xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.เตรียมหาช่องฟัน ส.ส.เสียบบัตรแทนกัน ซัดแก้ รธน.ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้นำฝ่ายค้่านในสภาผู้แทนราษฎร (ภาพจากแฟ้ม)
“อภิสิทธิ์” ซัดไม่ควรยอมรับพฤติกรรม ส.ส.กดบัตรแทนกัน จี้ประธานสภาฯ ตรวจสอบข้อเท็จจริง เผยทีมกฎหมาย ปชป.กำลังหาช่องทางฟันไม่ต้องรอให้ผ่านวาระ 3 ชี้ขัดทั้งรัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เผยฝ่ายค้านทำเพื่อความถูกต้อง จุดยืนชัดเจน กังวลการสรรหา 22 ส.ส.ร.เปิดโอกาสลงคะแนนเป็นโพย ขัดเจตนารมณ์ความเป็นอิสระ

วันนี้ (25 เม.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงปัญหาการกดบัตรแทนกันในระหว่างการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ว่า ไม่ทราบว่าทำกันแพร่หลายแค่ไหน แต่ไม่ควรมีการยอมรับการกระทำเช่นนี้ ซึ่งตนได้อภิปรายในสภา และนายสมศักดิ์
เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภาก็ยอมรับว่าจะต้องมีมาตรการอย่างจริงจังในการดูแล เพราะนอกจากจะขัดต่อหลักจริยธรรมแล้ว ยังเป็นการละเมิดสิทธิของคนอื่นตามรัฐธรรมนูญด้วย เนื่องจาก ส.ส.แต่ละคนมีสิทธิเท่ากันคือ 1 เสียง การกดบัตรแทนเท่ากับคนที่กดไปใช้สิทธิของคนอื่น ขณะที่คนที่ปล่อยให้คนอื่นใช้สิทธิแทนตัวเองก็ไม่ได้ทำหน้าที่ในการเข้าประชุม จึงไม่ใช่เรื่องเล็กที่จะปัดให้ผ่านพ้นไป และหากเรื่องดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการพิจารณากฎหมาย ก็จะเกิดคำถามว่ากระบวนการตรากฎหมายชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะในรัฐธรรมนูญระบุว่า ส.ส.1 คนมี 1 เสียงเท่ากัน จึงต้องเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ก็จะติดตามว่า ในส่วนของคณะกรรมการที่จะตั้งขึ้นนั้น ใครจะเข้าไปมีส่วนร่วมได้บ้าง ขณะเดียวกันใครที่มีข้อมูลหลักฐานเก็บภาพระหว่างการลงมติไว้ ก็ควรนำมาเป็นหลักฐานด้วย

นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อว่า การลงมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจะส่งผกระทบต่อการตรารัฐธรรมนูญที่กำลังดำเนินการให้ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญไปด้วย เพราะไม่เป็นไปตามเงื่อนไขในการตรากฎหมาย โดยฝ่ายกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์กำลังพิจารณาเรื่องนี้ว่า มีช่องทางที่จะดำเนินการอย่างไรบ้าง เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นนอกจากขัดรัฐธรรมนูญแล้ว ยังขัดต่อกฎหมายความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และบัตรอิเล็กทรอนิกส์ด้วย ซึ่ง ส.ส.ที่กดบัตรแทนกันก็อาจเข้าข่ายทำผิดกฎหมาย ที่จะนำไปสู่การยื่นถอดถอนได้ โดยพรรคพิจารณาควบคู่ไปพร้อมกับผลกระทบต่อการตรากฎหมายด้วย ซึ่งเท่าที่ดูน่าจะดำเนินการได้เลยหลังจากเกิดเหตุการณ์ขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องรอให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จในวาระ 3 ก่อน ซึ่งตนยืนยันว่าการดำนินการเรื่องนี้ไม่ใช่การเตะถ่วงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เป็นเรื่องของความถูกต้อง และการคัดค้านของฝ่ายค้านก็มีจุดยืนที่ชัดเจนว่า หากเป็นการทำเพื่อประโยชน์ส่วนบุคคลหรือกลุ่ม พรรคไม่มีหน้าที่ไปช่วยให้ผ่านได้รวดเร็ว หรือทำให้สะดวกขึ้น แต่ต้องปกป้องผลประโยชน์ประชาชน และการอภิปรายของพรรคก็มีเหตุผลรองรับชัดเจน และจะทำหน้าที่อย่างเข้มแข็งต่อไป แม้จะทราบดีว่าเป็นเสียงข้างน้อยหลังชนะในการลงมติยาก แต่เมื่อมีเหตุผลชัดเจนก็สามารถทำให้เสียงข้างมากยอมรับเหตุผล เช่น การยอมไม่นำกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นมาใช้เลือก
ส.ส.ร. และนำกฎหมายเลือกตั้ง ส.ว. มาใช้แทนตามข้อเสนอของตนและสมาชิกรัฐสภาก็ประสบความสำเร็จ ซึ่งถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี แต่ตนยังเห็นว่า จำนวน ส.ส.ร. 99 คนน่าจะสามารถทำให้มีหลักประกันของความหลากหลายได้มากกว่านี้ แต่ทางกรรมาธิการฯ เสียงข้างมากไม่ยอมเจรจาในประเด็นนี้

ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ยังกังวลว่าการคัดเลือกกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ โดยเปิดโอกาสให้องค์กรเศรษฐกิจสังคม ซึ่งไม่มีกฎหมายรองรับ แต่ให้อำนาจประธานรัฐสภากำหนดหลักเกณฑ์นั้นไม่เหมาะสม เพราะจะมีการส่งคนเข้ามาเป็น ส.ส.ร.ผ่านช่องทางนี้ได้ไม่ยากนัก และ 22 คนที่จะเลือกโดยรัฐสภาหากปล่อยให้ ส.ส.หรือ ส.ว.แต่ละคนเลือกได้คนละ 22 เสียง โอกาสที่จะเกิดการลงคะแนนแบบบล็อกเป็นกลุ่มเป็นโพยจะมีสูงมาก ซึ่งจะไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่ต้องการให้ ส.ส.ร.มีความเป็นอิสระ หากไม่มีการปรับเปลี่ยนก็น่าเป็นห่วงว่า
ส.ส.ร. 22 จาก 99 คนจะอยู่ในมือเสียงข้างมากในรัฐสภาได้ ทั้งนี้ ทางพรรคจะทำหน้าที่อย่างเข้มแข็งต่อเนื่อง โดยหวังว่ากรรมาธิการเสียงข้างมากจะยอมมาเจรจาเพื่อร่วมกันหาทางออกที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม
กำลังโหลดความคิดเห็น