นตัวแทนจัดจำหน่าย ด้วยความเป็นเบอร์ใหญ่ ค่ายใบโพธิ์จึงมีหนังคลอดแทบจะตลอดทั้งปี แต่ที่ทำให้ผมรู้สึกว่า ไม่เสียดายเวลาในการดูมีอยู่ 4 เรื่อง ประกอบไปด้วย “หลุดสี่หลุด” หนังสั้นๆ 4 เรื่องซึ่งทำออกมาได้ซีเรียสจริงจังชวนจิตหลุดสมชื่อหนัง, “ปัญญา เรณู” แฟนฉันเวอร์ชั่นเว้าอีสานที่กลายเป็นปรากฏการณ์โจษจันถึงความดีจนต้องมีภาค 2 ตามมาในปีหน้า, “คนโขน” หนังที่ตีแผ่ความเป็นปุถุชนคนเดินดินได้เข้มข้นเอาจริงเอาจัง และ “อุโมงค์ผาเมือง” ที่ทำให้คนดูต้องขบคิดกับเรื่อง “ใดจริง-ใดลวง” (หนังทั้งหมด ผมเคยเขียนถึงแล้ว สามารถตามอ่านย้อนหลังได้)
ในฟากของไฟว์สตาร์ มีเพียง “ฝนตกขึ้นฟ้า” เรื่องเดียวที่ผมคิดว่าดีที่สุดของ พ.ศ.นี้ เป็นเอก รัตนเรือง กลับมาทำหนังที่ผมดูรู้เรื่องอีกครั้ง หลังจากงงๆ กับหนังของเขามาระยะหนึ่ง หนังสร้างมาจากหนังสือของวินทร์ เลียววาริณ เรื่องนี้ มีประเด็นที่คมคายชวนให้คิดอยู่ 2-3 อย่าง แต่ที่ชัดเจนมาก ก็เห็นจะเป็นเรื่องของการลุกขึ้นมาล่าล้างนักการเมืองเลวๆ โดยกลุ่มบุคคลที่ตั้งตนเป็นศาลเตี้ย
น่าสังเกตนะครับว่า ช่วงหลังๆ เราได้ดูหนังที่เล่นกับประเด็นทำนองนี้ค่อนข้างถี่ จะว่ามันเป็นแรงปะทุของความอัดอั้นตันใจที่เก็บกลั้นไว้ไม่อยู่ เหมือนจะบอกว่า กูจะไม่อดทนกับพวกนักการเมืองสามานย์อีกต่อไปแล้ว เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นอินทรีแดง (เวอร์ชั่นไทยประกันชีวิต เอ๊ย เวอร์ชั่นวิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง) มาจนถึงมือปืนดาวพระเสาร์และฝนตกขึ้นฟ้า จึงลุกขึ้นมาเข่นฆ่านักการเมืองกันเป็นว่าเล่น
และนั่นก็เป็นประเด็นร่วมที่เราจะมองเห็นได้ในหนังเรื่องที่ 9 ซึ่งผมยกให้เป็นอีกหนึ่งหนังที่ดูสนุกของปีนี้ อย่าง “หมาแก่อันตราย” จากค่ายพระนครฟิลม์
หมาแก่อันตราย เป็นผลงานเรื่องล่าสุดของยุทธเลิศ สิปปภาค ผู้กำกับที่ออกปาก (จัดๆ) ว่า “นักวิจารณ์ภาพยนตร์ได้ตายไปจากโลกแล้ว” ผมยังจำได้ ผู้กำกับคนนี้เคยเหน็บผมมาแล้วในการให้สัมภาษณ์กับทีมงานช่องซูเปอร์บันเทิง นั่นยังไม่นับรวมจดหมายอีเมล์บางฉบับที่ “สับๆๆ” ผมมาพอหอมปากหอมคอ แต่ก็นี่แหละครับ คนทำงาน ผมเข้าใจ การเป็นผู้กำกับมันต้องรับผิดชอบเยอะ แบกรับความกดดันมาก มันก็อาจจะมีหลุดๆ รุ่ยๆ ทางอารมณ์กันบ้าง มีหยาบๆ ฟายๆ ประทานโทษ หยาบๆ คายๆ กันบ้าง เป็นเรื่องธรรมดา ป่วยการที่จะมานั่งถือสาหาความ
สิ่งที่ผมเสียดาย ก็คือช่วงเวลาที่หนังเข้าฉาย มันคือช่วงแรกๆ ที่คนเมืองเริ่มตื่นตระหนกกับอุทกภัย ซึ่งจะว่าไป มันระส่ำระสายกว่าตอนที่น้ำท่วมจริงๆ ด้วยซ้ำนะครับ เพราะพอน้ำท่วมแล้ว เรายังรู้ว่าจะยังไง แต่ประเภทที่แบบว่ากำลังลุ้น “ท่วม-ไม่ท่วม?” มันน่ากระวนกระวายใจยิ่งกว่า จะไปไหนก็ละล้าละลัง ยิ่งไม่ต้องพูดถึงการออกจากบ้านไปดูหนัง ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งหลังๆ ที่ผู้คนนึกถึง ผมคิดว่าเพราะเหตุนี้ด้วยส่วนหนึ่ง จึงทำให้หมาแก่(ที่โคตร)อันตราย กลายสภาพเป็น “หมาแก่อันตรธาน” หายไปจากโรงหนังแบบเงียบเชียบ ด้วยรายรับที่น่าปวดใจ
อย่างไรก็ดี นี่เป็นหนังที่ผมอยากจะใช้คำว่า คือการกลับมาท็อปฟอร์มอีกครั้งหนึ่งของต้อม-ยุทธเลิศ ทุกสิ่งทุกอย่างในหนังดูมีความลงตัวสมกับเป็นหนังที่ดูเพื่อความบันเทิง อารมณ์โดยรวมเหมือนตอนที่ดู “มือปืน โลก/พระ/จัน” เมื่อหลายปีก่อน ชั้นเชิงในอารมณ์ขันแบบตลกร้ายที่เป็นลายเซ็นแบบต้อม-ยุทธเลิศ ปรากฏเด่นชัดในงานชิ้นนี้ เนื้อเรื่องก็ดูมีประเด็นที่แข็งแรงรองรับอยู่ ผมชอบประเด็นเรื่องของคนที่ไม่มีโอกาสหรือพื้นที่ในการ “อธิบายตัวเอง” มากที่สุด มันเป็นประเด็นร่วมอย่างหนึ่งในสังคมที่มักจะพิพากษาใครอื่นโดยปราศจากการตรวจสอบความจริงอย่างรอบด้าน ส่วนคนที่รับบทผู้ชายที่ไร้โอกาสอธิบายตัวเองอย่างป๋าเทพ โพธิ์งาม ก็แสดงได้เก๋าดีเหลือเกิน
ในเชิงเนื้อหา ผมรู้สึกว่า ความเข้าอกเข้าใจและการนำเสนอภาพความอุบาทว์ของการเมือง ถูกนำเสนอออกมาได้ลึกซึ้งกว่าตอนที่ต้อม-ยุทธเลิศ ทำมือปืนดาวพระเสาร์ เพราะเรื่องนั้น ดูเหมือนจะหยุดตัวเองไว้แค่เพียงความคับแค้นโกรธขึ้งที่ตึงเครียดและระเบิดระบายออกมาผ่านการใช้ความรุนแรง แต่หมาแก่อันตรายพาเราเข้าไปสำรวจตรวจดูถึงความเลวร้ายแบบหนึ่งในวงจรการเมืองที่นักเลือกตั้งล้วนงอกมาจากการเป็นนักธุรกิจหรือกลุ่มอิทธิพลท้องถิ่น ซึ่งถึงที่สุด คนพวกนี้ก็ใช้วิธีการสกปรกย้ายโยกตัวเองเข้าสู่เส้นทางการเมือง ก่อนจะติดพกวิธีการโสโครกเข้ามาโขกการเมืองต่อ
ธุรกิจกับการเมือง แยกกันไม่ออก การเมืองปลวกๆ ทุกวันนี้ก็ล้วนแล้วแต่มีขุมข่ายทางธุรกิจชักโยงอยู่เบื้องหลังแทบทั้งสิ้น...
ได้ยินได้ฟังมาว่า งานเรื่องหน้า ต้อม-ยุทธเลิศ จะพาหนังไปแตะประเด็นความขัดแย้งบนพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งก็น่าสนใจว่า หลังจากพยายาม “จับต้องการเมือง” มาระยะหนึ่ง ทั้งจากมือปืนดาวพระเสาร์และหมาแก่อันตราย ผู้กำกับปากจัดคนนี้จะมีมุมคิดคมคายซึ่งสามารถส่งแรงสั่นสะเทือนต่อสังคมได้มากน้อยแค่ไหนในผลงานชิ้นต่อๆ ไป
หนังไทยในปี 2554 ของผม ก็จบเพียงเท่านี้แหละครับ 9 เรื่อง 9 รส ซึ่งใน 9 เรื่องนี้ ย่อมจะมีบ้างล่ะที่ก้าวขึ้นไปคว้ารางวัลสาขาต่างๆ ในฤดูกาลแจกรางวัลช่วงปีหน้า แต่ไม่ว่าจะอย่างไร คำถามก็คือ แล้วหนังไทยในดวงใจในปีที่ผ่านมาของคุณล่ะ มีเรื่องอะไรบ้าง หรือว่าไม่มีเลย??