xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ชายแดนไทยสภาฯ ถกเครียดยกเลิกกฎอัยการศึก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กมธ.ชายแดนไทยสภาฯ ถกเลิกประกาศกฎอัยการศึก พร้อมรับประชาคมอาเซียน ด้านทหารย้อนกลับไม่ยกเลิกก็ไม่กระทบ เศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว “สามารถ” จ้องทำหนังสือขอมติ รมว.กลาโหม-เลขาฯ สมช.เพื่อใช้พิจารณาทบทวนเลิกประกาศกฎอัยการศึกหรือไม่

วันนี้ (29 ก.พ.) ที่ห้อง 220 อาคารรัฐสภา 2 ในการประชุมคณะกรรมาธิการกิจการชายแดนไทย สภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายสามารถ มะลูลีม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธานฯ โดยมีวาระพิจารณาเรื่องการขอให้ดำเนินการเร่งรัดพิจารณายกเลิกการประกาศกฎอัยการศึก ในพื้นที่ที่กำหนดในแต่ละจังหวัด โดยได้เชิญตัวแทนจากสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และกระทรวงกลาโหม

โดย พล.ต.ปิยะ ครุฑเวโช ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธสาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ชี้แจงว่า ต้องยอมรับว่าภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่ทางทหารเผชิญมีอยู่หลากหลายมาก เช่น การละเมิดพระบรมเดชานุภาพ การก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ความแตกแยกของคนในชาติ การก่อการร้ายสากล อาชญากรรมข้ามชาติ เช่น ปัญหายาเสพติด รวมทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ โรคระบาด และปัญหาภัยพิบัติ ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องให้ความสำคัญและเตรียมความพร้อมไว้ตลอดเวลา ส่วนการที่มองว่าสถานการณ์รอบด้านของประเทศไทยดีขึ้น แต่ยังมีการประกาศกฎอัยการศึกอยู่ในสภาพที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนาประเทศนั้น มองว่าขณะนี้ยังมีความตึงเครียดกับต่างประเทศอยู่ และแม้ปัญหาจะคลี่คลายลงบ้าง จนน่าจะส่งผลดีต่อการใช้กำลังตามแนวชายแดนแล้วก็ตาม แต่ก็ต้องใช้เวลาเช่นกัน ซึ่งคิดว่าในอนาคตอันใกล้ น่าจะมีการทบทวนเรื่องการประกาศกฎอัยการศึกอีกครั้ง รวมถึงความจำเป็นในการใช้กำลังนั้นก็อาจจะมีการลดกำลังลง ประกอบกับการทำตามข้อเสนอแนะของสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ ซึ่งจะมีช่วงระยะเวลาเหมาะสมกับเรื่องนี้ด้วย

ด้าน นายกษิต ภิรมย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ กล่าวว่า ทหารต้องแก้ปัญหาด้วยการแก้ไขข่าวกรอง เพราะถือเป็นจุดที่อ่อนแอ รวมทั้งทางด้านทหารพรานที่อยู่ตามแนวชายแดน ก็ต้องมีนายทหารที่มีความเป็นมืออาชีพ ชั้นสัญญาบัตรขึ้นไป ดูแลพื้นที่โดยรวม ซึ่งตามแนวชายแดนจะใช้ทหารพรานที่มีลักษณะกึ่งทหารกึ่งพลเรือนไม่ได้ เพราะไม่ได้ต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์ อีกทั้งไม่สอดคล้องกับยุคสมัยนี้ โดยอีก 3 ปีตนก็ไม่ทราบว่าจะแก้ไขปัญหาประชาคมอาเซียนได้อย่างไร หากยังมีความเป็นรัฐของทหารอยู่

ขณะที่ พ.อ.รังสฤษฏ์ นาคเมือง รองผู้อำนวยการกองยุทธการ กรมยุทธการทหารบก กองทัพบก กล่าวว่า การดูแลตามแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย ที่เริ่มตั้งแต่สมัยที่นายกษิตเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศนั้น การปฏิบัติของทหารไทย ค่อนข้างเป็นไปได้ด้วยดี แต่มาเลเซีย จากเดิมที่วางกำลังตำรวจตามแนวตะเข็บ แต่เมื่อมีการลาดตระเวนร่วมกันเกิดขึ้น มาเลเซียก็เปลี่ยนกำลังเป็นทหารตรวจร่วมกับไทย ส่วนกรณีที่มองว่าควรสร้างความเชื่อใจกับประเทศเพื่อนบ้านนั้น เห็นว่าเรื่องความเท่าเทียมก็มีผลอย่างมาก จึงยังเป็นเรื่องที่ทหารคิดว่าจะทำอย่างไรให้อาเซียนดำเนินไปได้ด้วยดี ทั้งนี้ การที่คณะกรรมาธิการเห็นว่าควรยกเลิกการประกาศกฎอัยการศึก เพื่อรักษาความเป็นไทยนั้น ทางทหารเห็นว่าเท่าที่เราทราบกันดีเศรษฐกิจของไทยดีขึ้นได้ เพราะการท่องเที่ยว ดังนั้น เห็นได้ว่ากฎที่ใช้อยู่ไม่มีผลกระทบในระหว่างที่ยังมีการประกาศอยู่ ซึ่งการที่ทหารยังคงรักษากฎเหล่านี้ก็เพื่อป้องกันและปราบปรามการรุกล้ำอาณาเขตเท่านั้น

ด้าน นายประวัฒน์ อุตโมท ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ กล่าวว่า คณะกรรมาธิการฯ กลับเห็นว่าอยากให้มีการยกเลิกการประกาศกฎอัยการศึก ในพื้นที่ที่ควรยกเลิกให้มีการประกาศใช้ลดน้อยลง แต่ก็เข้าใจว่าทางทหารในฐานะรั้วของชาติก็อยากคงไว้เพื่อป้องกันประเทศ อย่างไรก็ตาม พวกตนยังอาจต้องทำหนังสือไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และเลขาธิการ สมช. เพื่อให้มีการทบทวนการประกาศกฎอัยการศึกและขอให้ยกเลิกเช่นกัน แม้จะทำงานขนานกัน โดยที่ฝ่ายหนึ่งก็สร้างความเจริญให้กับประเทศ อีกฝ่ายก็ทำเพื่อป้องกันประเทศ แต่สุดท้ายก็รักประเทศเหมือนกัน จึงต้องยึดตามแนวทางของแต่ละฝ่ายที่เห็นว่าการมี พ.ร.บ.ความมั่นคง อยู่แล้วก็น่าจะเพียงพอที่จะปกป้องประเทศ ทั้งนี้ นายสามารถกล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯ จะต้องมีการหารือเพื่อขอมติก่อน ในการส่งหนังสือไปยังรัฐมนตรีมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และเลขาธิการ สมช.
กำลังโหลดความคิดเห็น