รายงานการเมือง
ดอกแรกแพ้เลือกตั้งซ่อม ส.ส.ปทุมธานี เขต 5 เมื่อวันเสาร์ที่ 21 เมษายน 2555 ให้กับพรรคประชาธิปัตย์ ก็หนักหนา เสียเหลี่ยมการเมืองอย่างมากแล้วสำหรับเพื่อไทย
มาเจอดอกสอง โดนซ้ำติดกันห่างแค่วันเดียว กับผลการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เมื่อ 22 เมษายน 2555 ซึ่งว่าที่ ร.ต.สุเมธ ฤทธาคนี อดีต ส.ส.เขต 5 ปทุมธานี พรรคเพื่อไทย ซึ่งลาออกจาก ส.ส.มาลงชิงตำแหน่งนายก อบจ.และลงสมัครหาเสียงในนามพรรคเพื่อไทย แพ้ยับนายชาญ พวงเพ็ชร อดีตนายก อบจ.ปทุมธานีสมัยที่แล้ว
ซึ่งคะแนนอย่างไม่เป็นทางการในช่วงค่ำของวันลงคะแนนเสียง พบว่า นายชาญได้กลับไปเป็นนายก อบจ.ปทุมธานีอีกสมัยเพราะได้ 214,429 คะแนน ขณะที่ว่าที่ ร.ต.สุเมธ ได้ 110,974 คะแนน เท่ากับชนะห่างกันเป็นแสน
วิ่งเข้าเส้นชัยม้วนเดียวจบ คู่แข่งอย่าง ว่าที่ ร.ต.สุเมธ ไล่กวดยังไงก็ไม่ทัน
หากดูผลการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ปทุมธานี เขต 5 และผลเลือกตั้งนายก อบจ.ปทุมธานี ที่ออกมา เพื่อไทย มีปัญหาแน่ ในพื้นที่เลือกตั้งปทุมธานี จังหวัดซึ่งติดกับกรุงเทพมหานคร และเป็นเขตพื้นที่เลือกตั้งสำคัญของเพื่อไทย ที่นอกจากการเลือกตั้งครั้งที่จะกวาดชัยชนะได้ ส.ส.ยกจังหวัดมา 6 คน แล้วยังเป็นพื้นที่สำคัญของคนเสื้อแดงในภาคกลางอีกด้วย
เพื่อไทยกลับแพ้ทั้งสองแมตช์ในปทุมธานี ถือว่าเสียหายยับเยิน
จริงอยู่ว่า ว่าที่ ร.ต.สุเมธ อาจเป็นรองนายชาญ ที่ได้เปรียบเพราะเป็นนายก อบจ.สมัยที่แล้ว มีฐานเสียงและการทำพื้นที่ระดับจังหวัดเหนือกว่า ว่าที่ ร.ต.สุเมธ ซึ่งเป็นอดีต ส.ส.เขต ก็จะมีคะแนนแต่เฉพาะพื้นที่เดิมของตัวเองเป็นหลัก
แต่ว่าการลงชิงชัยของว่าที่ ร.ต.สุเมธครั้งนี้ ได้แบกเอาศักดิ์ศรีหลายอย่างลงไปสู้ ทั้งในฐานะอดีต ส.ส.ปทุมธานี เพื่อไทย ซึ่งว่าที่ ร.ต.สุเมธไม่ใช่ ส.ส.หน้าใหม่ เป็น ส.ส.มาตั้งแต่สมัยไทยรักไทยจนมาเพื่อไทยแล้ว
ลงสนามสู้ในนามเพื่อไทย พรรคแกนนำรัฐบาล ทั้งยังได้ฐานเสียงจัดตั้งจากคนเสื้อแดงในพื้นที่และฐานเสียงของเพื่อไทยในจังหวัดปทุมธานี เป็นแรงบวกให้ชนกับนายชาญได้
แม้จะเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่น ไม่ใช่การเลือกตั้งระดับชาติ แต่การที่ว่าที่ ร.ต.สุเมธลงชิงชัยครั้งนี้ ไม่ผิดที่จะบอกว่าก็คือการลงชิงชัยในนามเพื่อไทย ที่ไปสู้กับนายชาญ ซึ่งแม้ภาพจะไม่ปรากฏชัดว่าได้แรงสนับสนุนจากประชาธิปัตย์ แต่คนในพื้นที่ก็มองเช่นนั้น
ยิ่งมาบวกกับความพ่ายแพ้ ของเพื่อไทยในการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ปทุมธานี เขต 5 แทนว่าที่ ร.ต.สุเมธ ที่ลาออกจาก ส.ส.ไปลงชิงนายก อบจ. ซึ่งเพื่อไทยแพ้ประชาธิปัตย์
ก็เลยกลายเป็นความพ่ายแพ้สองเด้งของเพื่อไทยแบบติดๆ กัน
นอกจากความได้เปรียบของนายชาญในฐานะอดีตนายก อบจ.แล้ว การแพ้ของว่าที่ ร.ต.สุเมธ ส่วนสำคัญน่าจะเกิดจากการที่คนปทุมธานี มองว่าว่าที่ ร.ต.สุเมธ ไม่มีหลักแน่นอน คือเพิ่งจะเป็น ส.ส. ได้ 7-8 เดือน คนปทุมธานี เขต 5 ไปเลือกให้เป็น ส.ส. แล้วจู่ๆ ก็มาลาออกจาก ส.ส.แล้วมาลงสมัครนายก อบจ.
ทำเหมือนกับคะแนนที่คนปทุมธานีเลือกให้ไปเป็น ส.ส.ไม่มีความหมาย ฤๅเพียงเพราะเห็นว่าการเป็นนายก อบจ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีเศรษฐกิจดีจังหวัดหนึ่งในภาคกลาง มีโรงงาน-นิคมอุตสาหกรรม-มหาวิทยาลัย-การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ซึ่งยังทำได้อีกมาก จึงเป็นจังหวัดที่มีงบประมาณจำนวนมาก เลยลาออกจาก ส.ส.มาลงชิงชัยนายก อบจ.จนทำให้ต้องมีการจัดการเลือกตั้ง ส.ส.ปทุมธานีใหม่
คนปทุมธานีก็เลยสั่งสอน ว่าที่ ร.ต.สุเมธและเพื่อไทยเสียเลย จนทำให้ฝั่งเพื่อไทยสอบตกหมดทั้งว่าที่ ร.ต.สุเมธ และ สมชาย รังสิวัฒนศักดิ์ ผู้สมัคร ส.ส.ปทุมธานี ซึ่งแพ้ให้กับ เกียรติศักดิ์ ส่องแสง จากพรรคประชาธิปัตย์
อีกทั้งเรื่องวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ ปทุมธานี เมื่อปลายปี 2554 ซึ่งมวลน้ำกลืนพื้นที่ปทุมธานี แทบทุกอำเภอ จนทำให้คนปทุมธานีเดือดร้อนแสนสาหัส
ปัจจัยนี้เชื่อว่าเป็นสาเหตุสำคัญแน่นอนกับการที่เพื่อไทยแพ้การเลือกตั้งครั้งนี้ทั้งระดับชาติและท้องถิ่น
เพราะมันมีข้อเปรียบเทียบให้คนปทุมธานี ตัดสินใจได้ไม่ยาก เนื่องจากตอนช่วงน้ำเข้าพื้นที่ปทุมธานี จะเห็นข่าวนายชาญ นายก อบจ.ปทุมธานี ออกมาคอยช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่และโรงงานอุตสาหกรรมตลอดจนแหล่งชุมชนต่างๆ ตลอด จนทำให้นักการเมืองในพื้นที่ของเพื่อไทยไม่พอใจที่โดนแย่งคะแนนนิยมไปอย่างมาก แต่สุดท้ายจังหวัดปทุมธานีก็ต้านไม่ไหว น้ำท่วมใหญ่เกือบทั้งจังหวัด
ขณะที่ตอนนั้น ฝ่ายรัฐบาลเพื่อไทย กลับแทบไม่ได้ช่วยเหลือประชาชนอะไรได้เลย นอกจากบอกว่าเห็นใจ-สงสาร แต่ช่วยไม่ได้เพราะปทุมธานี เป็นพื้นที่รับน้ำก่อนเข้ากรุงเทพมหานคร แต่กลับมีข่าวว่า ส.ส.เพื่อไทยในพื้นที่ก็ไม่ค่อยดูแลผู้ประสบภัยในจังหวัดอย่างเต็มที่และจริงจังทั้งที่เป็นรัฐบาลและกุมอำนาจรัฐ
และ ส.ส.ปทุมธานี ตอนนั้นก็เป็นรัฐมนตรีถึงสองคน คือ ชูชาญ หาญสวัสดิ์ รมช.มหาดไทยกับสุรพงษ์ อึ้งอัมพรวิไล รมช.ศึกษาธิการ แต่กลับซื้อใจคนปทุมธานีไม่ได้ ผิดกับพรรคการเมืองอื่นเช่นประชาธิปัตย์ ที่แม้จะสอบตกหมดแต่ก็ยังลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนในช่วงดังกล่าว
ดังนั้น ผลเลือกตั้งที่ออกมา เรื่องปัญหาน้ำท่วมในจังหวัด มีส่วนสำคัญต่อการตัดสินใจลงคะแนนเสียงที่เกิดขึ้นแน่นอน แม้การเลือกตั้ง ส.ส.จะมีคนมาใช้สิทธิน้อยมาก แค่ 30 กว่าเปอร์เซ็นต์ แต่ผลที่ออกมามันก็สะท้อนให้เห็นแล้วว่าคนปทุมธานีคิดอย่างไรกับเพื่อไทยและรัฐบาลชุดนี้
ส่วนปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้เพื่อไทยแพ้เลือกตั้งหมดทั้ง ส.ส.และนายก อบจ.ก็น่าจะมีส่วนมากน้อยกันไป ตามกระแสข่าวหลายกระแส
เช่น เพื่อไทยไม่ได้ทุ่มเต็มที่ในการช่วยรณรงค์หาเสียงให้ โดยเฉพาะกลุ่มปทุมธานีในเพื่อไทย ที่ประมาท ไม่จับมือทำพื้นที่ให้คนของตัวเองในการเลือกตั้ง ส.ส.-นายก อบจ.
ส่วนผลเลือกตั้งที่ออกมา จะเป็นเครื่องบ่งชี้ได้ไหมว่า คนเสื้อแดงในปทุมธานี เริ่มลดน้อยถอยลง หรือเสื่อมความนิยมในตัว ส.ส.ของเพื่อไทยและเริ่มไม่ชอบรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
อันนี้ยังพูดและประเมินได้ยาก เพราะต้องดูองค์ประกอบอีกหลายส่วน ยังไม่น่าจะสรุปได้ว่า เสื้อแดงปทุมธานี อ่อนแรงหรือสลายตัวไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม ดูแล้ว แดงปทุมธานี และพวก ส.ส.เพื่อไทยในจังหวัด คงต้องปรับความเข้าใจและคุยกันหนักขึ้นว่ามันเกิดอะไรขึ้น ผลเลือกตั้งถึงออกมาเช่นนี้
หากปล่อยให้เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ ย่อมไม่เป็นผลดีต่อเพื่อไทยและคนเสื้อแดงในภาคกลางแน่นอน