ประธานแก๊งแดงเพชรบุรี มือส่งอีเมลให้คนในเครือข่ายเล่นงาน “สมจิตต์” นักข่าวช่อง 7 ลอยนวล อัยการสั่งไม่ฟ้อง อ้างแค่อยู่ขั้นตระเตรียม ยังไม่ลงมือ ไม่เข่าข่ายผิด กม. เจ้าตัวขอพึ่งสภาทนายความฟ้องศาลโดยตรง หลังกระบวนการยุติธรรมตั้งต้นให้ความเป็นธรรมไม่ได้ ยันไม่คิดจองเวร “พรทิพย์” แต่หวังให้เป็นคดีตัวอย่าง หวั่นสร้างค่านิยมผิด ทำเลวได้ดี ผู้ข่มขู่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นบอร์ด ทอท.ในรัฐบาลยุคนี้ กังขาคดียุติพร้อมตระกูลชินฯ ถามนี่คือความยุติธรรมของผู้ชนะใช่หรือไม่
น.ส.สมจิตต์ นวเครือสุนทร ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ช่อง7 เปิดเผยว่า ได้รับหนังสือจากสถานีตำรวจนครบาลดุสิต ลงนามโดย พ.ต.ท.พิตตินันท์ อุทธสิงห์ รอง ผกก. ปฏิบัติราชการแทน ผกก.สน.ดุสิต แจ้งถึงความคืบหน้าในสำนวนคดีอาญาที่ 303 /2554 ที่ตนได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อ น.ส.พรทิพย์ ปักษานนท์ ประธาน นปช. หรือกลุ่มคนเสื้อแดง เพชรบุรี ในความผิดฐานทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัว หรือความตกใจโดยการขู่เข็ญ โดยทางอัยการ มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง น.ส.พรทิพย์
สำหรับเหตุผลที่พนักงานอัยการลงชื่อ นายภานุพงษ์ เจริญยิ่ง รองอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 3 ปฏิบัติราชการแทนอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 3 ระบุถึงคำวินิจฉัย ว่าผู้ต้องหาได้โพสต์ข้อความมีลักณะข่มขู่ คือคำว่า “จำหน้าหล่อนไว้นะครับเห็นที่ไหนก็จัดให้หน่อยแล้วกันนะครับ” ซึ่งมิใช่ถ้อยคำตามความหมายปกติในพจนานุกรม แต่เป็นวลีคำพูดแสลงที่พูดกันโดยทั่วไปในปัจจุบัน โดยคำว่า “จัดให้” ในกรณีคดีนี้เมื่อพิจารณาประโยคโดยรวมแล้ว สื่ความหมายถึงการใช้ความรุนแรงต่อผู้เสียหาย เนื่องจากความไม่พอใจที่ผู้เสียหายสัมภาษณ์นายกปู (ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) จนทำให้นายกฯเดินหนี แต่เนื่องจากการโพสต์ส่งข้อความของผู้ต้องหาในคดีนี้เป็นการโพสต์ในหมู่เพื่อนของผู้ต้องหาเท่านั้น มิได้ส่งข้อความถึงผู้เสียหายโดยตรง การที่ผู้เสียหายทราบข้อความดังกล่าวเนื่องจากเพื่อนมาบอก ผู้เสียหายจึงทำการสืบค้นหาด้วยตนเอง จนทราบข้อความดังกล่าว
ปัญหาที่ต้องพิจารณาต่อไปคือการที่ผู้ต้องการส่งข้อความดังกล่าวไปยังกลุ่มเพื่อนทั้ง 47 คน เป็นการลงมือกระทำความผิดต่อผู้เสียหายเพื่อให้เกิดความกลัว หรือความตกใจ โดยการขู่เข็ญแล้วหรือไม่ ในประเด็นนี้เห็นว่าความผิดตาม มาตรา 392 นี้ ผู้กระทำต้องลงมือกระทำความผิดโดยการขู่เข็ญต่อผู้อื่นแล้ว หากยังเพียงอยู่ในขั้นตระเตรียมการเพื่อกระทำความผิด ความผิดในฐานนี้ไม่มีบทบัญญัติของประมวลกฎหมายอาญาให้ผู้ตระเตรียมการต้องรับผิดทางอาญา
ซึ่งพิจารณาข้อเท็จจริงรับฟังได้ เป็นที่ยุติแล้วว่าผู้ต้องการยังมิได้ลงมือกระทำความผิดด้วยการโพสต์ข้อความขู่เข็ญส่งถึงผู้เสียหายโดยตรงหรือเล็งเห็นผลได้ว่า ข้อความที่มีลักษณะขู่เข็ญจะส่งผลถึงผู้เสียหายได้ กรณีนี้จึงยังอยู่ในขั้นตระเตรียมการโดยส่งข้อความไปถึงพวก ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความคิดเช่นเดียวกับตนเองเท่านั้น เพื่อจะได้กระทำความผิดต่อผู้เสียหายต่อไป โดยไม่คาดว่าผู้เสียหายจะรู้ข้อความดังกล่าวได้ด้วยตนเอง ผู้ต้องการยังไม่ได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหา จึงมีคำสั่งไม่ฟ้อง น.ส.พรทิพย์ในข้อหาทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัวหรือตกใจ โดยการขู่เข็ญตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 392
น.ส.สมจิตต์กล่าวว่า ในเหตุผลที่อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง โดยระบุว่าการส่งอีเมลในกลุ่มเพื่อนของ น.ส.พรทิพย์ แม้มีลักษณะเข้าข่ายการข่มขู่เพื่อให้เกิดการกระทำความผิดต่อตน แต่ความผิดยังไม่เกิดขึ้นจึงไม่เข้าข่ายที่จะมีความผิดตามกฎหมายนั้นน่าจะเป้นการตีความกฏหมายที่ยึดหลักตามลายลักษณ์อักษรมากเกินไป ทำให้กฎหมายไม่สามารถคุ้มครองความปลอดภัยให้กับประชาชนได้ตามเจตนารมณ์ของกฏหมายอาญา เพราะหากอัยการตีความเช่นนี้เท่ากับว่าตนต้องถูกลงมือทำร้ายซึ่งอาจจะเบา หรือสาหัสจนถึงชีวิตเท่านั้นถึงจะเข้าข่ายหรืออย่างไร ถ้าตีความแบบนี้กฎหมายจะคุ้มครองประชาชนได้จริงหรือ ดังนั้น ตนจะขอพึ่งทางสภาทนายความเพื่อขอคำปรึกษาในการดำเนินการฟ้อง น.ส.พรทิพย์ต่อศาลด้วยตนเอง
“การตัดสินใจเช่นนี้ไม่ใช่ต้องการจองเวรกับ น.ส.พรทิพย์ แต่เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมตั้งต้นของสังคมไทยตั้งแต่ชั้นพนักงานสอบสวน จนถึงอัยการไม่สามารถเป็นที่พึ่งให้แก่ประชาชนได้ และยังกลายเป็นการตัดตอนไม่ให้คดีขึ้นสู่ศาลเพื่อพิจารณาให้ความเป็นธรรมต่อผู้เสียหายด้วย ดังนั้น เมื่อกฎหมายเปิดช่องให้สิทธิผู้เสียหายได้ฟ้องต่อศาลด้วยตัวเองก็ขอให้สิทธิ์นี้ แม้จะรู้ดีว่าคดีดังกล่าวมีโทษไม่หนักหนา แต่ต้องการให้เป็นคดีตัวอย่างว่าคนไทยมีสิทธิ์ที่จะปกป้องตัวเองตามกฎหมาย และไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามไม่มีสิทธิที่จะละเมิดสิทธิผู้อื่นโดยเฉพาะการกระทำในลักษณะข่มขู่ชักชวนให้มีการกระทำความผิดถึงขั้นทำร้ายร่างกาย ซึ่งหากกรณีนี้ไม่มีความผิดก็จะยิ่งทำให้คนที่ไม่เคารพกฎหมายย่ามใจกระทำการที่หนักหนามากขึ้น จนทำให้การบังคับใช้กฎหมายในสังคมไทยไม่มีความหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่กระทำความผิดกลับได้รับการยกย่องเชิดชูจากรัฐบาลให้เป็นคณะกรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (บอร์ด ทอท.) หากปล่อยให้เรื่องนี้ผ่านไปจะเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ไม่ถูกต้อง ทำให้เยาวชนเข้าใจว่าทำความผิดแล้วไม่ต้องรับโทษ แต่กลับได้รางวัลเป็นกำนัลแล้วสังคมไทยจะอยู่อย่างไร”
น.ส.สมจิตต์กล่าวว่า เป็นเรื่องบังเอิญที่การสั่งไม่ฟ้องในคดีนี้มีหนังสือมาถึงตนในวันเดียวกันกับที่กรมสรรพากรยืนยันว่าไม่เก็บภาษี 1.2 หมื่นล้านจากคนในตระกูลชินวัตร และดีเอสไอ ก็มีคำสั่งยุติคดี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในคดีปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้นบริษัทชินคอร์ป ทำให้ต้องตั้งคำถามถึงผู้มีอำนาจว่า นี่คือความยุติธรรมของผู้ชนะใช่หรือไม่ ซึ่งหากกระบวนการยุติธรรมตั้งต้นภายใต้อำนาจบริหารของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นเช่นนี้ การที่สถาบันพระปกเกล้ามีข้อเสนอให้ยกเลิกคดี คตส.ทั้งหมดให้ไปดำเนินการตามกระบวนการปกติ จะสามารถเอาคนผิดมาลงโทษได้จริงหรือ