“ผู้นำฝ่ายค้าน” เผยหอการค้าญี่ปุ่นห่วงกองทุนประกันภัยที่ต่ำเกินไป และนโยบายพลังงานที่ยังสับสน ชี้นักลงทุนรายใหม่ยุ่นเข้าไทยเพิ่มเป็นตามแผนการลงทุนเดิม เตือนรัฐบาล “ปู” อย่าประมาทนักลงทุนย้ายฐานผลิตหนีไปประเทศเพื่อนบ้าน
วันนี้ (13 มี.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวภายหลังการเข้าพบผู้บริหารหอการค้าญี่ปุ่นว่า เป็นการแลกเปลี่ยนภายหลังที่รัฐบาลและตนไปเยือนญี่ปุ่น ซึ่งในภาพรวมญี่ปุ่นเห็นความตั้งใจในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมแต่ยังมีรายละเอียดบางเรื่องที่ญี่ปุ่นติดตามอย่างใกล้ชิด เช่น กองทุนประกันภัยที่ยังรู้สึกว่า การประกันภัยที่ครอบคลุมร้อยละ 30 เป็นสัดส่วนที่ต่ำเกินไป แต่ตรงนี้ก็เข้าใจว่ามีข้อจำกัดของรัฐบาลในเรื่องวงเงินที่จะดูแล ซึ่งนอกจากปัญหาน้ำท่วมญี่ปุ่นก็ยังติดตามประเด็นนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับต้นทุนโดยเฉพาะนโยบายพลังงานที่ยังไม่ชัดเจน รัฐบาลต้องเร่งคิดเพื่อสร้างความชัดเจนว่า นโยบายของรัฐบาลจะกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของนักลงทุนหรือไม่ นอกเหนือจากนโยบายค่าแรง 300 บาท
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า นักลงทุนต้องการให้รัฐบาลเพิ่มสัดส่วนกองทุนประกันจากร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 50 ขึ้นไป โดยในขณะนี้ตนกำลังติดตามแนวทางของรัฐบาลที่ยังมีคำถามว่า ภาคเอกชนจะเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างไร เพราะกลายเป็นว่ารัฐบาลที่มีมติคณะรัฐมนตรีว่า หากมีความเสียหายเกินกว่ากองทุนจะแบกรับ รัฐบาลจะเข้าไปรับผิดชอบทั้งหมดแต่เงื่อนไขนี้ก็ไม่ได้เป็นคำตอบที่จะสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน เพราะนักลงทุนแต่ละรายก็มีเงื่อนไขแตกต่างกัน จึงมองในเรื่องของสัดส่วนกองทุนมากกว่า ทั้งนี้ หอการค้าญี่ปุ่นก็บอกว่าสำนักงานใหญ่ที่ญี่ปุ่นคงมีคำถามในเรื่องนี้ ตนจึงอยากให้รัฐบาลมองในภาพรวมว่า ช่วยดูแลไม่ไห้ต้นทุนสูงขึ้นทั้งในเรื่องประกันภัย แรงงานและพลังงาน เพราะจะกระทบต่อการตัดสินใจในอนาคตเกี่ยวกับการขยายการลงทุน
ส่วนกรณีที่นายกฯ กลับมาจากญี่ปุ่นและระบุว่าประสบความสำเร็จเนื่องจากมีนักลงทุนรายใหม่เกิดขึ้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า การขอรับการส่งเสริมการลงทุนในบางอุตสาหกรรมเป็นแผนเดิมอยู่แล้ว ดูได้จากตัวเลขที่ปรากฏเป็นข่าวก่อนหน้านี้ ดังนั้น รัฐบาลควรมองให้ไกลกว่าเรื่องนี้ โดยต้่องพิจารณาการขยายฐานการผลิตเป็นอย่างไร เช่น กรณีอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เป็นจุดแข็งของประเทศไทย แต่นับวันประเทศอินโดนิเซียเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวมากขึ้น ดังนั้นการพิจารณต้นทุนเป็นเรื่องสำคัญ ตนจึงไม่คิดว่าการลงทุนจะเกิดขึ้นหลังนายกฯ กล่าวอ้าง เพราะคงไม่มีนักธุรกิจตัดสินใจลงทุนโดยพิจารณาจากการเดินทางไป 2-3 วันของนายกฯ นอกจากจะเป็นแผนการลงทุนที่มีอยู่แล้ว ทั้งนี้ สิ่งที่ตนเป็นห่วงคือ การย้ายฐานผลิตเพราะหลายอุตสาหกรรมก็ไม่ได้อยากย้ายเนื่องจากมีความมั่นใจในประเทศไทย แต่รัฐบาลจะตายใจโดยไม่ทำอะไรไม่ได้ ซึ่งรัฐบาลต้องไปดูในสิ่งที่หอการค้าญี่ปุ่นตั้งข้อสังเกตมาเพราะปัญหาอันดับหนึ่งของประชาชน คือ ค่าครองชีพ และต้นทุนในการดำรงชีวิตสูงขึ้น แต่การขยายการลงทุนในวันข้างหน้าหากนโยบายของรัฐไปเพิ่มต้นทุนก็อาจจะกระทบในส่วนนี้ เพราะปัญหาน้ำท่วมไม่ใช่เรื่องเดียวในการพิจารณาลงทุน โดยในขณะนี้ก็เริ่มมีการขยายไปที่ภาคตะวันออกบ้างแล้ว
นายอภิสิทธิ์กล่าวด้วยว่า นโยบายพลังงานถูกตั้งคำถามมากเพราะเหตุผลไม่ชัด โดยรัฐบาลไม่สามารถตอบได้ว่าจะเอาอย่างไรกับกองทุนน้ำมัน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนตร์ในการส่งเสิรมการลงทุนจะเชื่อมโยงกับนโยบายพลังงานด้วย ดังนั้นหากยังสับสนกระทบแน่ ซึ่งหอการค้าญี่ปุ่นอยากให้พรรคประชาธิปัตย์ติดตามเพื่อให้ได้ความชัดเจนในเรื่องนโยบายพลังงาน และกองทุนประกันภัย