วงเสวนาไทย กับ ไอซีซี ยกคดีสลายแดง ชี้ช่องฟ้องประกาศรับเขตอำนาจศาล ด้าน นักวิชาการ มธ.ระบุ ไม่ใช่เรื่องง่าย ติดเงื่อนไขเพียบ ด้าน หมอเหวง เผย ล่ารายชื่อ ส.ส.พท.เสนอ นายกฯ ออกมติ ครม.เห็นพ้อง “พนัส” อ้างเคสฮอนดูรัส เทียบคดีแดง เชื่ออัยการเปิดคดีได้
วันนี้ (1 พ.ค.) ที่ห้อง 214 อาคารรัฐสภา 2 มีการจัดสัมนาเชิงวิชาการ เรื่อง ประเทศไทยกับศาลอาญาระหว่างประเทศ จัดโดยคณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษา เรื่อง บทบาทและอำนาจหน้าที่ของศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ในส่วนของคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นประธาน กมธ.ทั้งนี้ ได้เชิญนักวิชาการมาร่วมพูดคุย อาทิ นายพนัส ทัศนียานนท์ นักวิชาการอิสระ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รศ.สุดสงวน สุธีสร อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นางวารุณี ผอ.กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ และ นายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย ทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการ ทั้งนี้ บรรยากาศมีกลุ่มคนเสื้อแดง จำนวนกว่า 100 คน เข้าร่วมรับฟังการประชุมด้วย
นายสุนัย กล่าวว่า เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา นพ.เหวง ได้ล่ารายชื่อ ส.ส.พรรคเพื่อไทย จำนวน 25 รายชื่อ เพื่อยื่นต่อนายกรัฐมนตรี ได้พิจารณายอมรับอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ ในส่วนที่เกี่ยวกับอาชญากรรมสังหารประชาชนกลางกรุงเทพฯ เมื่อเดือน เม.ย.-พ.ค.2553 โดยให้เสนอต่อ รมว.ต่างประเทศ หรือ รมว.ยุติธรรม เพื่อส่งมอบคำประกาศให้แก่นายทะเบียนของศาลอาญาระหว่างประเทศ เพื่อให้ศาลอาญาระหว่างประเทศ จะได้มีเขตอำนาจศาลในการดำเนินการพิจารณาตามอำนาจที่ตราไว้ในธรรมนูญกรุงโรม ที่ประเทศไทยได้รับรองไว้แล้ว(แต่ยังไม่ได้ให้สัตยาบันรับรอง) กับบรรดาผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติดังกล่าว ถือเป็นการเยียวยาทางจิตใจให้กับผู้ที่เสียชีวิต โดยจะต้องให้ความเป็นธรรม และไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์การฆ่าประชาชนอีกในอนาคต
นายสุนัย กล่าวว่า ทางคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ ซึ่งมี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทย จะเดินทางไปศาลอาญาระหว่างประเทศ ในเดือนมิถุนายน 2555 เพื่อปรึกษาหารือ รวมทั้งจะเชิญมาในงานสัมมนาของ กมธ.โดยให้อัยการ ศาล ทหาร ตำรวจ เข้ามาร่วมรับฟัง และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทั้งนี้ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ก็พร้อมให้การสนับสนุน เพื่อให้ระบบของศาลยุติธรรมเข้าสู่ความเป็นระบบสากลมากยิ่งขึ้น
นายปิยะบุตร กล่าวว่า หากประเทศไทยจะยอมให้มีการลงสัตยาบันต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ ตั้งแต่ในวันนี้ เพื่อให้พิจารณาดำเนินคดีการสลายการชุมนุม เดือน เม.ย.-พ.ค.2553 ก็จะไม่ได้รับการพิจารณา เนื่องจากมีผลบังคับนับตั้งแต่วันแรกที่ลงสัตยาบันนับออกไปอีก 60 วัน เพราะการดำเนินคดีจะไม่สามารถย้อนหลังได้ แต่ก็ยังมีช่องทางตามบทที่ 12 วรรค 3 ธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ ที่กำหนดการประกาศรับเขตอำนาจศาล ซึ่งจะมีผลต่อเหตุการณ์ หรือคดีที่ต้องการให้นำมาพิจารณาเป็นพิเศษเฉพาะกรณี เช่น ที่ประเทศยูกันดา และ ไอเวอรีโคสต์ ที่ได้ประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลให้มีผลย้อนหลังดำเนินคดีที่ต้องการได้ โดย รมว.ต่างประเทศ สามารถลงนามในสัตยาบันได้ทันที โดยไม่ต้องผ่านช่องทางรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 อย่างไรก็ตาม อย่าเพิ่งดีใจ เพราะยังมีเงื่อนไขอื่นๆเข้ามาประกอบ เช่น เข้าข่าย 4 ฐานความผิดร้ายแรง หรือไม่ ได้แก่ อาชญากรรมการทำลายล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ มนุษยชาติ สงคราม การรุกราน นอกจากนี้ ศาลอาญระหว่างประเทศต้องคำนึงถึงกระบวนการยุติธรรมภายในประเทศได้เสร็จสิ้นจนไม่สามารถดำเนินคดีต่อได้ รวมถึงไม่มีความเป็นกลาง ไม่อิสระ และล่าช้า
นอกจากนี้ ถ้าหากมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ถือว่าคดีนั้นมีการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดแล้ว ดังนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะนำคดีสลายการชุมนุมขึ้นสู่ศาลอาญาระหว่างประเทศ ไม่ใช่รับเรื่องแล้วจะพิจารณาคดีเลย จะต้องมีการไต่สวน เพราะจากสถิติที่ผ่านมาในช่วง 10 ปี มีคดีเข้าสู่ศาลอาญาระหว่างประเทศ 3,000 คดี มีเพียง 15 คดีที่เข้าสู่การพิจารณาของศาล และแยกเป็น 7 คดี ยังอยู่ในระหว่างที่อัยการไต่สวน และที่เหลือ 8 คดี ยังไม่เป็นคดีอย่างเป็นทางการ
นายพนัส กล่าวว่า ประเทศไทยลงนามเป็นสมาชิกตั้งแต่ปี 2543 จนถึงปัจจุบันประเทศไทยก็ยังไม่ลงสัตยาบัน เพราะยังมีประเด็นถกเถียง มาตรา 8 ของรัฐธรรมนูญที่ยังต้องถกเถียงพอสมควร ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 12 เพราะหลักสำคัญสุดของธรรมนูญกรุงโรม ระบุชัดเจนในหลักการป้องกันไม่ให้ผู้กระทำผิดลอยนวลเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นใคร สถานภาพใด ไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่เมื่อทำผิดก็มีสถานะเท่าเทียมกัน จะอ้างเอกสิทธิ์คุ้มกันจากกฎหมายภายใน หรือต่างประเทศ เช่น ส.ส. ส.ว.ก็อ้างไม่ได้ “ซึ่งไม่ใช่แค่ศาลเสริม แต่เป็นซูเปอร์คอร์ตเลย” ส่วนที่มองว่าการประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลไม่ต้องทำตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 คงจะเป็นข้อถกเถียงกันแบบหัวชนฝา เช่นเดียวกับกรณีการถกเถียงการทำ MOU กับประเทศกัมพูชา ซึ่งหากจะทำจริง คงต้องมีการทบทวน และพิจารณาอย่างถ่องแท้ว่าจะสามารถทำได้แค่ไหน
นอกจากนี้ การนำคดีขึ้นสู่ศาลอาญาระหว่างประเทศ ยังมีเงื่อนไขเกี่ยวกับการพิจารณา ซึ่งคดีโดยทั่วไปการสั่งฟ้องเป็นอำนาจของอัยการ แต่กรณีที่ขึ้นสู่ศาลอาญาระหว่างประเทศ อัยการไม่มีอำนาจในการสั่งฟ้องคดี เพราะการสั่งฟ้องจะต้องได้รับความเห็นชอบจากศาลอาญาระหว่างประเทศด้วย โดยในการพิจารณาในแต่ละขั้นตอนมีผลไม่ผูกพันกันในแต่ละขั้นตอน และยังมีความยาก เพราะจะต้องมีการพิสูจน์ข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายที่จะรับคดีไว้พิจารณาหรือไม่ ต้องดูว่าเป็นการกระทำผิดที่ร้ายแรงเพียงพอหรือไม่ ศาลได้ทำหน้าที่ดีหรือไม่ และถ้าเกิดรัฐบาลมีการนิรโทษกรรม กลับกลายแสดงว่า รัฐก็ไม่เต็มใจที่จะยอมรับเขตอำนาจศาล โดยไม่ต้องลงสัตยาบัน ก็มีข้อดีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 25(3) ทำให้อัยการสามารถเปิดคดีได้ เช่น กรณีศึกษาของประเทศฮอนดูรัส ที่มีการรัฐประหาร และประกาศภาวะฉุกเฉิน ซึ่งมีผู้ฝ่าฝืนและถูกจับเป็นจำนวนหลายพัน กระทั่งมีผู้เสียชีวิต 20 คน โดยเป็นการเจตนาฆ่า 8 คน และอีก 12 คน เป็นการกระทำเกินกว่าเหตุ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศไทย ถือว่าเรารุนแรงกว่า แต่ที่ฮอนดูรัส เป็นภาคี เราไม่ใช่ แต่หากเราประกาศยอมรับเขตอำนาจศาล อัยการก็สามารถอ้างเปิดคดีได้เลย