ประธานสภาฯ ระบุอภิปรายแก้ไข รธน.ต้องจบในวันศุกร์นี้ เพื่อไม่ให้กระทบวาระ 3 เชื่อบรรยากาศราบรื่น อ้างวันนี้การเมืองไทยต้องการความปรองดอง แต่ทำไมพันธมิตรฯ จึงคัดค้านการแก้ไข รธน. ไม่ร่วมสร้างความปรองดอง ปัดตอบควรออก พ.ร.บ.นิรโทษ หรือ พ.ร.บ.ปรองดอง
นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการควบคุมการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับที่.... พ.ศ. .... มาตรา 291 วาระ 2 ในวันนี้ (18 เม.ย.) ว่าจะพยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ซึ่งขึ้นอยู่กับความร่วมมือของสมาชิกในการแปรญัตติตามกรอบที่ตกลงกันไว้ ส่วนจะมีการอภิปรายไปถึงวันเสาร์หรือไม่นั้นค่อยว่ากัน แต่ทุกฝ่ายควรอภิปรายกันให้อยู่ในประเด็น ส่วนการประท้วงในประเด็นต่างๆ หากพออะลุ่มอล่วยกันได้ก็ต้องปล่อยไป
นายสมศักดิ์กล่าวว่า การประชุมสภาในประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนใหญ่การอภิปรายจะคล้ายๆ กับการอภิปรายในวาระ 1 เมื่อประธานได้ทักท้วงก็ติงว่าประธานไม่มีความเป็นกลาง ซึ่งในประเด็นต่างๆ เหล่านี้ก็ขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของสมาชิก และต้องขอความร่วมมือในการพูดตามกรอบข้อตกลงไม่ใช่พูดไปถึงเรื่องเลยเถิดเผาบ้านเผาเมือง ทั้ง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลและ ส.ส.ฝ่ายค้าน อย่างไรก็ตามการประชุมในวาระ 2 ควรจะให้จบภายในวันศุกร์ เพื่อไม่ให้กระทบกับวาระ 3 ถ้าการอภิปรายกันอยู่ในส่วนที่สงวนแปรญัติไว้ แต่ถ้ายังอภิปรายกันไปเรื่อยๆ ก็จะไม่จบใน 1 เดือน จึงอยากขอร้องให้สมาชิกอภิปรายกันให้อยู่บนหลักเหตุและผล
ส่วนกระแสข่าวที่มีบางฝ่ายพยายามยื้อการอภิปรายให้ออกนอกกรอบกติกานั้น นายสมศักดิ์กล่าวว่า การอภิปรายต้องอยู่ในกรอบกติกา ทั้ง 3 ฝ่ายยืนยันในที่ประชุมอย่างชัดเจนไม่มีใครกล้าเบี้ยว เพราะประชาชนรู้ทันทั้งประเทศ
ผู้สื่อข่าวถามว่า การประชุมจะราบรื่นหรือไม่ ประธานสภาผู้แทนราษฎรกล่าวว่า บรรยากาศก่อนปิดการประชุมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ผ่านไปได้ด้วยดี บรรยากาศการประชุมน่าจะดีขึ้น ส่วนในเรื่องการตอบโต้ของพรรคเพื่อไทยที่น้อยลง นายสมศักดิ์มองว่าเป็นเรื่องของการที่ต้องยอมกันบ้างพอสมควร
ต่อข้อถามว่าการออกมาแสดงจุดยืนของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในการคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญวัน นายสมศักดิ์กล่าวว่า การเมืองไทยวันนี้ต้องการความปรองดอง ก็ไม่รู้ว่าเพราะอะไรถึงไม่ร่วมสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในสังคม ทั้งนี้ นายสมศักดิ์ได้ปฏิเสธถึงการสร้างความปรองดองตามแนวทางการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม หรือ พ.ร.บ.ปรองดอง โดยระบุว่าเป็นเรื่องของฝ่ายการเมือง ไม่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ของประธานสภาฯ