xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ วางพวงมาลาวีรชนทหารไทยรบศึกเกาหลี ก่อนควง กยน.ชมศูนย์ควบคุมน้ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)
“ยิ่งลักษณ์” วางพวงมาลาแผ่นจารึกทหารไทยสละชีพสงครามเกาหลี ก่อนควง กยน.ไปศูนย์ควบคุมอุทกภัยแม่น้ำฮัน กระทรวงที่ดิน คมนาคม และพาณิชยนาวี ดูวิธีจัดการน้ำในเขื่อนแบบเบ็ดเสร็จ ไปฝายอิโปดูบูรณาการน้ำ เจ้าตัวเล็งนำมาปรับใช้บริหารไทย

วันนี้ (25 มี.ค.) เวลา 08.45 น. ตามเวลาท้องถิ่น ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลีใต้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะ ได้ออกเดินทางจากโรงแรมที่พักไปยังพิพิธภัณฑ์สงครามกรุงโซล (War Memorial of Korea) เพื่อวางพวงมาลาที่แผ่นจารึกรายนามทหารไทยที่เสียชีวิตในสงครามเกาหลี โดยมีผู้อำนวยการและภัณฑารักษ์ประจำพิพิธภัณฑ์สงครามรอให้การต้อนรับ ซึ่งเมื่อเดินทางถึง นายกรัฐมนตรีวางพวงมาลา ลงนามในสมุดเยี่ยม และถ่ายรูปเป็นที่ระลึก

จากนั้น ในเวลา 09.45 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้เดินทางต่อไปยังศูนย์ควบคุมอุทกภัยแม่น้ำฮัน (River Information Center of Han River Flood Control Center) เพื่อเยี่ยมชมและรับฟังบรรยายสรุป โดยมีนายควอน โด ยอพ (Kwon Do-youp) รัฐมนตรีกระทรวงที่ดิน การขนส่ง และพาณิชย์นาวี (Ministry of Land, Transportation and Maritime Affairs) ให้การต้อนรับ เพื่อฟังบรรยายสรุปเกี่ยวกับภารกิจและบทบาทหน้าที่ของศูนย์ และพาเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการ (Control Room) ศูนย์ควบคุมอุทกภัยแม่น้ำฮัน (Han River Flood Control Office ) อยู่ภายใต้กระทรวงที่ดิน คมนาคม และพาณิชยนาวี ซึ่งศูนย์นี้มีทั้งหมด 4 แห่งในสาธารณรัฐเกาหลี มีพนักงาน 73 คน มีวัตถุประสงค์เพื่อกำกับควบคุมดูแลตลอดแม่น้ำฮัน ซึ่งเป็นแม่น้ำหลักผ่านกรุงโซล และมีเขื่อนขนาดใหญ่ 2 แห่ง และเขื่อนอเนกประสงค์อีก 10 แห่ง โดยศูนย์แห่งนี้จะทำหน้าที่ทั้งติดตามและวิเคราะห์ข้อมูลน้ำอย่างบูรณาการ มีการควบคุมเบ็ดเสร็จทั้งระบบ ณ จุดเดียว มีการบริหารจัดการระดับน้ำในเขื่อน โดยในห้องปฏิบัติการจะมีจอภาพเรดาร์สภาพอากาศ ภาพระดับน้ำบริเวณสะพานต่างๆ ระดับน้ำฝน เป็นต้น

ต่อมาเวลา 11.45 น. นายกรัฐมนตรี และคณะ ได้เดินทางไปยังฝายอิโป (Ipo-Weir) เมืองยอจู เพื่อเยี่ยมชมและรับฟังบรรยายสรุปด้านการบริหารจัดการน้ำ โดยมีนายชิม มยอง-พิล (Shim Myung-pil) รัฐมนตรีประจำสำนักงานบูรณะแม่น้ำแห่งชาติ (Minister of Office of National River Restoration) ให้การต้อนรับและบรรยายสรุปการบริหารจัดการน้ำ (the 4 Major Rivers Restoration Project) โครงการฝายอิโป รวมทั้งพาเยี่ยมชมบริเวณฝายอิโปเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำของเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นโครงการในความคิดริเริ่มของประธานาธิบดีอี มยอง บัก เพื่อบริหารจัดการน้ำ เนื่องจากเกาหลีเองเคยประสบปัญหาอุทกภัยเช่นเดียวกับไทยในหลายปีก่อน ทำให้ต้องมีการวางระบบการบริหารจัดการน้ำในประเทศใหม่หมด ซึ่งการดำเนินการโครงการนี้ ทางเกาหลีใต้เองต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ โดยให้บริษัท Korea Water Resources Corporation (K-Water) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ เป็นหน่วยงานกำกับดูแลในภาพรวม

ทั้งนี้ ฝายอิโปแห่งนี้เปิดดำเนินงานอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 22 ต.ค.54 ตั้งอยู่บนแม่น้ำฮันเหนือบริเวณอ่างเก็บน้ำอิโปในเมืองยอจู จังหวัดคยองกี ฝายอิโปสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้เกือบ 18,000 เมกะวัตต์ต่อปี หรือเทียบได้กับความสามารถในการส่งกระแสไฟฟ้าให้กับ 58,000 ครัวเรือน อีกทั้งฝายอิโปแห่งนี้ยังเป็นหนึ่งในโครงการบูรณะแม่น้ำสายหลัก 4 สาย ซึ่งประกอบไปด้วย แม่น้ำ Han แม่น้ำ Nakdong แม่น้ำ Geum และแม่น้ำ Yeongsan ซึ่งมีความยาวรวมกัน 929 กิโลเมตร ส่วนฝายอิโปมีความยาวเป็นลำดับที่สองจากฝายทั้งหมด 16 แห่ง ในเกาหลีใต้ และเคยได้รับรางวัลออกแบบยอดเยี่ยมแห่งเกาหลีใต้ การออกแบบคำนึงถึงการใช้ประโยชน์ของฝายสำหรับการสันทนาการ เช่น มีสะพานความยาว 744 เมตรสำหรับประชาชนสามารถใช้เดิน วิ่ง และขี่จักรยาน มีการประดับประติมากรรม “ไข่นกกระสา” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเขตยอจู นอกจากนี้ ที่ดินบริเวณโดยรอบ สามารถเก็บกักน้ำได้กว่า 1 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อรองรับน้ำในฤดูน้ำหลาก และช่วยแก้ปัญหาอุทกภัยได้ในระยะยาว ซึ่งการดำเนินการโครงการนี้ ทางเกาหลีใต้เองต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ โดยให้บริษัท Korea Water Resources Corporation (K-Water) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ เป็นหน่วยงานกำกับดูแลในภาพรวม

อย่างไรก็ตาม สำหรับการเยี่ยมชมในครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการ กยน.จะนำข้อมูลที่ได้รับทั้งหมดมาศึกษาและปรับใช้เพื่อวางแผนการบริหารจัดการน้ำของประเทศในระยะยาว ซึ่งประเทศไทยกำลังอยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบ เทคโนโลยีและซอฟต์แวร์ต่างๆ เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำที่ดีของแต่ละประเทศ เพื่อจะได้นำข้อดีของแต่ละประเทศมาปรับใช้และต้องคำนึงถึงความแตกต่างของภูมิประเทศและความต้องการของประชาชนในพื้นที่ด้วย ซึ่งข้อมูลที่ได้รับทั้งหมดจะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการระยะยาว ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นได้ว่า ปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในขณะนี้ จริงๆ แล้วไม่ใช่แต่ปัญหาที่เกิดกับประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น แต่นับเป็นปัญหาของภูมิภาค เห็นว่าเราควรเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน รวมถึงสร้างความร่วมมือในระดับภูมิภาคเพื่อรับกับความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
กำลังโหลดความคิดเห็น