ประธานวิปฝ่ายค้าน แนะรัฐทบทวนแก้ไฟใต้ สับไม่กระตือรือร้น ไร้รัฐมนตรีลงพื้นที่หลังเกิดเหตุ แนะเปิดประชุมร่วมรัฐสภา ไม่เชื่อขยายเวลาประชุมสภาหวังเคลียร์แค่กฏหมาย 32 ฉบับ คาดเร่งรัดแก้รัฐธรรมนูญ,นิรโทษกรรม ฉะปล่อยยาวไม่มีกำหนดกะทำให้เสร็จตามใบสั่ง สับกมธ.รธน.ใช้เสียงข้างมากพลิกมติ ทำเป็นประชาธิปไตยเถื่อน จวก "ปู" ใช้เวทีสภาเป็นเครื่องมือเพื่อพวกพ้อง วอนส.พระปกฯ ถอนรายงาน
วันนี้ (3 เม.ย.) ที่รัฐสภา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) แถลงถึงกรณีเหตุการณ์ระเบิดที่จังหวัดยะลา ปัตตานี และอ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าวได้สร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นแก่ประเทศอย่างมหาศาล และกระทบต่อความมั่นคง ทรัพย์สิน และเศรษฐกิจนับหมื่นล้านบาท จากการหารือของวิปฝ่ายค้าน มีความเป็นห่วงและอยากให้รัฐบาลทบทวนแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยเห็นตรงกันว่ารัฐบาลไม่มีความกระตือรือร้นในการแก้ไขปัญหาเท่าที่ควร และสิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือ เมื่อมีเหตุการณ์ความสูญเสียเกิดขึ้นจะไม่มีรัฐมนตรีลงไปดูแล ทั้งนี้ จากการแถลงนโยบายการแก้ไขปัญหาภาคใต้ในปี 2555-2557 นั้น รัฐบาลได้ระบุว่า เป็นปัญหาเฉพาะถิ่น แต่ไม่กี่วันถัดมากลับเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น ดังนั้นเพื่อให้รัฐบาลได้รับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะจาก ส.ส.และ ส.ว. เพื่อนำไปประกอบการแก้ไขปัญหา วิปฝ่ายค้านจึงเห็นว่ารัฐบาลควรเปิดให้มีการประชุมร่วมรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 179 ทั้งนี้ก็ได้มอบหมายให้ ส.ส.ในพื้นที่ภาคใต้ พรรคประชาธิปัตย์ ไปยื่นข้อเรียกร้องดังกล่าวต่อรัฐบาลในวันนี้
นายจุรินทร์กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ขยายสมัยการประชุมนิติบัญญัติออกไปอย่างไม่มีกำหนดว่า ตนไม่เชื่อว่าจะเป็นไปตามข้ออ้างของรัฐบาล ที่ระบุว่า เพื่อพิจารณากฎหมายที่ค้างอยู่ทั้ง 32 ฉบับ และเพื่อออกกฎหมายเพื่อประชาชน หรือแก้ไขปัญหาปากท้องจริงๆ แต่เชื่อว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการเร่งรัดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อรองรับการนิรโทษกรรมในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ก่อนหน้านี้วิปรัฐบาลประกาศจะขยายสมัยประชุมออกไปถึงวันที่ 1 พ.ค. แต่มติ ครม.กลับขยายออกไปอย่างไม่มีกำหนด เสมือนเป็นการตั้งเป้าจะขยายจนกว่าสิ่งที่ตัวเองต้องการจะบรรลุ เช่นเดียวกับการแก้รัฐธรรมนูญที่มีความพยายามเร่งรัดตามใบสั่ง และเป็นที่ทราบกันดีอยู่ว่าใบสั่งมาจากไหน
นายจุรินทร์กล่าวอีกว่า จากเดิมที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ. … มีการประชุมในวันพุธ-พฤหัสบดี ก็มาเพิ่มวันอังคารอีก 1 วัน และกำหนดการพิจารณาวาระ 2-3 ล่วงหน้า สะท้อนพฤติกรรมว่าเป็นการเร่งแก้รัฐธรรมนูญตามใบสั่ง ต้องตำหนิกระบวนการพิจารณาของกรรมาธิการฯ โดยเฉพาะการพลิกมติในมาตรา 291/1 โดยใช้เสียงข้างมากหักดิบ ทำให้เข้าใจเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ว่าเป็นการใช้วิธีประชาธิปไตยเถื่อนมาหักดิบ ถ้ารัฐบาลต้องการจริงๆ สามารถนำเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่เพื่อแก้ไขได้ จึงเชื่อว่าการแก้รัฐธรรมนูญจะเป็นการเร่งรัดทั้งเวลา เป้าหมาย และเนื้อหา เพื่อนำไปสู่การนิรโทษกรรม และประโยชน์ของคนบางคน อย่างไรก็ตาม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ได้แปรญัตติเอาไว้ และสงวนคำแปรญัตติไว้ทุกคนแล้ว
นายจุรินทร์ยังกล่าวต่อถึงกรณีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 4 มิ.ย.โดยมีวาระการพิจาณารายงานการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร ว่า การบรรจุวาระดังกล่าวเป็นการเร่งรีบ รวดรับเข้าสภาฯ ซึ่งสอดคล้องเป็นกระบวนการเดียวกันกับการแก้รัฐธรรมนูญ และขยายสมัยประชุมนิติบัญญัติออกไป ทั้งนี้ทราบมาว่าจะมีการเลื่อนวาระดังกล่าวขึ้นมาพิจารณา เพื่อให้สภาฯ มีมติรับรองรายงานเถื่อน มีเป้าหมายเพื่อนำไปอ้างอิงการนิรโทษกรรม
“การที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โยนทุกเรื่องให้เป็นเรื่องของสภาฯ ทำเสมือนว่าให้ความสำคัญต่อสภาฯ เพราะรู้ว่าเมื่อเข้าสภาฯ แล้วคนบางคนจะได้ประโยชน์ เนื่องจากรัฐบาลมีเสียงข้างมาก พอเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและครอบครัวก็ใช้สภาฯ เป็นเครื่องมือ แต่ประโยชน์ของประชาชน อย่างการชี้แจงกระทู้ถาม กลับหนีสภา แต่หากจะมีการเลื่อนวาระดังกล่าวขึ้นมา ทางฝ่ายค้านจะคัดค้าน รายงานเถื่อน และถ้าเสียงสู้ไม่ได้ ก็จะอภิปรายชี้ให้เห็นถึงความไม่ชอบมาพากล ผมอยากเห็นสถาบันพระปกเกล้าถอนรายงานการวิจัยออกไป และขอให้คณะกรรมาธิการปรองดองฯ ถอนรายงานการศึกษาดังกล่าวออกไปก่อน และไปจัดทำใหม่ให้เกิดความชอบธรรม” นายจุรินทร์กล่าว