“ประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” รับการเข้ามาศาลรัฐธรรมนูญไร้เหตุจูงใจ ถูกด่าได้ ตรวจสอบหนัก ทำผู้พิพากษาแหยงนั่งตุลาการ ยันทุกคนฟรีโหวตไม่มีล็อบบี้โหวตแน่นอน ยันพยายามสื่อสารประชาชนเพิ่ม เผยคดีปี 53 ใกล้หมดแล้ว พยายามเร่งอยู่
วันนี้ (5 เม.ย.) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ปาฐกถาเกียรติยศในหัวข้อศาลกับความยุติธรรมในมิติต่างๆ ตอนหนึ่งว่า ตนอยู่ในศาลยุติธรรมมา 35 ปี ก่อนจะมาอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ เห็นข้อบกพร่องว่าที่มาที่ไปที่จะได้คนที่มีคุณภาพเยี่ยมเป็นเรื่องยาก เพราะไม่มีเหตุจูงใจให้เข้ามา เอาเฉพาะจากที่ศาลฎีกาก็ไม่มีใครอยากมา ตุลาการบางคนที่ถูกเสนอชื่อก็เพียงเพราะไม่ได้ยื่นสละสิทธิ์และไม่ได้อยู่ในที่ประชุมใหญ่ ขณะที่การฟ้องร้องศาลยุติธรรมเองก็จะมีอาญาสิทธิ์ในเรื่องของการละเมิดศาล แต่ทางศาลรัฐธรรมนูญนั้นไม่มี จึงได้ถูกด่ามากมาย ไม่ว่าจะทำอะไรก็ผิดจนกว่าคนๆ นั้นมาทำเองจึงจะว่าถูก ถ้าคิดแบบนี้ก็ยึดถือเป็นแค่อัตตาตนเอง อีกทั้งยังโดนตรวจสอบยื่นถอดถอนจากภาคประชาชน ส.ส.และ ส.ว. ซึ่งการวิพากษ์ก็สามารถทำได้ สมัยก่อนตนเคยได้ยินมาว่ามีบางคนยืนชี้หน้าด่าตุลาการ แต่ตุลาการเองก็ไม่สามารถทำอะไรได้เพราะไม่มีอำนาจ ก็ต้องไปยื่นเรื่องแจ้งความกันเอาเอง
ประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญกล่าวว่า ส่วนการตรวจสอบในศาลรัฐธรรมนูญนั้น ตนซึ่งเป็นประธานก็มีเพียงแค่เสียงเดียว ตุลาการทุกคนฟรีสไตล์ในการตัดสิน ไม่มีการล็อบบี้ พวกที่บอกว่ามีใบสั่งโกหกทั้งนั้น ไม่มีใครสามารถมาสั่งได้ ขณะที่การสื่อสารกับประชาชนก็จะทำให้เกิดความเข้าใจมากขึ้นเพื่อให้เกิดการตรวจสอบ แต่คำวินิจฉัยนั้นก็คงหลีกหนีโวหารที่เป็นสำนวนทางกฏหมายไม่ได้ อย่างไรก็ตามกติกาของศาลรัฐธรรมนูญมีมีข้อที่เหมือนกับศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้นคือในการตัดสินทุดคนต้องเตรียมคำวินิจฉัยส่วนตัวในประเด็นต่างๆ แต่ละคนมีความเห็นอย่างไรก็พบกันในช่วงเช้าวันพิพากษาแล้วก็เอาความเห็นมาขึ้นแท่นทำเป็นคำพิพากษาหรือคำวินิจฉันในช่วงเวลาไม่กี่ชั่วโมง ซึ่งก็ทำให้เกิดเหตุไฟลนก้น จนมีคำพิพากษาแปลกๆ ออกมา แต่ปัจจุบันได้ใช้วิธียกร่างและตรวจสอบในส่วนที่มาที่ไปของคดี ส่วนประเด็นที่มั่นใจก็ใส่เข้าไปได้เลย ขณะที่ประเด็นที่ไม่แน่ใจ เจ้าหน้าที่ก็จะยกร่างเป็น 2 แนวทางเมื่อได้ความเห็นเสียงข้างมากก็จะนำแนวทางขึ้นจอและปรับแก้ ทั้งนี้ ต้องขอความเห็นใจด้วยว่าเราก็พยายามเร่งรัดทำคดีซึ่งในขณะนี้คดีที่ค้างมาจากปี 2553 ก็ใกล้จะหมดแล้ว โดยมีบางคดีที่มีการยื่นเพื่อประวิงเวลาในคดีที่เกี่ยวข้องกันในศาลยุติธรรมด้วย
นายวสันต์ ยังกล่าวถึงศาลยุติธรรมด้วยว่า ตนยอมรับว่าในทุกองค์กรมีดีมีชั่ว ใครดีใครชั่วแม้ไม่มีหลักฐานแต่มองหน้าเขาก็รู้กัน ซึ่งคนพวกนี้มักจะไม่ได้ดี ซึ่งตุลาการนั้นอยู่ได้โดยการอบรมสั่งสอนจากบรรพตุลาการ ซึ่งต้องปราศจากอคติ ไม่ต้องการความมั่งคั่ง ถามว่าพอไหม ก็พอ อยู่ที่ว่าจะลดรายจ่ายอะไร ถ้าไม่ยินดียินร้ายต่อสิ่งเร้าก็อยู่ได้ ขณะที่ระบบในศาลยุติธรรมเป็นแบบข้าราชการประจำ มีการลงโทษแต่ไม่สามารถที่จะมาแทรกแซงหรือควบคุมการตัดสินคดีได้ อย่างไรก็ตามตนยืนยันว่ายังยึดมั่นแนวทางของนายสัญญา ธรรมศักดิ์ อดีตประธานศาลฎีกา และไม่มีรายได้อื่นนอกจากเงินเดือนเท่านั้น