รัฐมนตรีต่างประเทศแจงที่ประชุมวุฒิสภา เผยมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อประเทศมุสลิม รวมทั้งอิสราเอล พยายามรักษาสมดุล วางตัวเป็นกลาง ยึดสิทธิมนุษยชนและกฎบัตรยูเอ็นเป็นหลัก หนุนแก้ปัญหาโดยสันติวิธี ลั่นเหตุระเบิด 3 จุดย่านสุขุมวิท 71 ไม่มีประเทศไหนแนะให้เลี่ยงเดินทางเข้าไทย ส่วนการชี้แจงสื่อนอกใช้วิธีออกข่าวสารนิเทศ ประสานตำรวจดูแลความปลอดภัย
วันนี้ (19 มี.ค.) ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา สมัยสามัญนิติบัญญัติ ครั้งที่ 18 ที่มีนายนิคม ไวยรัชพาณิช รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 ทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุม โดยนายสุธรรม พันธุศักดิ์ ส.ว.สรรหา ตั้งกระทู้ถามด่วนเรื่องนโยบายการต่างประเทศในการแก้ไขสถานการณ์จากเหตุการณ์ระเบิด 3 จุด ย่านสุขุมวิท 71 โดยนายสุธรรมกล่าวว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ประเทศถูกลดความเชื่อมั่นในด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก และมีสถานทูต 14 ประเทศออกประกาศเตือนพลเรือนของเขาในการเดินเข้าประเทศไทย อย่างไรก็ตาม คนในชาติก็เกิดความรู้สึกหวาดระแวงในชีวิตและทรัพย์สิน และมีความกังวลต่อเความมั่นคง
นายสุธรรมกล่าวต่อว่า ส่วนของนักโทษชาวอิหร่านบางส่วนได้ถูกจับกุมแล้ว บางส่วนได้หนีไปประเทศมาเลเซีย ซึ่งขณะนี้ก็ยังไมได้ส่งตัวมาดำเนินคดีในประเทศไทย จึงอยากถามไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ว่ามีนโยบายการทูตในโลกอิสลามอย่างไร เพื่อแสดงจุดยืนให้เห็นว่าประเทศไทยไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความขัดแย้งของทั้ง 2 ประเทศ แล้วในส่วนนโบายเศรษฐกิจ ความมั่นคง และการท่องเที่ยวนั้นเป็นอย่างไร นอกจากนั้นยังต้องการทราบว่ามีประเทศใดบ้างที่ยกเลิกประกาศแจ้งเตือนพลเรือนของเขาแล้ว คำถามสุดท้าย คือ จากมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว ทำให้เป็นช่องทางที่คนร้ายจะสามารถหลบหนีเข้ามาเพื่อวางแผนก่อการร้าย ตรงนี้มีมาตรการอย่างไรเพื่อเป็นการปิดช่องโหว่
นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศมุสลิมทุกประเทศ และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศอิสราเอล ขณะนี้ไทยมีความพยายามที่จะรักษาความสมดุลระหว่างประเทศอิสราเอลกับประเทศมุสลิม และสหรัฐอเมริกา และไทยสามารถวางตัวเป็นกลางในเหตุการณ์ความขัดแย้งต่างๆ โดยไทยจะไม่เข้าไปสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ที่สำคัญได้ยึดหลักการสิทธิมนุษยชน และยึดหลักกฏบัตรของสหประชาชาติเป็นหลัก นอกจากนี้ ประเทศไทยยังประนามการก่อการร้ายและการใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาทุกรูปแบบ ในทางตรงกันข้าม ไทยกลับสนับสนุนการแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี ซึ่งได้ยึดมั่นมาโดยตลอดผ่านวิถีทางการทูต สำหรับกรณีดังกล่าว กระทรวงต่างประเทศประสานไปยังหน่วยงานความมั่นคงอย่างใกล้ชิดเพื่อให้การดำเนินการเกี่ยวกับรูปคดีเป็นไปอย่างระมัดระวังรัดกุม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวเพิ่มเติมว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าวไม่มีประเทศใดหรือเขตเศรษฐกิจใดที่แนะนำให้คนในชาติหลีกเลี่ยงเดินทางมากรุงเทพแต่อย่างใด พูดง่ายๆ คือ 14 ประเทศ กับ 2 เขตเศรษฐกิจไม่ได้ประกาศห้ามคนในชาติมาท่องเที่ยวประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าวอยู่ในความสนใจของสาธารณชนทั้งในและนอกประเทศ และได้มีการพูดถึงเบื้องหลังของเหตุกาาณ์ที่เกิดขึ้น ดังนั้น ทางกระทรวงการต่างประเทศได้เตรียมข้อมูลเพื่อชี้แจงไปยังสถานเอกอัครราชทูต และสถานกงสุลใหญ่ทั่วโลกเพื่อให้การให้ข้อมูลของฝ่ายไทยเป็นไปอย่างถูกต้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ในส่วนของการชี้แจงต่อสื่อต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศได้ออกข่าวสารนิเทศเพื่อให้ข้อมูลเและข้อเท็จจริงรวมถึงกระบวนการของไทยในการควบคุมสถานการณ์ เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อความมั่นคง เศรษฐกิจและการท่องเที่ยว
“กระทรวงการต่างประเทศได้กำชับให้สถานเอกอัครราชทูต และคณะผู้แทนถาวรสถานกงสุลใหญ่ และสำนักงานเศรษฐกิจการค้าไทยทั่วโลก เพิ่มความระมัดระวังตรวจตราชาวต่างชาติเพิ่มเติมได้สั่งการไปแล้วเมื่อเดือนมกราคม 2555 นอกจากนั้น กระทรวงการต่างประเทศยังประสานไปที่หน่วยงานด้านความมั่นคง และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อรักษาความปลอดภัยสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการรวมตัวของนักท่องเที่ยวชาวต่างขาติ โดยมีการประชาสัมพันธ์ถึงมาตรการรักษาความปลอดภัยเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่น ส่วนประเด็นที่มีผู้มีอิทธิพลในสถานที่ท่องเที่ยวจะได้มีการประสานไปยังตำรวจท่องเที่ยวและตำรวจตรวจคนเข้าเมืองเพื่อทำเรื่องนี้ให้ชัดเจนต่อไป” นายสุรพงษ์กล่าว