xs
xsm
sm
md
lg

“ปู” ลิ้นจุกปาก !เล็งปรับ ครม.ประเคนเก้าอี้ มท.2 ให้ “จตุพร”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี(ภาพจากแฟ้ม)
นายกรัฐมนตรีเปิดโครงการพักหนี้ฯ ประชานิยมอ้างยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนห่วงปัญหา “น้ำท่วม-น้ำแล้ง” แยกเยียวยาสองส่วน ยันเดินหน้าสร้างเขื่อนแม่วงก์หลังชาวบ้านคัดค้าน โยนพื้นที่เจรจาชาวบ้านหาทางออกร่วมกัน พร้อมเดินหนีสื่อหลังถูกซักเตรียมปรับ ครม.ให้ “จตุพร” นั่ง รมช.มหาดไทย

วันนี้ (2 พ.ค.) ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดโครงการ “โครงการพักหนี้ฯ ตามนโยบายรัฐบาล” โดยมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงการคลัง ผู้แทนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ผู้แทนธนาคารออมสิน ผู้แทนธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย
ผู้แทนธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และประชาชนเข้าร่วมงาน

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวรายงานว่า “โครงการพักหนี้ตามนโยบายรัฐบาล” เป็นโครงการต่อเนื่องมาจากโครงการพักหนี้สำหรับลูกหนี้ที่มีปัญหาการชำระหนี้หรือลูกหนี้ NPLs ที่ได้ดำเนินการมาแล้ว เพื่อให้ครอบคลุมตามเจตนารมณ์ของนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา ซึ่งการดำเนินโครงการพักหนี้ ไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชนที่ปลายเหตุ แต่สามารถแก้ปัญหาที่ต้นเหตุได้ เนื่องจากปัญหาหนี้สินของประชาชนส่วนใหญ่มีพื้นฐานจากการที่มีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย การลดภาระหนี้เพื่อให้นำไปเพิ่มพูนต่อยอดการประกอบอาชีพ และเพิ่มคุณภาพชีวิตในครั้งนี้ จะช่วยบรรเทาปัญหาดังกล่าวไปได้อย่างยั่งยืน

รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวต่อว่า การจัดงานดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิด “โครงการพักหนี้เกษตรกรรายย่อยและประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่มีหนี้คงค้างไม่เกิน 500,000 บาท และเป็นหนี้ที่มีสถานะปกติ ตามนโยบายของรัฐบาล” มีสิทธิเข้าร่วมโครงการ สามารถลดภาระหนี้ที่จะเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2555 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2558 โดยลูกหนี้ดังกล่าวสามารถสมัครใจเลือกพักเงินต้นและลดอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อที่มีอยู่เดิมในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี หรือลดอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อที่มีอยู่เดิมในอัตราร้อยละ 3 ต่อปีโดยไม่พักเงินต้น เป็นระยะเวลา 3 ปี ซึ่งวันนี้เป็นวันแรกที่เปิดให้ลูกหนี้มาลงทะเบียนและตรวจสอบคุณสมบัติจนถึงวันที่ 20 สิงหาคม 2555 ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะติดตามดูแลให้เกิดการนำเงินที่ลูกหนี้ประหยัดในช่วง 3 ปี ไปใช้ในกิจกรรมที่เกิดประโยชน์แก่ครัวเรือน ชุมชน และระบบเศรษฐกิจโดยรวม โดยจะวางกลไกในการกำกับดูแลโครงการอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพต่อไป

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า จากความสำเร็จในการดำเนินโครงการพักหนี้ลูกหนี้ที่มีปัญหาการชำระหนี้ (NPL) ที่รัฐบาลได้ดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา และคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบขยายผลโครงการดังกล่าว ด้วยการพักหนี้ที่มีสถานะปกติสำหรับเกษตรรายย่อยและประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่มีหนี้ค้างไม่เกิน 500,000 บาท พร้อมเพิ่มรูปแบบการช่วยเหลือ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนที่เป็นลูกหนี้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ทั้งนี้ การพักหนี้ในครั้งนี้ เป็นการขยายกลุ่มผู้ที่ได้รับประโยชน์ครอบคลุมไปยังเกษตรกรรายย่อยและประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่มีหนี้สินสถานะปกติจำนวนกว่า 3,700,000 ราย

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า รัฐบาลมั่นใจว่าโครงการดังกล่าวจะมีส่วนสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น ให้ประชาชนมีโอกาสในการวางแผนการบริหารจัดการภาระหนี้ให้สอดคล้องกับรายได้และรายจ่ายของครัวเรือน เป็นการบรรเทาภาระหนี้สินที่มีอยู่เพื่อส่งผลให้การประกอบอาชีพและการดำรงชีวิตของผู้เข้าร่วมโครงการมีความคล่องตัวมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และก่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมให้มั่นคงและขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อไป สำหรับเกษตรกรและประชาชนที่เข้าร่วมโครงการ นอกจากเป็นการบรรเทาภาระการชำระหนี้แล้ว ยังสามารถขอกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐบาล ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้แต่ละราย

นายกรัฐมนตรีฝากให้เกษตรกรและประชาชนที่เข้าร่วมโครงการใช้โอกาสที่ได้รับจากการพักชำระหนี้ให้คุ้มค่า ลดภาระหนี้อื่นๆ ที่ไม่จำเป็น วางแผนและบริหารจัดการการเงินอย่างเป็นระบบ พัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุด นำเงินไปลงทุนในการประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้ต่อไป ส่งเสริมการจัดทำบัญชีครัวเรือน และยึดหลักตามแนวพระราชดำริ เศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และขอให้มีความรับผิดชอบในการชำระหนี้อย่างตรงต่อเวลา

น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กนอช.) ครั้งที่ 2/2555 โดยมี รองนายกรัฐมนตรี (นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง) นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายวีรพงศ์ รามางกูร นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมด้วย ซึ่งผลการประชุมสรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวก่อนการประชุมว่า ระหว่างเดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนและสาธารณรัฐเกาหลีใต้ ได้รับทราบข้อมูลจากทั้ง 2 ประเทศเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม โดยเฉพาะแผนการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบแบบรวมศูนย์ หรือ single command ซึ่งจะมีการนำมาปรับใช้กับประเทศไทย นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายประเทศที่เสนอให้การช่วยเหลือประเทศไทยในการแก้ไขปัญหาอุทกภัย โดยเฉพาะสาธารณรัฐประชาชนจีน จะจัดส่งทีมผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำมาช่วยแก้ไข อีกทั้งจะมีความร่วมมือในรูปแบบการลงนามบันทึกข้อตกลง หรือ MOU ในการศึกษาแผนการป้องกันปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ราชอาณาจักรไทยและกระทรวงพาณิชย์ สาธารณรัฐประชาชนจีนโดยไม่มีข้อผูกมัด เป็นการช่วยเหลือแบบรัฐต่อรัฐ

จากนั้น ที่ประชุมพิจารณาได้มีการพิจารณาการปรับแผนการดำเนินโครงการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยระยะเร่งด่วน ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติกรอบงบประมาณการดำเนินการแก้ไขปัญหาอุทกภัยเร่งด่วนปี 2555 ให้กับกระทรวงคมนาคมไปแล้ว จำนวน 246 โครงการ วงเงินงบประมาณ 24,828,820,500 บาท เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2555 และเพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพยั่งยืนในการป้องกันอุทกภัยที่จะเกิดในพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญและพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมบริเวณพื้นที่ปลายน้ำ ที่ประชุมจึงเห็นชอบให้มีการปรับจำนวนโครงการจาก 246 โครงการ เป็นจำนวน 310 โครงการ ในวงเงินงบประมาณรวม 24,112.74 ล้านบาท ตามที่กระทรวงคมนาคม เสนอ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงโครงการดังกล่าว ไม่เกินวงเงินที่คณะรัฐมนตรีได้มีการอนุมัติไว้แล้ว โดยจะนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติอีกครั้ง

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมเห็นชอบโครงการภายใต้แผนงานที่ 1 (การฟื้นฟู การอนุรักษ์ป่าและดิน) ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอ ในพื้นที่ 8 ลุ่มน้ำหลัก ประกอบด้วย ปิง วัง ยม น่าน เจ้าพระยา สะแกกรัง ป่าสัก และท่าจีน โดยเฉพาะพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธาร ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิด กักเก็บ และชะลอน้ำ รวมถึงพื้นที่ป่าไม้ในบริเวณที่ลาดเชิงเขา ซึ่งเป็นที่ซับน้ำ โดยการดำเนินการตามแผนงานโครงการดังกล่าว จะมีส่วนช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยได้ โดยมี 5 กิจกรรมหลักที่จะดำเนินการคือ การเพาะชำกล้าไม้ การทำฝาย การปลูกหญ้าแฝก การสนับสนุนชุมชนเพิ่มพื้นที่ป่า (นาแลกป่า) และการปลูกฟื้นฟูป่า ที่เน้นการปลูกพืชเศรษฐกิจควบคู่กับพืชอนุรักษ์ แต่ทั้งนี้จะต้องสร้างความรู้ความเข้าใจกับชาวบ้านหรือชุมชนด้วยว่า การปลูกป่าสามารถทำให้คนอาศัยและอยู่กับป่าได้อย่างถาวร

นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบแนวทางการดำเนินการภายใต้แผนเงินกู้ 350,000 ล้านบาท ตามที่คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุกกภัย (กบอ.) เสนอ เพื่อนำไปใช้ดังนี้ 1. ใช้กับโครงการหลัก (Main Stream) เท่านั้น 2. ให้ กบอ. จัดทำรายละเอียดเบื้องต้นและแผนการใช้เงินของโครงการในทุกๆ แผนงาน โดยแยกออกเป็น 2 พื้นที่ คือ พื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา 8 ลุ่มน้ำ และพื้นที่ที่เหลืออีก 17 ลุ่มน้ำ ในวงเงิน 305,888 ล้านบาท ซึ่งจะประกอบด้วยการศึกษาสำรวจ ออกแบบและก่อสร้าง 3. ประกาศเชิญชวนให้ผู้สนใจทั้งในและต่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญและสนใจจัดทำแผนงานโครงการในการดำเนินการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทย ตามรายละเอียดที่รัฐบาลจะได้กำหนดไว้ เพื่อพิจารณาคัดเลือกผู้สนใจที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพดีที่สุดมาดำเนินการ ซึ่งผู้สนใจอาจจะดำเนินการทั้งหมดหรือแยกเฉพาะโครงการที่สนใจก็ได้ 4. เมื่อสามารถคัดเลือกผู้รับจ้างในแต่ละแผนงาน/โครงการได้แล้ว จะพิจารณาจัดทำสัญญาจ้าง เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและสามารถใช้จ่ายเงินให้ได้ประโยชน์สูงสุด

นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังการเป็นประธานประชุมนโยบายและอุทกภัยแห่งชาติ หรือ กนอช.ว่า ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งรัฐบาลมีความห่วงใยต่างกัน ซึ่งกรณีปัญหาน้ำท่วมจะเกิดความเสียหายหนักอย่างที่เห็นกันมาแล้ว ส่วนปัญหาน้ำแล้งจะเกิดกับกลุ่มของเกษตรกร โดยวันนี้การบรรเทาเยียวยาแยกออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งคือเรื่องการดูแลภัยแล้ง ซึ่งทางกระทรวงมหาดไทย ได้มีการแจกจ่ายน้ำดื่มเพื่ออุปโภคบริโภคในพื้นที่ภัยแล้งอย่างต่อเนื่องอยู่แล้วและวันนี้ที่ได้คุยกันคือการเอาน้ำมาช่วยภาคการเกษตร โดยมาตรการแรกได้มีการปรับระดับน้ำในเขื่อน ซึ่งได้ออกคำสั่งไปนานแล้ว และให้มองถึงภัยน้ำท่วมและภัยน้ำแล้วควบคู่กัน ส่วนมาตรการที่สองเป็นเรื่องของกรมฝนหลวงให้ลงมาช่วยในพื้นที่ที่มีปัญหาภัยแล้งมาก ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดูแลอยู่ ทั้งนี้ได้มีการสั่งการเพิ่มเติมอีกในส่วนของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้ไปดูการนำแหล่งน้ำส่วนอื่นๆ มาส่งน้ำช่วยภาคการเกษตร

ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลยังยืนยันที่จะเดินหน้าโครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์ต่อไปอีกหรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ต้องขอให้ทางพื้นที่ไปพูดคุยทำความเข้าใจ ซึ่งทุกอย่างมีความจำเป็นทั้งนั้นและมีข้อดีข้อเสีย แต่สิ่งสำคัญต้องมีการพูดคุยทำความเข้าใจและหาทางออกร่วมกัน โดยได้ย้ำพื้นที่ให้ทำการชี้แจงและทำความเข้าใจกับประชาชนแล้ว

ผู้สื่อข่าวพยายามถามถึงกระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรี ที่มีข่าวจะให้นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทยเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายกรัฐมนตรีไม่ตอบ พร้อมกับเดินแหวกวงสื่อขึ้นห้องทำงาน ตึกไทยคู่ฟ้าทันที

ในช่วงเย็น Dr.Taleb Rifai เลขาธิการองค์การการท่องเที่ยวโลก เข้าเยี่ยมคารวะนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในโอกาสที่เดินทางมาประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมร่วมคณะกรรมาธิการภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกและภูมิภาคเอเชียใต้ ครั้งที่ 24 ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับเลขาธิการองค์การการท่องเที่ยวโลกในโอกาสที่เดินทางมาประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมร่วมคณะกรรมาธิการภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกและภูมิภาคเอเชียใต้ ครั้งที่ 24 ณ จังหวัดเชียงใหม่

เลขาธิการองค์การการท่องเที่ยวโลก ในฐานะตัวแทนนักท่องเที่ยวทั่วโลก กล่าวย้ำถึงความสำคัญของการท่องเที่ยวว่าเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญ และเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ การสร้างงาน และการพัฒนา พร้อมกล่าวชื่มนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้นำประเทศที่ให้ความสำคัญและให้การสนับสนุนการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด

โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอบคุณองค์การการท่องเที่ยวโลก พร้อมย้ำว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญของไทย และสร้างรายได้จำนวนมากให้กับประเทศ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังกล่าวอีกว่ารัฐบาลได้ประกาศให้ปี 2554-2555 เป็นปี “มหัศจรรย์ไทยแลนด์” (Miracle Thailand Year) และจะพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมทั้งมาตรการในการรักษาความปลอดภัยทั้งชีวิต และทรัพย์สินของนักท่องเที่ยว ให้ได้มาตรฐานเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว

ในโอกาสนี้ เลขาธิการองค์การการท่องเที่ยวโลกได้มอบจดหมายเปิดผนึก ซึ่งได้จัดทำโดยความร่วมมือขององค์การการท่องเที่ยวโลก (UNWTO) ร่วมกับสมาคมการเดินทางและการท่องเที่ยวโลก ให้แก่นายกรัฐมนตรี เพื่อย้ำที่ความสำคัญของการท่องเที่ยว โดยจดหมายเปิดผนึกดังกล่าวได้มอบให้กับผู้นำประเทศต่างๆ มาแล้ว 26 ประเทศ เพื่อแสดงถึงความสำคัญของการท่องเที่ยวต่อการขยายตัวเศรษฐกิจของประเทศและการพัฒนา


กำลังโหลดความคิดเห็น