ที่ประชุม กก.ศึกษาระเบียบร่าง รธน. กกต.พิจารณาประเด็นเลือกตั้ง ส.ส.ร. แย้มใช้ 2 แนวทางชง กมธ.รธน. เล็งดึง พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่นใช้แทนได้ ชี้เร็วและร่นเวลาร่างกฎหมายใหม่ได้ สั่งเลขาฯ ยกร่างเข้าที่ประชุมใหม่ จันทร์นี้
วันนี้ (30 มี.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายบุณยเกียรติ รักชาติเจริญ รองเลขาธิการ กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการศึกษาข้อเสนอแนะและการดำเนินการยกร่างระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ.... ที่มีนายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการกกต.เป็นประธานคณะกรรมการฯ ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการฯ ได้ประชุมพิจารณาในประเด็นที่ กกต.มีมติให้สำนักงานกกต.แจ้งต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ... ว่า หากจะให้ กกต.ดำเนินการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)นั้น กกต.ขอให้ทำเป็นกฎหมายเฉพาะออกมาบังคับใช้ในการเลือกตั้ง ส.ส.ร. การที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมในมาตรา 291/5 วรรคสี่ ระบุว่าให้ กกต.นำ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. 2550 มาบังคับใช้โดยอนุโลมนั้น กกต.ไม่เห็นด้วย
โดยที่ประชุมคณะกรรมการฯ เห็นว่า กฎหมายเลือกตั้งที่มีอยู่และมีบทบัญญัติใกล้เคียงกับความต้องการของกรรมาธิการฯที่จะให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร.จังหวัดละ 1 คน รวมทั้งไม่ยุ่งยากในเรื่องของการเลือกตั้งนอกเขตจังหวัด นอกราชอาณาจักร มีเขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง เช่นการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และหากไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งก็ไม่มีบทบัญญัติให้เสียสิทธิเช่นการเลือกตั้ง ส.ส. ก็คือ พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกและผู้บริหารท้องถิ่น จึงมี 2 แนวทางในการเตรียมความพร้อม คือ 1 กรณีกรรมาธิการเห็นชอบตามที่ กกต.เสนอให้มีการกฎหมายเฉพาะในการจัดการเลือกตั้ง ส.ส.ร. ก็ให้นำ พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกและผู้บริหารท้องถิ่น มาเป็นแนวทางในการยกร่าง
2. กรณีที่กรรมาธิการไม่เห็นชอบตามที่กกต.เสนอ โดยยังให้การเลือกตั้ง ส.ส.ร.เป็นไปตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291/5 วรรค 4 คือให้เป็นไปตามระเบียบที่กกต.กำหนดนั้น ทางคณะกรรมการก็เห็นว่า หากเป็นเช่นนั้นก็ควรเสนอกรรมาธิการให้แก้ไขถ้อยคำจากเป็นไปตาม “ระเบียบ” ที่ กกต.กำหนด มาเป็นให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกและผู้บริหารท้องถิ่น โดยจะให้มีการยกเว้นการใช้มาตราใดของกฎหมายดังกล่าว หรือจะมีบทบัญญัติให้ปฏิบัติเพิ่มเติม ก็ให้บัญญัติไว้ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเลย
“หากกรรมาธิการเลือกแนวทางนี้ก็จะเร็ว ร่นระยะเวลาการตรากฎหมาย และเท่ากับว่ากกต.จะใช้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายหลักในการจัดการเลือกตั้ง ส.ส.ร. แต่ถ้ามองในแง่ของความรอบคอบแล้วคิดว่าการออกเป็นกฎหมายเฉพาะน่าจะดีกว่า เพราะต้องผ่าน 3 วาระของสภา ซึ่งก็จะมีการถกเถียงข้อดี ข้อเสีย จนได้ข้อยุติที่ทุกฝ่ายยอมรับ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับกรรมาธิการว่าจะเห็นอย่างไร”
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการได้มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการไปดำเนินการยกร่างทั้ง 2 แนวทางเป็นร่างกฎหมายมาเสนอต่อที่ประชุมในวันจันทร์ที่ 2 เม.ย.นี้