“ประชา” เผยเตรียมนำนโยบายเยียวยาเหยื่อสถานการณ์ใต้ เข้า ครม.สัปดาห์หน้า แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ยันรัฐบาลใช้หลักเกณฑ์ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมวุฒิสภา วันนี้ (2 เม.ย.) ได้พิจารณากระทู้ถามด่วน เรื่อง ปัญหาหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง และจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา เป็นผู้ตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรี โดยได้มอบหมายให้ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม เป็นผู้ชี้แจงแทน
นายสมชายกล่าวว่า จากเหตุการณ์ระเบิดที่อำเภอหาดใหญ่ เป็นผลพวงมาจากการแก้ปัญหาไฟใต้ของรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องเร่งแก้ไขเรื่องดังกล่าวอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะมาตรการการเยียวยาที่ต้องจ่ายเงินถึง 7.5 ล้านบาทต่อคน ตนอยากถามว่ามาตรการดังกล่าวได้ให้ความช่วยเหลืออย่างเป็นธรรมหรือไม่ ตนไม่อยากเห็นความสูญเสียในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เป็นผลของการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐโดยตรง และอยากถามว่ามาตรการเยียวยาที่รัฐบาลดำเนินการมีความเป็นธรรมหรือไม่ และจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นได้อย่างไร
นายสมชายกล่าวว่า หลักเกณฑ์ของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) ไม่ตรองกับหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อแนวทางปรองดองแห่งชาติ (คปอ.) แต่อย่างใด โดยมีการคำนวณจากอายุของแต่ละคน โดยไม่ได้ใช้หลักเกณฑ์สหประชาชาติ ทั้งนี้จำเป็นต้องมีการค้นหาความจริงว่าสิ่งที่รัฐบาลทำถูกกฎหมายหรือไม่ เพราะไม่อยากให้ 3 จังหวัดชายใต้ภาคต้องลุกเป็นไฟ ขอให้ทบทวนมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้งหมด และมีการตั้งคณะกรรมการอิสระในการกำหนดหลักเกณฑ์ในการจ่ายเงินเยียวยาว โดยมีนายกรัฐมนตรี องค์กรอิสระ ภาคประชาชนและสังคม รวมถึงนักวิชาการร่วมแก้ปัญหา
ด้าน พล.ต.อ.ประชาชี้แจงว่า เหตุการณ์ระเบิดที่หาดใหญ่เป็นเรื่องที่สะเทือนใจมาก เชื่อว่าจะกระทบต่อจิตใจประชาชนเป็นอย่างมาก ซึ่งรัฐบาลเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปดูสถานการณ์ที่ จ.ยะลา และสงขลา ทั้งนี้ ประเด็นเรื่องการเยียวยานั้นถือเป็นเรื่องสำคัญและละเอียดอ่อน ถ้ากระทำไม่ชัดเจนและไม่ครอบคลุมจะเกิดความไม่เป็นธรรม และจะทำให้ปัญหาบานปลายได้
ทั้งนี้ นโยบายการเยียวยาในพื้นที่จังหวัดภาคใต้นั้นเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลเพื่อนำภาคใต้กลับสู่สันติสุข โดยจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการเยียวยาออกเป็น 4 กลุ่มด้วยกัน เพื่อเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ในสัปดาห์หน้า ประกอบด้วย 1. กลุ่มประชาชนทั่วไป 2. กลุ่มเจ้าหน้าที่ของรัฐ 3. กลุ่มผู้ที่ถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำ เช่น ตากใบ กรือเซะ เป็นต้น และ 4. กลุ่มที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือผู้ที่ถูกจับผิดตัวโดยไม่มีความผิด ซึ่งทั้ง 4 กลุ่มจะต้องได้รับความเป็นธรรม ทั้งนี้ยืนยันว่ารัฐบาลจะใช้หลักเกณฑ์ในการจ่ายเงินเยียวยาภายใต้มาตรฐานเดียวกัน