“หมอกมลพรรณ” สมาชิก สพม.พร้อมผู้เสียหาย ยื่นผู้ตรวจการแผ่นดิน สอบกราวรุด “สุรยุทธ์-ปิยสวัสดิ์” ขรก.การเมือง เจ้าหน้าที่รัฐกลุ่มพลังงาน พร้อม ปตท.รวมหัวเบียดบังผลประโยชน์ชาติเอื้อ ปตท.และ พวกพ้อง
วันนี้ (27 มี.ค.) พ.ท.พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี สมาชิกสภาพัฒนาการเมือง (สพม.) พร้อมด้วย น.อ.บัญชา รัตนาภรณ์ นายอภิเดช เดชวัฒนสกุล และ นายเรืองศักดิ์ เจริญผล ในฐานะผู้เสียหายจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ได้เดินทางมายื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายศรีราชา เจริญพานิช ผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อให้ดำเนินการตรวจ ข้าราชการการเมือง และเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและประมวลจริยธรรม ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 และ 279
พ.ท.พญ.กมลพรรณ กล่าวว่า ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบการดำเนินงานของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน รมว.พลังงาน คณะกรรมการบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ผอ.สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีต รมว.พลังงาน และ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกฯ เนื่องจากผู้ถูกร้องได้มีการกระทำดังนี้
1.ละเมิดคำสั่งศาลและใช้ทรัพย์สินของประชาชนมาแสวงหาผลประโยชน์ โดย ปตท.ถูกศาลปกครองสูงสุดสั่งให้คืนท่อก๊าซให้แก่แผ่นดิน แต่ปรากฏว่า ปตท.ไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลให้คืนท่อก๊าซที่เป็นส่วนของแผ่นดินให้กับรัฐให้หมด แต่ ปตท.กลับคืนเพียงบางส่วน อีกทั้งยังนำเอาท่อก๊าซที่เป็นทรัพย์สินของแผ่นดินไปใช้แสวงหาผลประโยชน์ โดยเรียกเก็บค่าท่อก๊าซผ่านท่อเพิ่มเติมจากเดิม ทำให้ประชาชนต้องจ่ายค่าก๊าซในราคาที่แพงกว่าเดิม
2.ผู้ถูกร้องมีการกระทำที่หมกเม็ดบิดเบือนข้อมูลต่อประชาชน เพื่อให้เข้าใจว่า ก๊าซแอลพีจีในประเทศไม่พอใช้สำหรับภาคครัวเรือนและภาคขนส่ง จึงต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้ก๊าซแอลพีจีมีราคาแพง ทั้งที่ความจริงการใช้ก๊าซแอลพีจีในภาคครัวและภาคขนส่ง มีสัดส่วนน้อยกว่าภาคปิโตรเคมี ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ ปตท.จึงมองว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ และสร้างกำไรให้กับบริษัทลูกของ ปตท.เนื่องจากมีการนำเงินของกองทุนน้ำมัน ไปอุดหนุนราคาแอลพีจี ซึ่งสร้างกำไรให้กับบริษัทเหล่านี้ เช่น บริษัท ปตท.เคมิคอล มีกำไรเพิ่มขึ้น 180 เปอร์เซ็นต์ ในไตรมาสที่ 2 ปี 54
3.เจ้าหน้าที่รัฐแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ประโยชน์แก่ผู้อื่น โดยในปี 2550 นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รมว.พลังงาน ในสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ ได้แก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม มาตรา 22 28 และ 99 ให้เอื้อแก่เอกชนและให้อำนาจ รมว.พลังงาน สามารถให้สัมปทาน ลดค่าสัมปทาน แก่เอกชนโดยไม่ผ่านความเห็นหรือการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างเป็นธรรมตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 57 58 66 67 85(4)
ดังนั้น ตนในฐานะผู้ร้องเรียนขอให้ทางผู้ตรวจการแผ่นดิน ไต่สวนข้อเท็จจริงและหากพิจารณาแล้วพบว่าผู้ถูกร้องละเมิดต่อกฎหมายจริง ให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งเรื่องไปยังคณะรัฐมนตรี รัฐบาล คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ด้าน นายศรีราชา กล่าวว่า ทางผู้ตรวจการฯ จะรับเรื่องไว้พิจารณา ซึ่งอาจจะมีการตั้งทีมพิเศษขึ้นมาตรวจสอบ เนื่องจากกรณีดังกล่าว ควรมีการให้ข้อมูลที่โปร่งใสและเป็นธรรมกับประชาชน เพราะประชาชนเป็นผู้ที่ได้รับความเสียหาย และเป็นผู้ที่ใช้พลังงานในราคาที่แพงเกินกว่าเหตุ