xs
xsm
sm
md
lg

“สื่อทางเลือกชายแดนใต้” ความคาดหวังบนพื้นที่กลางสันติภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ
โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)

สื่อมวลชนถือว่ามีบทบาทสำคัญทั้งอยู่ในฐานะผู้ร่วมดับ หรือยิ่งโหมไฟความขัดแย้ง ซึ่ง ผศ.ดร.Isak Svensson อาจารย์ภาควิชาการวิจัยสันติภาพและความขัดแย้ง มหาวิทยาลัยอุปซาลา ประเทศสวีเดน อธิบายว่า สื่อเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่จะคลี่คลายความขัดแย้งเข้าสู่กระบวนการสันติภาพได้โดยนำเสนอข่าวอธิบายสถานการณ์ที่ดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง กำลังไปถึงไหนและมีแนวโน้มอย่างไร ไม่ใช่แค่นำเสนอข่าวสถานการณ์รายวันซ้ำๆ

“ส่วนหนึ่งของสงครามในยูโกสลาเวีย มาจากนักข่าวที่นำเสนอข่าวเอียงไปฝ่ายรัฐ เป็นการผลิตซ้ำความรุนแรง ให้กลายเป็นความชอบธรรมในการทำลายฝ่ายตรงข้ามรัฐ”

เป็นการยกตัวอย่างการนำเสนอของสื่อที่โหมไฟสงคราม ของ ผศ.ดร.Isak ในระหว่างการเสวนา “พลังสื่อและการแปรความขัดแย้ง” ในงานวันสื่อทางเลือกชายแดนใต้ ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2555 ที่คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

วันสื่อทางเลือกชายแดนใต้ ซึ่งถูกจัดขึ้นครั้งแรกในปี 2554 เป็นการรวมตัวของเครือข่ายสื่อภาคประชาสังคมเพื่อมุ่งผสานสื่อทุกรูปแบบ ทั้งงานข่าว งานเขียนสารคดีและวรรณกรรม งานวิดีโอ งานภาพถ่าย งานละคร งานวิทยุ รวมถึงสื่ออื่นๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อการร่วมกันแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ร่วมกัน

นายมูฮำหมัด ดือราแม ผู้ช่วยบรรณาธิการโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ถ่ายทอดประสบการณ์ให้ฟังว่า จากการที่เขาลงพื้นที่ทำข่าวพบว่าชาวบ้าน โดยเฉพาะผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาความไม่สงบที่เชื่อว่า รัฐเป็นผู้ก่อเหตุหวาดระแวงต่อสื่อมวลชน โดยเชื่อว่า สื่อเป็นเครื่องมือของรัฐ จึงเป็นหน้าที่ของสื่อมวลชนที่ต้องวางบทบาทให้คนเข้าใจว่า สื่อคือพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ซึ่งการลงไปทำข่าวในฝ่ายชาวบ้าน เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ชาวบ้านเห็นการทำงานของสื่อและเข้าใจสื่อมากขึ้น

“ด้วยเหตุนี้โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้จึงมุ่งฝึกคนในพื้นที่ ซึ่งเข้าใจปัญหาให้ทำข่าวอย่างมืออาชีพ ให้ความสำคัญกับเนื้อหาและนำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีพลังพอที่สามารถแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้” นายมูฮำหมัด เชื่อ

สำหรับ นายตูแวดานียา มือรืองิง ผู้อำนวยการสำนักข่าวอามาน บอกเล่าถึงเรื่องที่เพิ่งพบเจอสดๆ ร้อนๆ กรณี 4 ศพ ที่ตำบลปูโละปุโย อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ว่า ในช่วงเช้าหลังวันเกิดเหตุเขาถูกชาวบ้านซักถามว่าทำไมถึงออกข่าวว่าชาวบ้านที่ตายเป็นโจรใต้ เขาปฏิเสธและบอกว่าเป็นการนำเสนอของนักข่าวอื่นที่ลงพื้นที่ในช่วงกลางคืนหลังเกิดเหตุกับทหารหรือเปล่า
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ร่วมโต๊ะรับประทานอาหารและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
“มีเพื่อนผู้สื่อข่าว 2 คน ถูกเด็กในหมู่บ้าน 20 คนล้อมไว้ และตำหนิว่า นำเสนอข่าวว่าชาวบ้านเป็นโจรใต้ได้อย่างไร ทั้งที่ชาวบ้านจะไปละหมาดศพ จนผมต้องอธิบายให้เด็กเข้าใจว่าบางทีนักข่าวในพื้นที่ส่งข่าวไปที่สำนักข่าว แต่ถูกบรรณาธิการสำนักข่าวที่กรุงเทพมหานครเปลี่ยนไปนำเสนออีกอย่างหนึ่ง” นายตูแวดานียา ถ่ายทอดประสบการณ์

ขณะที่ นายมูฮำหมัดซอเร่ เด็ง ผู้ริเริ่มก่อตั้งกลุ่มบินตังโฟโต้ และเป็นสมาชิกเครือข่ายช่างภาพชายแดนใต้ แสดงความเห็นว่า การเขียนข่าว การทำวิดีโอ การทำวิทยุ เขาเชื่อว่าเป็นเรื่องยากในการฝึกฝนให้เป็น แต่ถ้าเป็นภาพถ่ายเขาเชื่อว่าทุกคนมีกล้องถ่ายรูป สามารถถ่ายรูปง่ายๆ นำมาสื่อให้คนนอกพื้นได้เห็น

“ภาพๆ เดียวสามารถสื่อสารเรื่องราวต่างๆ ได้มาก เช่น ปัญหาสาธารณะต่างๆ ขนบธรรมเนียบมวัฒนธรรมพื้นบ้าน รวมถึงอาหารการกินนำมาซึ่งการแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างกัน เรามีแนวคิดจะทำธนาคารภาพถ่าย หรือพัฒนาไปเป็นพิพิธภัณฑ์ภาพถ่ายชายแดนใต้ในอนาคต เพื่อสื่อให้คนนอกพื้นที่ได้รับรู้และเข้าใจผ่านภาพถ่ายมากขึ้น” นายมูฮำหมัดซอเร่ อธิบายถึงแนวคิด

สำหรับ นายนิฟูอัด บาซาลาฮา นักจัดรายการวิทยุชุมชนร่วมด้วยช่วยกันสลาตันปัตตานี ภาคภาษามลายู เล่าให้ฟังว่า เมื่อปี 2548 เขาได้ตัดสินใจรับจัดรายการวิทยุกับสำนักข่าว INN ทั้งที่เขาเป็นอุซตาซปอเนาะ แต่เล็งเห็นว่าหากเป็นสื่อก็สามารถร่วมแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ได้ ซึ่งต่อมาก็กลายเป็นตัวประสานงานระหว่างชาวบ้านที่ยังขาดสาธารณูปโภคกับหน่วยงานต่างๆ ได้มาก

“มีชาวบ้านโทรศัพท์เข้ารายการมาหาผมว่า ไฟฟ้า น้ำประปา ยังเข้าไม่ถึงบ้าน จนต้องทำให้ผมต้องประสานงานกับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น เพื่ออำนวยความสะดวกให้ชาวบ้าน บางคนโทรศัพท์มาพูดคุยเรื่องปัญหายาเสพติดในพื้นที่ด้วย” นายนิฟูอัด เล่า

ทางด้าน นายสมเกียรติ จันทรสีมา ผู้อำนวยการสำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ สถานีโทรทัศน์ Thai PBS ซึ่งมีนักข่าวพลเมืองจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แสดงความเห็นว่า นับแต่ปี 2547 ได้เกิดสื่อทางเลือกขึ้น คือสำนักข่าวประชาไท ศูนย์ข่าวอิศรา ตามด้วยนักข่าวพลเมืองของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ทำให้สามารถเปิดพื้นที่สื่อด้วยการนำเสนอประวัติศาสตร์รัฐปัตตานี การกระจายอำนาจ และเรื่องต้องห้ามหลายๆ เรื่องสื่อสารต่อสาธารณะได้

นางสาวนวลน้อย ธรรมเสถียร อดีตผู้สื่อข่าวบีบีซีภาคภาษาไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ผลิตสื่อไฟน์ทูนโปรดักชั่น แสดงความเห็นว่า สื่อส่วนกลางจะไม่ใช่ตัวอย่างที่ดีนักสำหรับคำว่าสื่อมืออาชีพ

“แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การนำเสนอข่าวของสื่อทางเลือกชายแดนใต้ก็ต้องนำเสนอข้อมูลที่มีที่มา มีแหล่งอ้างอิง ไม่ใช่กุข่าวขึ้นมานำเสนอ ซึ่งจะเป็นการซ้ำเติมเหตุการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยิ่งขึ้น” นางสาวนวลน้อย ย้ำถึงการนำเสนอของสื่อทางเลือกชายแดนใต้

สอดคล้องกับคำกล่าวในงานเลี้ยงช่วงหัวค่ำของคืวันที่ 12 มีนาคม 2555 ของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ที่ว่า รัฐได้ทุ่มงบประมาณไปกับสื่อกระแสหลักทั้งช่อง 11 ช่อง 9 รวมทั้งสื่ออื่นๆ เพื่อสื่อสารเรื่องราวในจังหวัดชายแดนใต้ ทำความเข้าใจกับคนในและนอกพื้นที่ ทว่าไม่ได้ผลในการลดความรุนแรงแต่อย่างใด

“ศอ.บต.ต้องติดตามข่าวสารจากสื่อทางเลือกที่สะท้อนความคิดเห็นที่หลากหลาย รวมถึงความต้องการของคนในพื้นที่ เรามีจุดยืนเดียวกับท่าน เราขอเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความสงบสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเราต้องร่วมกันสร้างมีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน” พ.ต.อ.ทวี พูดกับผู้ร่วมงาน

รวมถึงคำพูดปิดงานวันสื่อทางเลือกชายแดนใต้ของ นายประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ในเวลาบ่ายโมง

“ผมหวังว่า เครือข่ายสื่อทางเลือกชายแดนใต้ จะช่วยกันสะท้อนปัญหานำเสนอออกสู่สาธารณะเพื่อเติมเต็มสื่อกระแสหลักที่ยังขาดความรอบด้านอีกหลายแง่มุม เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาความไม่สงบของจังหวัดชายแดนใต้” ท่ามกลางการปรบมือรับอย่างเกรียวกราวจากผู้ร่วมงาน
กำลังโหลดความคิดเห็น