ผ่าประเด็นร้อน
“28 เมษายน 2555” ที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบ 8 ปี “เหตุการณ์กรือเซะ” ที่เจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายความมั่นคง “วิสามัญฆาตกรรม” ผู้ก่อความไม่สงบกว่า 30 ราย รวมไปถึงอีกหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นพร้อมกันในวันนั้น
กลายเป็น “บาดแผลฉกรรจ์” ของความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ว่าจะเปลี่ยนรัฐบาล หรือผู้รับผิดชอบหน้าไหน ก็ยังจนปัญญาหมดหนทางที่จะนำสันติภาพคืนมาสู่ดินแดนด้ามขวานทองได้
เพราะแม้แต่สาเหตุที่ทำให้ปัญหาเรื้อรังฝังรากลึกมาจนทุกวันนี้ อาจจะด้วยความเชื่อที่ถูกบิดเบือนหลักศาสนา หรือผลประโยชน์มหาศาลในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นของเถื่อน ยาเสพติด และทรัพยากรที่ยังอุดมสมบูรณ์ ก็ยังไม่มีผู้ใดสามารถชี้ชัดฟันธงได้จริงๆ
ถือเป็นความล้มเหลวของการทำงานที่ “สวนทาง” กับตัวเลขงบประมาณจำนวนมหาศาลที่หลายรัฐบาลอนุมัติให้ “ฝ่ายความมั่นคง” ได้ใช้ถลุงอยู่ในพื้นที่มากว่า 8 ปีแล้ว เพราะล่าสุดก็ยังมีเหตุการณ์ร้ายรายวัน และดูเหมือนจะทวีความรุนแรงเกิดขึ้นกับเจ้าหน้าที่ และประชาชนผู้บริสุทธิ์
และปี 2555 ในวันที่รัฐนาวากุมบังเหียนโดย “พรรคเพื่อไทย” มีนายกรัฐมนตรีชื่อ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ก็ดูว่าจะให้น้ำหนักสำหรับความ “เปลวไฟ” ที่คุกรุ่นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น ดูได้จากการโยนงานให้ฝ่ายความมั่นคงดูแลรับผิดชอบแบบตามมีตามเกิด
ซ้ำร้ายยังมีความน่าเป็นห่วงมากขึ้น เมื่อ “องค์การการประชุมมุสลิมโลก (โอไอซี)” ที่มีกำหนดจัดประชุมในประเทศไทยในช่วงปลายเดือน พ.ค.นี้ แต่ก่อนหน้านั้น “เลขาธิการโอไอซี” แจ้งความประสงค์ที่จะลงพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อสรุปเสนอเป็นรายงานเข้าที่ประชุม มองผิวเผินอาจเป็นความห่วงใยของนานาชาติต่อปัญหาในเมืองไทย แต่เมื่อวิเคราะห์เจาะลึกลงไปก็อาจจะหนีไม่พ้นการที่ไทยต้องถูก “แทรกแซง” ในที่สุด
ท้ายที่สุดเมืองไทยอาจตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกับ “ติมอร์เลสเต-ฟิลิปปินส์” ที่ถูกเข้าไปล้วงลูกปัญหาภายในประเทศจนยุ่งเหยิง อีนุงตุงนังยิ่งกว่าเดิม โดยเฉพาะที่ผ่านมาองค์กรนานาชาติแห่งนี้พยายามเข้ามามีบทบาทปัญหาไฟใต้ของไทยมาอย่างต่อเนื่อง ย้อนไปเมื่อรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ที่มี “สุเทพ เทือกสุบรรณ” รองนายกฯ ความมั่นคงในตอนนั้น ต้องออกโรงมาคัดค้านเรื่องนี้อย่างเต็มที่
ตั้งการ์ดสูงว่า ปัญหาในบ้าน เราสามารถแก้ไขเองได้ ต่างชาติไม่ต้องมายุ่ง
แต่สำหรับ “พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา” รองนายกฯ ความมั่นคงคนปัจจุบัน กลับมีท่าทีจำยอมรับการเข้ามาของโอไอซี แบบเสียไม่ได้ มีเพียงการให้ความเห็นข้อควรระวังไม่กี่ข้อ อาทิ การให้ข่าว หรือตัวบุคคลที่โอไอซีจะไปพบเท่านั้น และสิ่งที่น่ากลัวอย่างการสร้างสถานการณ์ก่อเหตุร้ายในช่วงที่โอไอซีอยู่ในประเทศไทย ผู้ก่อการร้ายอาจมองว่า เป็นการยิงปืนนักเดียวได้นกสองตัว
ได้ตบหน้าทั้ง “รัฐบาลไทย-โอไอซี” ไปในคราวเดียว แถมยังได้เป็นข่าวไปทั่วโลกอีกต่างหาก
จากข้อมูลที่ “ทีมข่าวการเมืองเอเอสทีวีผู้จัดการ” ได้รับมา พบว่าขณะนี้เริ่มมี “รถต้องสงสัย” เตรียมใช้ก่อเหตุคาร์บอมบ์ในช่วงวันที่ครบรอบ 8 ปีเหตุการณ์กรือเซะ มากกว่า 10 คันเข้ามาในพื้นที่ จากเดิมที่มีเพียง 5 คันเท่านั้น เพิ่มขึ้นมาอีกเท่าตัว แม้แต่ “บิ๊กอ๊อด” ยังรับสภาพว่า มีรายงานเรื่องคาร์บอมบ์จริง แต่หาไม่เจอว่าซ่อนอยู่จุดใด
ปล่อยให้ชาวบ้านอกสั่นขวัญแขวนแบบไร้ที่พึ่งกันไป
เรื่องหนึ่งที่รัฐบาลหยิบยกขึ้นมา “ตีปิ๊บ” เป็นผลงานอันเอกอุ คือเรื่องเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังจากถูกรบเร้าทวงถามถึงเรื่อง “สองมาตรฐาน” เพราะรัฐบาลได้ “ตบรางวัล” จ่ายเงินเยียวยาม็อบการเมืองที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนเสื้อแดงไปก่อนหน้านั้น จึงได้เคาะมติคณะรัฐมนตรีอนุมัติวงเงินกว่า 2,080 ล้านบาท มาจ่ายเยียวยาเจ้าหน้าที่และประชาชนคนด้ามขวานบ้าง
คำถามที่ตามมามีว่า แม้จะนำมาโฆษณาชวนเชื่อว่าจ่ายชดเชยเช่นกัน แต่ในเรื่องของ “หลักเกณฑ์” กลับไร้ทิศทางความชัดเจนต่างจากที่อนุมัติจ่ายม็อบการเมืองอย่างสิ้นเชิง เพราะมติคณะรัฐมนตรีมีแต่กรอบการจ่ายเงิน แต่ไม่มีส่วนใดที่แน่ชัดกว่าจะจ่ายให้ใครและคนกลุ่มไหนบ้าง
ที่ชัดเจนที่สุดตอนนี้คงเป็นปากคำจาก “พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่แจกแจงกว้างๆ ว่าได้มีการแบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ
กลุ่มประชาชนทั่วไป วงเงิน 500 ล้านบาท
กลุ่มเจ้าหน้าที่ของรัฐ วงเงิน 200 ล้านบาท
กลุ่มผู้เสียหายจากเหตุรุนแรงหรือความไม่สงบเฉพาะกรณี ผู้ที่ถูกกระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ วงเงิน 1 พันล้านบาท
และกลุ่มที่ถูกควบคุมตัว หรือถูกคุมขัง หรือถูกดำเนินคดีเป็นผู้ต้องหา หรือเป็นจำเลยแล้วถูกควบคุมตัวหรือคุมขังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) แต่อัยการสั่งไม่ฟ้อง หรือศาลยกฟ้อง หรือไม่มีความผิด กลุ่มนี้มีกรอบวงเงินประมาณ 300 ล้านบาท
โดยกลุ่มที่ 3 ที่เรียกว่าเป็น “เหตุการณ์เฉพาะกรณี” นั้นจะเน้นเฉพาะกรณีตั้ง “มัสยิดกรือเซะ-สะบ้าย้อย” ที่เกิดเหตุเมื่อวันที่ 28 เม.ย.47 “กรณีตากใบ” เมื่อวันที่ 25 ต.ค.47 และ “กรณีไอร์ปาแย” เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.52
ส่วนจะช่วยเหลือเยียวยาเท่าไรนั้น ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการเยียวยาจะอนุมัติ
ในขณะที่ “สัญญาณ” ที่ส่งออกมาจากฝ่ายบริหารก็ยังไม่ชัด อีกทั้งงบประมาณ 2 พันล้านที่เทออกมาก็ไม่ได้หมายความเหตุการณ์จะสงบยุติลงเหมือนกับการชุมนุมทางการเมืองที่รัฐบาลเยียวยาให้กลุ่มคนเสื้อแดง
เพราะต้องยอมรับว่าทุกวันนี้เหตุการณ์ยังคงเกิดขึ้นอยู่ทุกวัน และนับวันผู้ก่อเหตุจะรุกหนักก่อเหตุในชุมชนเมือง เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อ “เศรษฐกิจ-ภาพลักษณ์” ของประเทศให้มากที่สุด
“เงิน” จึงไม่ใช่คำตอบของปัญหา
สิ่งสำคัญที่นักการเมืองฝ่ายบริหาร ระดับนโยบายและเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติควรทำ และจริงใจเอาใจใส่มากกว่าในการแก้ไขปัญหา คือหาหนทางคุ้มครองชีวิตของประชาชนในพื้นที่ให้อยู่กันได้อย่างปลอดภัย ไม่ต้องมีอาการหวาดผวาเหมือนที่เป็นมาในอดีตและในปัจจุบัน และสุดท้ายแล้วต้องทำให้ความหวังของประชาชนที่ต้องการให้เหตุการณ์ความไม่สงบได้สงบลงอย่างแท้จริงเสียที
ที่สำคัญต้องทางสกัดกั้นไม่ปล่อยให้ “พ่อค้าอาวุธ” หลงระเริงกับการผลาญงบประมาณชาติต่อไป