โฆษกพันธมิตรฯ ยินดีมวลชนหลายกลุ่มแสดงพลังต่อต้านแก้ไข รธน.แต่ พธม.ขอกำหนดทิศทางชัดเจน 10 มี.ค.นี้ ก่อนเคลื่อนพลังมวลชนครั้งใหญ่ ย้ำ หากเคลื่อนต้องเข้า 2 เงื่อนไข ฟอกผิดนักการเมือง-กระทบสถาบันฯ และต้องเคลื่อนเพื่อเปลี่ยนโครงสร้างทั้งระบบ ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของพรรคการเมืองใด
เช้าวันนี้ (28 ก.พ.) นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ “ยามเช้าริมเจ้าพระยา” ทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเอเอสทีวี ถึงกรณีการเคลื่อนไหวคัดค้านการแก้ไขรัฐรรมนูญโดยกลุ่มต่างๆ ซึ่งล่าสุด นายประสาร มฤคพิทักษ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา และเป็นสมาชิกกลุ่มสยามสามัคคี ได้นัดหมายรวมตัวกันที่สวนลุมพินี ในวันศุกร์ที่ 2 มี.ค.นี้ และกล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะเป็นการเรียกแขกที่เคยกระจัดกระจายให้กลับมารวมตัวกัน ไม่ว่าจะเป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ตลอดจนกลุ่มพลังประชาธิปไตยต่างๆ จะยกระดับการต่อสู้เป็นการผนึกกำลังเป็นแนวร่วมใหญ่ โดย นายปานเทพ กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกที่การเคลื่อนไหวของประชาชน ที่ไม่ใช่แค่กลุ่มสยามสามัคคี และกลุ่มเสื้อหลากสี แต่ประชาชนหลายกลุ่มมีสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมด้วยกลุ่มของตัวเองอยู่แล้ว ไม่จำเป็นเลยที่พันธมิตรฯ จะออกมาเคลื่อนไหวเป็นการผูกขาดการชุมนุมทุกประเภท และถ้าพันธมิตรฯ ออกมาชุมนุมเมื่อไหร่ ก็ดูเหมือนจะกลบบทบาทของกลุ่มต่างๆ ให้ลดลงไปในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ดังนั้น เราจึงไม่จำเป็นจะต้องออกไปในช่วงเวลาที่มีประชาชนมีโอกาสเคลื่อนตัวในกลุ่มของเขาเอง ต้องเข้าใจว่า ในพันธมิตรฯ เองมีทั้งคนชอบและไม่ชอบ ดังนั้น การที่เราอยู่นิ่งเฉยส่วนหนึ่งมีข้อดีทำให้ประชาชนที่อาจจะไม่ชอบพันธมิตรฯ แต่ต้องการเคลื่อนไหวทางการเมืองมีโอกาสเคลื่อนไหวได้ในกลุ่มต่างๆ มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา เรากลับพบว่ายังไม่มีกลุ่มไหนเลยที่มีพลังอำนาจในเชิงการชุมนุมเทียบเท่าพันธมิตรฯ ถึงแม้ว่า พันธมิตรฯ จะนิ่งเฉยมานานมากแล้วก็ตาม ถ้าจะเทียบกันก่อนหน้านี้เราจะพบว่าสถานการณ์ทางการเมือง จะเห็นว่า หลายกลุ่มที่พยายามออกมาเคลื่อนไหวเหล่านั้นก็จะมีลักษณะของการเป็นกลุ่มผู้ชุมนุมที่สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งน่าสังเกตว่า พรรคประชาธิปัตย์มีคะแนนเสียงเลือกตั้ง 11-12 ล้านเสียง แต่มีประชาชนที่มาสนับสนุนหรือมาชุมนุมในลักษณะต่อต้านรัฐบาลพรรคเพื่อไทยน้อยมาก ทำให้ไม่สามารถที่จะนำเป็นมวลชนหลักได้ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา และตนเห็นว่า ทำให้พลังของพันธมิตรฯ เองก็ยังมีความจำเป็นอยู่ในสังคมไทย เนื่องจากยังไม่มีใครอยู่ในภาวะที่นำมวลชนได้จริงในทางปฏิบัติ
“ไม่ได้เป็นการยกยอตัวเอง แต่ต้องการที่จะทำความเข้าใจว่า ที่ผ่านมา เราไม่พยายามที่จะนำมวลชนแม้แต่การนำของกลุ่มต่างๆ เลย แต่ว่าประชาชนกลุ่มต่างๆ ก็ยังไม่สามารถที่จะเป็นแกนนำหลักได้ในทางปฏิบัติ สังเกตได้จาก หนึ่ง จำนวนมวลชนที่มาชุมนุม และสอง ที่สำคัญก็คือ ในช่วงระยะเวลาที่เราสังเกต แม้ว่านอกจากจำนวนมวลชนที่เกิดปรากฏแล้ว อาจจะเป็นเรื่องรองในลักษณะของการชุมนุมที่หลายกลุ่มยังไม่พร้อมการชุมนุมแบบปักหลักพักค้าง ยืนหยัดยาวนาน ส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะของการชุมนุมในช่วงเย็นวันใดวันหนึ่ง แล้วเลิกเอาในช่วงหัวค่ำแล้วก็ยุติกลับบ้าน หรือแม้กระทั่งไปยื่นหนังสือประท้วง เป็นต้น ซึ่งจากประสบการณ์ที่เราชุมนุมมาระยะเวลาหลายปี เราพบว่า วิธีการดังกล่าวเป็นวิธีการที่ไม่ประสบความสำเร็จในลักษณะที่นักการเมืองมีวิวัฒนาการ หรือพัฒนาการในการรับมือกับผู้ชุมนุมมากแล้ว” นายปานเทพ กล่าว
โฆษกพันธมิตรฯ กล่าวต่อว่า สังเกตได้ว่า กลุ่มพรรครัฐบาลเองจะให้ความสำคัญ ให้น้ำหนักหรือออกมาต่อต้านรุนแรง หรือกล่าวถึงในกรณีของพันธมิตรฯ มากกว่ากลุ่มอื่นๆ โดยเฉพาะแม้กระทั่งที่พันธมิตรฯ แค่ประกาศว่าจะประชุม ยังไม่ถึงขั้นชุมนุมก็ยังเกิดแรงต้านในทางสาธารณะอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย หรือแม้กระทั่ง นปช.ไปจนถึงลักษณะของขบวนการพยายามที่จะจัดผู้ชุมนุมมาปิดถนนบางแห่ง จากแหล่งข่าวที่ได้รับทราบเพื่อมาสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้สนับสนุนรัฐธรรมนูญ รัฐบาลชุดนี้หรือกลุ่มที่ต่อต้านต่างก็เห็นความสำคัญของมวลชนพันธมิตรฯ อยู่ อย่างไรก็ตาม ตนอยากจะกล่าวว่าในช่วงระยะเวลานี้เรายังไม่จำเป็นต้องออกไปชุมนุม จนกว่าจะมีความชัดเจนอะไรหลายอย่างมากขึ้น สาเหตุก็เพราะประการที่หนึ่ง ได้ผูกมัดตัวเองอยู่แล้วกับพี่น้องประชาชนว่า เราจะออกมาชุมนุมก็ต่อเมื่อเงื่อนไขสองอย่างชัดเจนที่ประจักษ์ คือ การมีกระบวนการจาบจ้วงหรือล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างชัดเจน เอาแค่กระบวนการเริ่มต้นเราคิดว่าถ้ายังไม่ชัดก็ยังไม่ถึงขั้นการชุมนุม หรือสังคมจัดการกันเองได้ เราก็ยังไม่มีความจำเป็นต้องชุมนุม เพราะถ้าเราชุมนุมพร่ำเพรื่อ หรือมีจำนวนประชาชนน้อย อำนาจต่อรองหรือพลังอำนาจมวลชนจะถูกดูแคลน ปรามาส และนำไปสู่กระบวนการในการที่จะเหิมเกริมของฝ่ายนักการเมืองได้ ประการที่สองที่มีความสำคัญ คือ ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ขบวนการใดๆ ก็ตามที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การนิรโทษกรรม พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และผู้ต้องหาหนีคดีอาญาแผ่นดิน อันนี้เราประกาศชัดเจนสองประการนี้ ถ้าสถานการณ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือการออกกฎหมายปรองดองเราก็เชื่อว่าจะต้องนำไปสู่ขั้นตอนในการนิรโทษกรรมให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ อยู่ดี
“ดังนั้น ถ้าพันธมิตรฯ เคลื่อนไหวก่อน ประชาชนยังรู้ไม่มากพอหรือว่ายังไม่มั่นใจ เราก็จะทำให้เกิดกระบวนการทำให้ไม่เกิดเอกภาพในการเคลื่อนไหวที่มีพลังมากพอ การทำให้เกิดกระบวนการดังกล่าวได้จะต้องมีจังหวะที่พอดี คือ หนึ่ง มีระยะเวลาที่สุกงอมพอ แต่กระบวนการสุกงอมก็ต้องทำให้ไม่เกิดกระบวนการที่สายเกินแก้แล้ว อย่างไรก็ตาม ผมอยากจะตั้งข้อสังเกตว่า ในช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาจะมีฝ่ายที่สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายมวลชนอยู่ในขณะนี้ ซึ่งก็ไม่ผิดเพราะว่ามวลชนที่สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์บางส่วนอาจจะเลือกพรรคประชาธิปัตย์ เพราะว่ามีความชื่นชอบเป็นการส่วนตัว บางส่วนก็ไม่ได้ชื่นชอบคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หรือพรรคประชาธิปัตย์ มากเท่าไหร่ แต่จำเป็นต้องเลือกเพราะว่าดีกว่าพรรคเพื่อไทยมา บางคนคิดอย่างนี้ก็มี ดังนั้นแสดงว่าสังคมส่วนใหญ่ยังไม่ตกผลึกว่าระบบรัฐสภาเป็นระบบที่ไม่ประสบความสำเร็จ” นายปานเทพ กล่าว
นายปานเทพ กล่าวต่อว่า สังคมส่วนใหญ่ผ่านระบบการเลือกตั้งแล้ว ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ตกผลึก ก็ยิ่งชัดเจนและแสดงให้เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังเชื่อมั่นในระบบรัฐสภา โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายอภิสิทธิ์ได้เคยให้สัมภาษณ์เอาไว้หลายครั้งว่า ขอให้ทุกคนเชื่อมั่นในระบบรัฐสภา ขอให้ทุกคนมั่นใจว่า จะไม่มีขบวนการในการที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์จะจัดผู้ชุมนุมมาร่วมชุมนุม หรือจัดขบวนการต่างๆ เพื่อมาล้มพรรคเพื่อไทย และย้ำว่ากระบวนการดังกล่าวขอให้คน 500 คนเป็นคนแก้ไข ซึ่งถ้าสังคมยังเชื่อมั่นในระบบรัฐสภาอยู่ ก็แสดงว่าเขาเชื่อมั่นในระบบนี้ แสดงว่าสังคมส่วนใหญ่ยังไม่สุกงอม แล้วก็พร้อมที่จะเชื่อมั่นในระบบรัฐสภา ซึ่งวันนี้พิสูจน์มาแล้ว 399 เสียง ซึ่งชนะการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 1 ชัดเจน และทิ้งขาดกับคะแนนเสียงของพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งไม่มีทางที่จะชนะได้เลยแต่สังคมจะรู้หรือไม่ว่ากระบวนการเหล่านี้ เป็นกระบวนการที่ส่งเสริมและสร้างความชอบธรรมให้กับอำนาจรัฐบาลมากขึ้น ถ้าสังคมตระหนักและเห็นด้วยแล้วว่าเราจะปล่อยแบบนี้ไม่ได้ เช่น เราจะปล่อยให้พรรคโค่นพรรคเพื่อไทย หรือว่าหยุดการแก้ไขรัฐธรรมนูญเฉยๆ แล้วก็ปล่อยให้เขาบริหารประเทศ ก็จะทำให้กระบวนการอำนาจไม่เปลี่ยน และยังคงอยู่ในมือระบอบทักษิณอยู่ดี
ดังนั้น ถ้ามีการเคลื่อนไหวเฉพาะแค่บางประเด็น ยกเว้นสองเรื่องที่เราประกาศ เราเห็นว่า ภาคประชาชนกลุ่มอื่นๆ ที่อาจสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ไปเคลื่อนไหวได้ตามสิทธิเสรีภาพ หรือแม้ประชาชนกลุ่มอื่นก็สามารถเคลื่อนไหวได้ แต่เราเห็นว่าไม่ใช่ทางออก เพราะว่ากระบวนการดังกล่าวก็จะนำไปสู่สถานภาพปัจจุบัน คือ นักการเมืองเหิมเกริมในอำนาจอยู่ดี เสียงข้างมากก็จะชนะตลอดกาล เสียงฝ่ายค้านก็จะแพ้ตลอดสมัย ภายใต้โครงสร้างที่เป็นอยู่เป็นปัญหา ซึ่งเราก็ต้องรอเวลาให้สังคมมีความรู้สึกอึดอัด และมีความจำเป็นที่จะรู้สึกเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ถ้าเราอดทนสำเร็จ ไม่เข้าร่วมกับขบวนการใดขบวนการหนึ่ง สังคมก็จะตื่นรู้ได้ว่าอาจจะเรียกร้องหรืออยากให้พันธมิตรฯ เคลื่อนไหว ก็ต้องกลับมาพูดคุยกันในเงื่อนไขตรงกันว่า พันธมิตรฯ จะเคลื่อนไหวในสองประเด็นนี้เท่านั้น พ้นจากสองเรื่องนี้แล้ว ต้องเป็นขบวนการที่ประชาชนต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทั้งระบบ ไม่ใช่เพื่อเอาชนะพรรคเพื่อไทยให้อีกขั้วหนึ่ง คือพรรคประชาธิปัตย์มาเป็นรัฐบาล หรือเกิดกระบวนการรัฐประหารแล้วให้คณะรัฐประหารเสพสุขในอำนาจ สามารถสืบทอดอำนาจ หรือแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน โดยปราศจากการปฏิรูป ซึ่งเป็นกระบวนการที่พันธมิตรฯ จะต้องมีจุดยืนยัดเจน
“หากกลุ่มใดยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องเหล่านี้ หรือไม่ชัดเจนถึงกระบวนการที่นำไปสู่เป้าหมายสุดท้ายว่าต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทั้งระบบ ผมคิดว่า พันธมิตรฯ ยังไม่ควรจะเข้าร่วม ยิ่งถ้าไม่เข้าร่วมก็หมายความว่า ถ้ากลุ่มนั้นหรือกลุ่มใดๆ ก็ตามเคลื่อนไหวแล้วมีพลังมาก ก็แสดงว่าสังคมยอมรับกับระบบที่เขากำลังต่อสู้อยู่ ก็คือ ต่อต้านพรรคเพื่อไทยเท่านั้น ผลลัพธ์จะเป็นพรรคประชาธิปัตย์หรือว่าจะเป็นอะไรก็สุดแท้แต่ก็จะเป็นเป้าหมายอีกของคนกลุ่มเหล่านั้น ซึ่งพันธมิตรฯ เห็นว่าการเคลื่อนลักษณะนี้จำเป็นจะต้องมีวัตถุประสงค์ชัดเจน ถ้าไม่ชัดเจนก็ไม่เป็นไร ก็หมายถึงทุกฝ่ายก็สามารถที่จะเคลื่อนไหวตามลักษณะขององค์กรหรือการเคลื่อนไหวในแต่ละองค์กรได้ และข้อสำคัญก็คือว่า ผมคิดว่าพันธมิตรฯ ยังคงไม่ควรเข้าร่วมกับกระบวนการใส่ร้ายพันธมิตรฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกล่าวหาต่างๆ ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาว่า พันธมิตรฯ เองรับเงินคุณทักษิณ ทั้งๆ ที่กระบวนการเอเอสทีวีตรวจสอบรัฐบาลอย่างเข้มข้น แล้วก็ตรวจสอบฝ่ายค้านด้วย เช่นเดียวกันกับขบวนการถึงขนาดปล่อยข่าวลือ คนบางคนขึ้นเวทีคนบางกลุ่ม แล้วก็บอกว่าเอเอสทีวีถูกซื้อไปแล้วบ้าง แล้วก็จะมีการเทกโอเวอร์ในเดือนพฤษภาคม นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย จะมาจัดรายการทางเอเอสทีวี กระบวนการเหล่านี้เป็นกระบวนการที่พันธมิตรฯ ไม่ควรที่จะไปสนับสนุน เพราะว่ายิ่งสนับสนุนก็ยิ่งเป็นการส่งเสริมการเคลื่อนตัวในลักษณะของการกล้าใช้ข้อมูลอันเป็นเท็จได้” นายปานเทพ กล่าว
โฆษกพันธมิตรฯ กล่าวอีกว่า เมื่อทุกคนตระหนักเราจึงจำเป็นต้องรอ เพื่อให้ทุกคนตกผลึกท่ามสถานการณ์ที่เรานั่งอยู่บนภูเราก็ให้ข้อมูลประชาชนให้รู้ว่าการเมืองมันล้มเหลวอย่างไร รัฐบาลล้มเหลวอย่างไร ฝ่ายค้านล้มเหลวอย่างไร ระบบมันไปไม่ได้ด้วยเพราะอะไร ถ้าสังคมเห็นพ้องต้องกันก็ต้องประกาศจุดยืนว่าจะต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทั้งระบบ มายืนอยู่บนภูให้เพิ่มมากขึ้น แต่ถ้าสู้ในประเด็นแล้วกลับมาสู่สถานภาพปัจจุบันอีก ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง สมมติว่าไม่มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 บางกลุ่มที่เคลื่อนไหวไขแบบนั้น หรือกระบวนการในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สมมติว่า ต่อสู้สำเร็จแล้วประเทศกลับมาเหมือนเดิมเหมือนในปัจจุบันนี้ ตนคิดว่าไม่ใช่ชัยชนะที่แท้จริง เราทดลองการต่อสู้ทั้งการคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องของอธิปไตยของชาติ เรื่องของพลังงาน ก็ใช้กระบวนการยุติธรรมต่อสู้มาโดยตลอด จะเห็นชัดเจนว่า วิวัฒนาการต่อสู้ทำให้เราเรียนรู้ว่านักการเมืองขั้วไหนก็ตามไม่เป็นความหวังทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้าน รัฐบาล แม้กระทั่งคณะรัฐประหาร ดังนั้น ในเวลานี้จึงเป็นไปในลักษณะไม่เกิดกระบวนการใดกระบวนการหนึ่งที่จะนำมวลชนได้เลย ยังมีมวลชนอยู่ในพันธมิตรฯ อยู่ ส่วนกลุ่มอื่นๆ ยังไม่สามารถปลักหลักพักค้าง ยืนหยัดอยู่ยาวนานได้ ทำให้ฝ่ายการเมืองที่รับมือกับม็อบได้ไม่หวั่นไหวต่อการชุมนุมแบบชั่วครั้งชั่วคราวแบบนั้นเลย เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้เราจึงเฝ้าระวัง เฝ้ามองยืนอยู่บนภู แต่เปิดเผยความจริงให้มากที่สุด ถ้าสังคมมีความรู้สึกเรียกร้องเหมือนๆ กันว่าพันธมิตรฯ ต้องออกมาได้แล้วเราจะรับสัญญาณนั้นชัดเจนมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้คนที่เรียกร้องให้พันธมิตรฯ ออกมาส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนเคยเป็นพันธมิตรฯ ที่อาจจะไปสังกัดกลุ่มต่างๆ มากขึ้น บางคนก็อาจจะเร่าร้อนมากจนไม่เข้าใจยุทธศาสตร์ เพราะถ้าเราไม่เคลื่อนแล้วรู้สึกทุกคนพึ่งพาพันธมิตรฯ ในอนาคต ผมคิดว่าอำนาจที่จะประกาศจุดยืนชัดเจนว่า ถ้าการเคลื่อนนั้นเราต้องเคลื่อนด้วยเหตุผลอะไร มันก็ทำให้เรามีน้ำหนักในการที่จะไม่ก่อให้เกิดกระบวนการตีกิน สองฝ่ายทะเลาะกัน ทหารรัฐประหาร บอกว่าทั้งสองฝ่ายเป็นปัญหา อย่างนี้เราคงไม่เคลื่อนสู่จุดนั้น หรือบทเรียนที่ว่าเคลื่อนไปแล้วคนสองฝ่ายทะเลาะกัน รัฐบาลประชาธิปัตย์ขึ้นสู่อำนาจบอกเรามาแก้ไขปัญหานี้ เพราะฉะนั้นเราต้องวางตัวเป็นกลาง และดำเนินการกระบวนการลงโทษทั้งพันธมิตรฯ กลับมาลงโทษ เสื้อแดงกลับมาลงโทษ ดำเนินคดีความ ทั้งๆ ที่เขาโดนรังแกคือแยกแยะไม่ได้ อันนี้จะเห็นได้ว่าเป็นกระบวนการที่ไม่เป็นธรรมสำหรับภาคประชาชนที่เคลื่อนไหวเช่นเดียวกัน เราจึงจะต้องสร้างสถานภาพของเราเองให้ชัดเจน ถ้ามีกลุ่มใดเคลื่อนไหวในลักษณะของการนำมวลชนของตัวเองได้ เราก็ยินดี เท่ากับเป็นการส่งเสริมว่ามีมวลชนกลุ่มใหม่เกิดขึ้นแล้ว เขาสามารถนำมวลชนได้แล้ว ในลักษณะของความเชื่อของเขา เช่น เชื่อมั่นในระบบรัฐสภา เชื่อมั่นในรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ก็ปล่อยให้เขาเคลื่อน ก็แสดงว่า สังคมยังพร้อมที่จะเรียนรู้ในระบบรัฐสภาต่อไป แต่ถ้าสังคมมีความรู้สึกว่าจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เหมือนอย่างเช่นกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ที่เขามีความคิดอย่างนี้ อันนี้เราก็หนุนเต็มที่เลยว่าถ้าอย่างนั้นเราก็เห็นด้วยกับกระบวนทัศน์เหล่านั้น คือคิดมองข้ามในบริบทที่ใหญ่กว่าการคัดค้านแค่เป็นบางประเด็น
“ดังนั้น พันธมิตรฯ จึงยังไม่เข้าร่วมกับการชุมนุมของกลุ่มไหนเลย เป็นตัวของตัวเอง มีเป้าหมายของตัวเองชัดเจน ถ้าใครคิดเหมือนกันว่าเราคัดค้านกระบวนการลดโครงสร้างของพระราชอำนาจ คัดค้านการนิรโทษกรรม และถ้าเคลื่อนมวลชนที่ใหญ่กว่านั้นต้องมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทั้งระบบ ถ้าใครเห็นด้วยกับระบบนี้เราก็จะมีการประชุมกันวันที่ 10 มี.ค. แต่ถ้าใครไม่เห็นด้วยก็มีสิทธิเสรีภาพที่จะเข้าร่วมการชุมนุมกลุ่มอื่น และถ้าการชุมนุมกลุ่มอื่นสามารถนำมวลชนได้ในสิ่งที่ตัวเองคาดหวัง เราก็ยินดีด้วย ก็ถือว่ามีประชาชนกลุ่มใหม่ๆ เกิดขึ้นแล้ว แต่ของเราในฐานะที่เรามีต้นทุนของประชาชนที่เสียชีวิต บาดเจ็บล้มตาย เขาคาดหวังกับการเปลี่ยนแปลงมากไปกว่านั้น ซึ่งสำหรับคนที่เป็นพันธมิตรฯ ที่ยืนหยัดมาถึง 158 วัน เขาเข้าใจทุกคนว่าเราทำอะไร ทำไมเราถึงไม่เคลื่อน ทำไมเราถึงต้องรอจังหวะเวลา เพื่อรอสถานการณ์สุกงอม” นายปานเทพ กล่าว