ผ่าประเด็นร้อน
นายวัฒนา เมืองสุข ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ปักธงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กรณีเสนอยุบศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญ ดูเหมือนว่าจะโบกสะบัดพลิ้วไหวอยู่ได้เพียงแค่วันเดียว ก่อนจะโดนถล่มจนธงทำท่าว่าจะหักปักต่อไม่ไหว เพราะแรงต้านมาจากทุกทิศทุกทาง
กระทั่งรัฐบาล 15 ล้านเสียงที่มั่นใจว่ารากฐานมั่นคง ยังอดหวั่นไหวไม่ได้ ดาหน้าออกมาปฏิเสธรายวัน แต่จนแล้วจนรอดเมื่อเสียงต้านขอหลักประกันให้กำหนดกรอบครอบคลุมในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ว่า
การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ของสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. จะไม่แตะต้องหมวดพระมหากษัตริย์ ไม่กระทบองค์กรอิสระและศาล รวมทั้งไม่เอื้อประโยชน์ทางคดีให้นักโทษ กลับไม่มีฝ่ายรัฐบาลรายใดเด้งรับแม้แต่รายเดียว
ยกเว้นกรณีหมวดสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเพิ่งได้บทท่องจำใหม่ให้มาพูดต่อสาธารณะเป็นครั้งแรกว่า จะไม่แก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และไม่แตะหมวดสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่พอถามถึงศาลและองค์กรอิสระ นายกฯนกแก้วก็โบ้ยง่ายๆ ว่าเป็นเรื่องของสภาซะงั้น
ท่าทีเช่นนี้ย่อมแสดงว่า ทั้งศาลและองค์กรอิสระยังอยู่ในภาวะลูกผีลูกคน สุ่มเสี่ยงที่จะถูก “รัฐธรรมนูญฉบับคนเมา” เขี่ยทิ้งได้โดยง่าย
แต่ปมประเด็นนี้ก็ยังต้องบอกว่าสู้กันอีกหลายยก ใครคิดจะเปลี่ยนโครงสร้างระบบถ่วงดุลคงไม่ง่ายเหมือนพลิกฝ่ามือ เพราะมีระบบตรวจสอบตั้งแต่ผู้ตรวจการแผ่นดินที่ตั้ง 10 อรหันต์มาศึกษารัฐธรรมนูญ 50 คู่ขนานไปกับการร่างรัฐธรรมนูญของ ส.ส.ร.
ยังมีศาลยุติธรรม ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลปกครอง ที่จับจ้องเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด
รวมถึงพรรคประชาธิปัตย์ กลุ่มสยามประชาวัฒน์ สยามสามัคคี และกลุ่มเสื้อหลากสี ที่เกาะติดการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ต้นก็คงไม่ปล่อยผ่านไปง่ายๆ
สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากกว่า คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นที่จะเอื้อประโยขน์ในทางธุรกิจรวมถึงการริดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชน ซึ่งอาจถูก รัฐธรรมนูญฉบับขี้เมาปล้นไปต่อหน้าต่อตาต่างหากที่น่าเป็นห่วง
นายวัฒนา หยิบรัฐธรรมนูญหลายมาตรามาเป็นตัวอย่างว่าควรยกเลิก โดยรวมถึงมาตรา 67 วรรค 2 ด้วย ซึ่งต้องบอกว่า หากรัฐบาลไพร่ยกเลิกสองมาตรานี้เท่ากับรัฐบาลปล้นสิทธิชุมชนที่จะมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะ ถอยหลังเข้าคลองเพิ่มอำนาจฝ่ายบริหารกำหนดนโยบายตามใจชอบโดยไม่ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชน
เป็นการปล้นสิทธิชุมชนโดยผู้แทนปวงชนอย่างน่าละอายยิ่ง
มาตรา 67 วรรค 2 ตามรัฐธรรมนูญปี 50 อยู่ในส่วนที่ 12 ว่าด้วยสิทธิชุมชน บัญญัติไว้ว่า “การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน รวมทั้งได้ให้องค์กรอิสระซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศีกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม หรือทรัพยากรธรรมชาติ หรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว
สิทธิชุมชนที่จะฟ้องหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคลเพื่อให้การปฏิบัตหน้าที่ตามบทบัญญัตินี้ย่อมได้รับความคุ้มครอง”
รัฐธรรมนูญมาตรานี้ ทำให้สิทธิชุมชนได้รับความุค้มครองตามรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรก และมีผลในทางปฏิบัติให้เห็นมาแล้วหลายกรณี
คดีที่ส่งผลสะเทือนต่อภาคอุตสาหกรรมจนทำให้รัฐบาลอภิสิทธิ์กำหนดทิศทางการลงทุนใหม่ ว่าต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หลังศาลปกครองมีคำสั่งระงับการดำเนินโครงการอุตสาหกรรม 76 โครงการที่มาบตาพุด จนกว่าจะมีการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรค 2
รัฐบาลในขณะนั้นมีการตั้งคณะกรรมการสี่ฝ่ายมาร่วมกันแก้ไขปัญหา เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายที่จะส่งผลกระทบต่อชุมชนโดยตรงเพื่อร่วมกันหาทางออก เป็นปรากฏการณ์สำคัญที่สิทธิชุมชนได้รับความคุ้มครองตามัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง มิได้เป็นเพียงแค่สิทธิบนหน้ากระดาษอีกต่อไป
แต่รัฐบาลไพร่ที่อ้างว่ามาจากประชาชน 15 ล้านเสียง กำลังจะปล้นสิทธิชุมชนจากคนไทยไปแบบหน้าด้านๆ
ความจริงก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจเพราะรัฐบาลที่ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี แสดงเจตจำนงมาตั้งแต่ต้นว่าไม่สนใจรัฐธรรมนูญมาตรานี้ โดยอาศัยช่วงชุลมุนที่คนไทยจมน้ำค่อนประเทศปล่อยกฎหมายสำคัญจำนวนมากตกไปไม่ยอมยืนยันภายใน 60 วันตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด และเลือกที่จะยืนยันกฎหมายค้างการพิจารณาเพียง 24 ฉบับจากทั้งหมด 295 ฉบับ ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นกฎหมายมะโนสาเร่ที่ไม่สลักสำคัญอันใดนักต่อการส่งผลในเชิงปฏิปประเทศลดความเหลื่อมล้ำในสังคม แม้จะมีเสียงท้วงติงจาก คณิต ณ นคร ประธาน คกก.ปฏิรูปกฎหมาย ที่เสนอให้ยืนยันกฎหมายสำคัญ 26 ฉบับ ซึ่งรวมถึงร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ อันเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรค 2 ด้วย
นั่นหมายถึงว่า รัฐบาลไพร่ที่ยิ่งลักษณ์ทำตาม “ใบสั่ง” ของพี่ชายนักโทษ มีแผนมาตั้งแต่ต้นที่จะยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรานี้ เพราะเป็นอุปสรรคต่อเมกะโปรเจกต์ของรัฐบาลที่เตรียมละเลงงบมหาศาลนับล้านล้านบาทในหลายโครงการว่าด้วยการป้องกันน้ำท่วม
สิทธิชุมชนจึงกลายเป็นปัญหาที่รัฐบาลไพร่ต้องขจัดทิ้งโดยด่วน ไม่อย่างนั้น การถมเทะเลตามนโยบายนักโทษที่จะทำให้ปลาทูสูญพันธุ์ก็คงไม่มีวันเกิดขึ้นได้
เพราะเป็นโครงการที่ไม่เพียงแต่กระทบต่อสิทธิชุมชน วิถีชาวบ้านเท่านั้น ยังกระทบต่อระบบนิเวศน์อย่างรุนแรงอีกด้วย โดยผู้คิดโครงการที่มุ่งแต่จะใช้เงินจำนวนมหาศาลยังไม่สามารถให้คำตอบได้ว่าการถมทะเลสร้างเขื่อนกั้นน้ำทะเลป้องกันน้ำท่วม กทม. จนกระแสน้้ำทะเลเปลี่ยนทิศทางจะมีหลักประกันอะไรว่า จะไม่สร้างปัญหากับพื้นที่อื่นที่อาจได้รับผลกระทบจากกระแสน้ำทะเลที่เปลี่ยนทิศทางไปเพราะฝีมือของรัฐบาล
ดูเหมือนว่าวิถีชีวิตของชาวประมงที่อาจต้องสูญสิ้นอาชีพจากนโยบายนี้ จะไม่เป็นประเด็นที่นักโทษชายให้ความสำคัญแต่อย่างใด ถึงขนาดประกาศกลางเวทีแดงที่โบนันซ่าว่า ติดต่อกับประเทศจีนเรียบร้อยแล้วและจะสร้างเสร็จภายใน 3 ปีครึ่ง
จึงเชื่อได้ว่า สิ่งที่นายวัฒนาพูดว่าจะยกเลิกมาตรา 67 วรรค 2 นั้น ไม่ใช่ความเห็นส่วนตัวของเขยซีพีอย่างแน่นอน แต่เป็นไปตามสูตร ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ ยิ่งลักษณ์ท่อง. หากใครขัดขวางก็จะถูกป้ายสีว่าเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ
ที่น่าจับตา คือ การผลักดันโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมใหญ่ที่ชะลอไว้ตั้งแต่ยุคที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยประกาศชัดเจนว่าไม่สนับสนุนให้มีอุตสาหกรรมหนักในพื้นที่ดังกล่าว เพราะจะกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาลไพร่จะทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม
อีกไม่นานเราอาจได้เห็นการนำวัตถุดิบแร่มาถลุงเหล็ก ส่วนสิ่งแวดล้อมและวิถีชุมชนจะเป็นอย่างไรไม่เห็นต้องแคร์
ที่กล่าวมาทั้งหมดไม่ใช่เกิดจากจินตนาการ แต่อยู่บนพื้นฐานข้อมูลและพฤติกรรมของรัฐบาล
ถ้าสังคมไม่ตื่นตัวต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ไม่เพียงแต่โครงสร้างการปกครองระบบการถ่วงดุลจะได้รับผลกระทบ นักโทษจะพ้นคดีเท่านั้น
แต่สิทธิชุมชนที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญจะถูกรัฐบาลโจรปล้น ไปส่งส่วยให้ทุนสามานย์ด้วย