xs
xsm
sm
md
lg

“ยงยุทธ” จ้อแทน “ปู” ยันรัฐบาลพร้อมรับมือแผ่นดินไหว ขออย่าตระหนก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยงยุทธ วิชัยดิษฐ (แฟ้มภาพ)
“ยงยุทธ” จัดรายการ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์ พบประชาชน” แทนนายกฯ พร้อมนำ อธิบดี ปภ. ผอ.ศูนย์เตือนภัยฯ แจงแผนเตือนภัยแผ่นดินไหว ขอร้องประชาชนอย่าตื่นตระหนก ยันรัฐบาลพร้อมรับมือ โวระบบเตือนภัยของไทยดีที่สุดในเอเซีย เป็นรองแค่ญี่ปุ่น


นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย กล่าวระหว่างจัดรายการ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์ พบประชาชน” แทน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ติดภารกิจเดินทางไปประชุมที่ประเทศญี่ปุ่น ถึงการสรุปภาพรวมของการรณรงค์ลดอุบัติเหตุ ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ที่ผ่านมา ร่วมกับ นายวิบูลย์ สงวนพงษ์ อธิบดีกรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.ป และ น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เพื่อแจงการเตรียมความพร้อมรับมือแผ่นดินไหว

โดย นายยงยุทธ กล่าวว่า ต้องขออภัยต่อผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ ที่ต้องกล่าวถึง แต่ยืนยันว่า ไม่ได้ลบหลู่ แต่ที่กล่าวถึงเพื่อทำให้การสูญเสียครั้งนี้มีประโยชน์ ในแง่การเตรียมป้องกันสำหรับเทศกาลต่อ ๆ ไป ที่จะทำให้อุบัติเหตุ และการสูญเสียเป็น "ศูนย์" เหมือนกับการณรงค์ในครั้งนี้ให้ได้ พร้อมกับยอมรับว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตครั้งนี้ สูงขึ้น แต่ก็ไม่ถือว่าการรณรงค์ของรัฐบาลล้มเหลว เพราะมีถึง 6 จังหวัด คือ ตราด , นครพนม , ปัตตานี , ยะลา , ตรัง และ สตูล ที่ไม่มีผู้เสียชีวิต หรือ 678 อำเภอ ที่ไม่มีผู้เสียชีวิต และ มีถึง 250 อำเภอ ที่ไม่มีอุบัติเหตุเลย

นายยงยุทธ ยังได้ขอบคุณ มูลนิธิรัฐบุรุษ และมูลนิธิเมาไม่ขับ ที่ช่วยสนับสนุนการณรงค์ของรัฐบาล พร้อมยืนยันว่า จะต้องรณรงค์อย่างต่อเนื่อง เพื่อลดอุบัติเหตุตลอดทั้งปีลงให้ได้
จากนั้น นายยงยุทธ ได้กล่าวถึงกรณีการรับมือภัยพิบัติว่า จากการติดตามข่าวสารการเกิดแผ่นดินไหวที่ จ.ภูเก็ต ตนติดตามข่าวสารมามาก และประชาชนควรจะเข้าใจได้ดีว่า มันไม่มี มันไม่เกิดจึงไม่ต้องตระหนกตกใจไปตามกัน เรื่องนี้ทางรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ หรือดูดาย ภัยที่เกิดขึ้นเป็นภัยที่เราไม่ทราบล่วงหน้าว่าจะเกิดขึ้น เป็นภัยที่พร้อมจะทำให้ทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนได้รับความเสียหาย รัฐบาลจึงเตรียมความพร้อมทั้งเรื่องเครื่องไม้เครื่องมือ มีศูนย์เตือนภัย ในฐานะกระทรวมหาดไทยดูแลในส่วนจังหวัด อำเภอ ได้มีการประสานงานกันตลอดเวลา เพื่อดูแลพี่น้องประชาชนในแต่ละพื้นที่ให้ได้รับข้อมูลข่าวสาร ความเข้าใจที่ตรงกัน ซึ่งรัฐบาลทำสิ่งเหล่านี้ตลอดเวลาทั้งก่อนเกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุ มีแผนที่ชัดเจนในการเรียบเรียงข่าวสาร ข้อมูล การอพยพผู้คน เพื่อดูแลพี่น้องประชาชน ย้ำว่ามีความพร้อมตลอดเวลา

“รัฐบาลชินกับงานประเภทนี้มานานแล้ว แต่อาจมีปัญหาบ้าง เหมือนปีที่แล้วที่ประเทศไทยประสบภัยน้ำท่วมอย่างรุนแรง จนติดขัดเรื่องการสื่อสาร ความชัดเจนเรื่องการให้ข้อมูล แต่ยืนยันว่า จะไม่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นเหมือนครั้งที่ผ่านมาแน่นอน”

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ได้กำชับเรื่องการสื่อสารในการให้ข้อมูลแก่พี่น้องประชาชนเมื่อเกิดภัยพิบัติว่า ต้องมีความแน่ชัด ตรงจุดอย่างทันทวงที เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้เตรียมตัวเมื่อเกิดเหตุการณ์ เช่น กรณีน้ำท่วมที่อยุธยา มีการแจ้งเตือนภายในพื้นที่ล่าช้าจนประชาชนได้รับผลกระทบ เนื่องจากยังเป็นการทำงานที่ไม่ได้มีการบูรณาการจากทุกหน่วยงานร่วมกัน ตรงนี้เป็นจุดบกพร่องซึ่งรัฐบาลนำมาวิเคราะห์ปรับปรุงเพื่อให้เกิดการบูรณการร่วมกัน เน้นแก้ปัญหาตรงจุดมากยิ่งขึ้น และใช้เครือข่ายที่มีส่งสารให้ประชาชนได้รับทราบและเตรียมความพร้อม

ด้าน น.อ.สมศักดิ์ กล่าวว่า การเกิดภัยพิบัติในประเทศไทยนั้น เช่น การเกิดแผ่นดินไหวที่ จ.ภูเก็ต นั้น จริง ๆ แล้วเป็นเรื่องปกติ จึงอยากให้พี่น้องประชาชนอย่าเกิดความตระหนกตกใจ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ ชิลิ ที่เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ถือว่าประเทศไทยยังได้รับความรุนแรงขนาดกลาง และเล็กน้อยมาก ซึ่งไม่สร้างความเสียหาย แต่เป็นเพียงแค่การรับรู้ความรู้สึกเท่านั้น

“จริง ๆ ทางนักวิชาการมีการตรวจสอบตลอดเวลา รอยเลื่อนที่เกิดขึ้นไม่รุนแรงเท่าเมื่อ ปี 2542 ครั้งนั้นรุนแรงที่สุด แต่การเกิดแผ่นดินไหวที่ผ่านมาเป็นการเกิดขึ้นไม่รุนแรง เล็ก ๆ เท่านั้น ตรงนี้เป็นสิ่งที่ดี”

น.อ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ระบบเตือนภัยของประเทศไทยดีที่สุดหากเทียบในกลุ่มประเทศเอเชีย แต่เป็นรองจากประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น แต่มีสิ่งหนึ่งที่ยังเป็นอุปสรรคนั่นคือ เรื่องภาษาไม่ตรงกัน ตรงนี้หน่วยงานจึงเล็งเห็น และเน้นให้เห็นถึงการทำอย่างไร เพื่อส่งข้อมูลข่าวสารได้อย่างง่าย ถูกต้อง รวดเร็ว เพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจ นำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในท้องถิ่นอย่างถูกต้อง

“การวิเคราะห์ข้อมูลจากหน่วยงานอยู่บนพื้นฐานของข้อมูล โดยตรวจสอบจากทุกแหล่ง และเมื่อชัดเจนก็จะส่งต่อยัง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพียงแค่ 2 นาที ตรวจเช็ค เพื่อความแน่ชัดว่า ถ้ามีผลกระทบกับประเทศไทยก็จะดำเนินการแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ให้เตรียมความพร้อมในการรับมือ มีเวลาในการเตรียมความพร้อมเมื่อเกิดภัย”

ด้านนายวิบูลย์ กล่าวว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มีการเตรียมความพร้อมโดยให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ ด้านภัยต่าง ๆ ทั้งภัยจากมนุษย์ และภัยธรรมชาติ รวม 18 ภัย ลงยังจังหวัด อำเภอ เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องแผ่นดินไหว พร้อมรับมือเมื่อเกิดเหตุการณ์ และที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ คือ ทำอย่างไรให้พี่น้องประชาชนตระหนักถึงภัยต่าง ๆ ได้อย่างเข้าใจและชัดเจน


กำลังโหลดความคิดเห็น