สมช.เตรียมเสนอนโยบายแก้ไฟใต้ 3 ปี เข้าสภา “วิเชียร” เผยแนวทางใช้ “การเมืองนำการทหาร” ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายของสภาความมั่นคงแห่งชาติ ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน จะเสนอนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 3 ปี ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) นำเสนอรัฐสภาเพื่อทราบ ในวันนี้ (21 มี.ค.) เพื่อการนำเสนอวุฒิสภาต่อไป โดยได้จัดทำเอกสารนโยบายให้สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 1,200 เล่ม และสำนักเลขาธิการรัฐสภา จำนวน 500 เล่ม เพื่อนำเสนอสภาผู้แทนราษฎรทราบ สำหรับสาระสำคัญของนโยบายประกอบด้วยวัตถุประสงค์ 9 ข้อ และนโยบาย 34 ข้อ
เลขาฯ สมช.กล่าวว่า เมื่อรัฐสภารับทราบนโยบายฯ แล้ว สมช.จะได้จัดเวทีชี้แจงนโยบายฯ เพื่อขับเคลื่อน คือ เวทีในพื้นที่ในส่วนกลาง และเวทีเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวข้องโดยตรง เช่น กระทรวงยุติธรรม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงศึกษาธิการ เป็นต้น พร้อมกับการขับเคลื่อนนโยบายผ่านเวทีภาคประชาสังคม ภาควิชาการ ภาคการเมือง และภาคประชาชน ทั้งในพื้นที่ สังคมใหญ่ และในต่างประเทศ โดยจะจัดแปลเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาอาหรับ ภาษามลายู อักขระ อาหรับ และโรมัน หลังจากนั้นจะมีการบูรณาการโดยผ่านยุทธศาสตร์ของแต่ละหน่วยงาน และการติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่องภายใต้กรอบนโยบายฯ
สำหรับนโยบายดังกล่าวจะเน้นการเมืองนำการทหาร และเศรษฐกิจพอเพียง โดยเห็นว่า นโยบายฯ ฉบับนี้ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า ให้ดำรงนโยบายการเมืองนำการทหารและการใช้พลังทางสังคมในการมุ่งปรับเปลี่ยนทัศนคติวิธีคิดของทุกฝ่ายจากการใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหามาสู่การยึดมั่นแนวทางสันติวิธี โดยไม่มองกลุ่มผู้เห็นต่างเป็นศัตรู และมุ่งปรับเปลี่ยนแนวทางการต่อสู้ของกลุ่มที่เลือกใช้ความรุนแรงมาเลือกใช้การต่อสู้ด้วยแนวทางสันติ แทนที่การมุ่งปรับความคิด ความเชื่อ ในเชิงอุดมการณ์เพียงอย่างเดียว
พล.ต.อ.วิเชียรกล่าวว่า นโยบายการเมืองนำการทหาร จึงให้ความสำคัญกับเรื่องดังต่อไปนี้ 1. การยึดมั่นแนวทางสันติวิธี ในการแก้ไขปัญหา โดยไม่ใช้แนวทางการใช้ความรุนแรง 2. การมุ่งปรับเปลี่ยนแนวทางการต่อสู้ ของกลุ่มที่เลือกใช้ความรุนแรงมาเลือกใช้การต่อสู้ด้วยแนวทางสันติ และ 3. การสร้างความโปร่งใส และความเชื่อมั่นในการดำเนินกระบวนการยุติธรรม ตามหลักนิติธรรม และหลักสิทธิมนุษยชนให้เป็นที่พึ่งของประชาชน และขจัดเงื่อนไขความไม่ยุติธรรมทุกรูปแบบ
4. การเสริมสร้างการมีส่วนของทุกภาคส่วน ในการดูแล และปกป้องทุกวิถีชีวิต และทุกศาสนา วัฒนธรรม ด้วยการเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนบนพื้นฐานของความไว้วางใจซึ่งกันและกัน เพื่อนำมาเป็นพลังสร้างสรรค์ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่อย่างแท้จริง และ 5. การสร้างสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมและเอื้อต่อการพูดคุยในการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้ง และการให้หลักประกันในการเข้ามามีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกระบวนการสันติภาพ
สำหรับประเด็นสำคัญ คือ การใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวทางในการส่งเสริมให้ประชาชน สามารถดำรงชีวิตตามวิถีและวัฒนธรรมของตนเอง มีรายได้ที่เพียงพอ มีมาตรฐานการครองชีพที่เท่าเทียมกับพื้นที่อื่นของประเทศ โดยการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในทุกระดับ มีการกระจาย แหล่งเงินทุนให้กับชุมชนผ่านระบบธนาคารและกลุ่มออมทรัพย์ที่ประชาชนเลือกใช้และเน้นน้ำหนักโครงการที่มาจากการริเริ่มของประชาชนและชุมชน ตลอดจนส่วนเสริมการลงทุนของภาคเอกชนในสาขาที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชนและต้นทุนทางสังคม