xs
xsm
sm
md
lg

กูรูธรณีวิทยาแห่งเอเชียอาคเนย์สัมมนารับมือภัยพิบัติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกสมาคมธรณีวิทยาของพม่าขึ้นเวทีกล่าวปาฐกถาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เกี่ยวกับทรัพยากรทางธรณีวิทยาของพม่า ซึ่งมีการค้นพบอัญมณี น้ำมัน ทอง ตะกั่ว ดีบุกและแร่ธาตุสำคัญอื่นๆ ก่อนที่ศาสตร์ทางด้านธรณีวิทยาหรือโลกวิทยาจะเข้าสู่ประเทศในศตวรรษที่ 18
นักธรณีวิทยาจาก 10 ประเทศในเอเชียอาคเนย์ร่วมสัมมนารับมือภัยพิบัติภายในการประชุมทางด้านธรณีวิทยานานาชาติที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ด้านนายกสมาคมธรณีวิทยาไทยชี้ภัยพิบัติไม่มีใครสามารถทำนายเวลาที่เจาะจงได้ แต่ในอดีตโลกก็มีการเปลี่ยนแปลงเป็นปกติ หากอนาคตจะเปลี่ยนไปก็ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่อธิบายได้ด้วยศาสตร์ทางด้านธรณี

ระหว่างวันที่ 7-8 มี.ค.55 นี้นักธรณีวิทยาจาก 10 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าร่วมการประชุมทางธรณีวิทยา สินแร่ และแหล่งพลังงานของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 12 (12th Regional Congress on Geology, Mineral and Energy Resources of Southeast Asia: GEOSEA) ซึ่งประเทศไทยโดยสมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย ได้เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมดังกล่าว ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซนทรัลพลาซา ลาดพร้าว ภายใต้หัวข้อการประชุม “รู้ทันภัยพิบัติด้วยศาสตร์แห่งธรณีวิทยา” (Geoscience in Response to the Changing Earth)

ทั้งนี้ นายโชติ ตราชู ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ในฐานะที่เขาเป็นนักธรณีวิทยานั้นธรณีวิทยามีความสำคัญและจะสำคัญยิ่งขึ้นในอนาคต เป็นการศึกษาสิ่งที่เห็นในปัจจุบันและอดีต เพราะเราอยากรู้ว่าเราเป็นมาอย่างไร โลกเป็นมาอย่างไร เมื่อรู้แล้วความรู้ทางธรณีวิทยาก็สามารถบอกสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ และมีภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับธรณีวิทยาคือเรื่องแผ่นดินไหว และน้ำท่วมโลก โดยครั้งหนึ่งประเทศไทยก็เคยปกคลุมไปด้วยน้ำแข็ง และอนาคตก็อาจจะเกิดขึ้นได้

สอดคล้องความเห็นของ ดร.ทรงภพ พลจันทร์ นายกสมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทยที่กล่าวว่า เมื่อ 10,000 ปีก่อนปากน้ำอยู่ที่ จ.นครสวรรค์ และกรุงเทพฯ ก็เป็นทะเล ซึ่งหากจะเป็นเช่นนั้นอีกคงไม่ใช่เรื่องเป็นไปไม่ได้ และเมื่อ 180 ล้านปีก่อนประเทศอินเดียเคยอยู่บริเวณขั้วโลกใต้ ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจึงเป็นเหตุการณ์ปกติ โลกมีการเคลื่อนตัวตลอดเวลา อย่างเกาะสุมาตราก็มีการมุดตัวของเปลือกโลกตลอดเวลาปีละ 6-7 เซนติเมตร แต่ก็ไม่มีใครทำนายได้ว่าภัยพิบัติแผ่นดินไหวจะเกิดขึ้นในปีใดอย่างแน่ชัด

พร้อมกันนี้ ดร.ทรงภพในฐานะอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงทรัพฯ ด้วยนั้นได้กล่าวถึงทรัพยากรสำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่า ในด้านพลังงานนั้นทรัพยากรที่มีสูงสุดคือถ่านหิน โดยในอินโดนีเซียมี 2-3 หมื่นล้านตัน ซึ่งในการประชุมวิชาการครั้งนีก็จะหารือกันว่าจะแบ่งปันและแลกเปลี่ยนกันอย่างไร ส่วนน้ำมันนั้นในภูมิภาคนี้มีไม่มากนัก พร้อมทั้งเปรียบเทียบวาในอดีตมีแหล่งปิโตรเลียมใหญ่อยู่มาก แต่ปัจจุบันเหลือเพียงแหล่งเล็กๆ ที่ต้องอาศัยความรู้ของนักธรณีมากขึ้นเพื่อนำน้ำมันเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์

สำหรับการประชุมวิชาการดังกล่าวนี้จัดขึ้นทุกๆ 3 ปี และ 10 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ มาเลเซีย อินโดนีเซีย พม่า กัมพูชา เป็นต้น จะเวียนกันเป็นเจ้าภาพ โดยประเด็นในการหารือครั้งล่าสุดนี้จะเกี่ยวข้องกับนวัตกรรมทางธรณีวิทยาในปัจจุบัน ทรัพยากรธรรมชาติเฉพาะถิ่น และความเกี่ยวโยงทางธรณีศาสตร์ต่อการเปลี่ยนแปลงโลก โดมีการประชุม 2 หัวข้อย่อย ได้แก่ ธรณีวิทยาและทรัพยากรทางธรณี กับสิ่งแวดล้อมทางธรณีวิทยาและภัยอันตรายจากทางธรณีวิทยา
บรรยากาศงานประชุมวิชาการ
ดร.ทรงภพ พลจันทร์
นายโชติ ตราชู
กำลังโหลดความคิดเห็น