กกต.เรียกร้อง กมธ.ให้แก้ไข รธน.สอดรับกับบทบัญญัติ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น ในการเลือกตั้ง ส.ส.ร. ติงอย่าเขียนให้แปลความการวินิจฉัยได้หลายอย่าง
วันนี้ (10 เม.ย.) นายประพันธ์ นัยโกวิท คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวถึงการจัดการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ว่า หากเป็นไปตามร่างที่คณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญรัฐสภาให้ความเห็นชอบ ที่ให้ กกต.นำ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น มาบังคับใช้โดยอนุโลม กกต.คงไม่สามารถปฏิเสธอะไรได้ ส่วนวิธีการจะมีปัญหาอะไรก็คงต้องแก้ไขกันไปเท่าที่ทำได้
อย่างไรก็ตาม ตนเห็นว่ายังมีบทบัญญัติหลายส่วนที่ยังไม่มีความชัดเจน เช่น ในร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 291/5 วรรคสี่ ที่บัญญัติให้ กกต.ออกประกาศงดเว้นว่าจะไม่นำมาตราใดของ พ.ร.บ.การเลือกตั้งท้องถิ่นมาบังคับใช้ในการเลือกตั้ง ส.ส.ร. เห็นว่าจำเป็นหรือไม่ที่ต้องมีการบัญญัติว่า ถ้าไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส.ร.จะเสียสิทธิในการลงสมัครรับเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นหรือไม่ หรือการที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติว่าการเลือกตั้ง ส.ส.ร.เป็นหน้าที่ เมื่อไม่ได้ไปใช้สิทธิจึงไม่ถือว่าเป็นเหตุแห่งการเสียสิทธิใช่หรือไม่ รวมทั้งผู้ที่เสียสิทธิในการเลือกตั้ง ส.ส.และส.ว. รวมถึงสมาชิกสภาท้องถิ่น หากมาใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส.ร.จะได้รับสิทธิกลับคืนมาหรือไม่
นายประพันธ์กล่าวว่า นอกจากนี้ ในวรรคท้ายสุดที่บัญญัติเกี่ยวกับการวินิจฉัยชี้ขาดการเลือกตั้ง การสั่งให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่ การเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งที่ให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณาพิพากษาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันยังขาดความชัดเจน ว่าหากมีการทุจริตเกิดขึ้นจะให้ กกต.เป็นผู้ทำสำนวนหรือให้ผู้เสียหายไปฟ้องศาลโดยตรง รวมถึงการให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาให้แล้วเสร็จนั้นนับแต่เมื่อใด ซึ่งตนเห็นว่าควรจะนับตั้งแต่วันที่ศาลได้รับคำร้อง
“อยากให้มีการเขียนบทบัญญัติให้รับกับกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น หากเขียนอย่างนี้แปลความได้หลายอย่าง ทั้งเลือกตั้งเสร็จแล้วก็ตัดอำนาจ กกต.ในเรื่องการพิจารณาเรื่องร้องคัดค้านเลยแล้วให้ไปอยู่ที่ศาลฯ หรือให้ กกต.เป็นคนรับเรื่องพิจารณาแล้วส่งต่อศาล รวมถึงให้ผู้เสียหายฟ้องร้องต่อศาลเองได้โดยตรง ซึ่งอยากให้มีความขัดเจน เพื่อ กกต.จะได้มีความสะดวกในการปฏิบัติ”