xs
xsm
sm
md
lg

“ปลอด” โต้ ปชป.ไม่ทำบ้าๆ อย่างที่วิจารณ์ ยันแนวทางป้องน้ำท่วมมีแบบแผน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปลอดประสพ สุรัสวดี (แฟ้มภาพ)
“ปลอดประสพ” โต้ ปชป.บอกสอบตกป้องกันน้ำท่วม แจงยุทธศาสตร์แก้ปัญหาทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำทำอย่างมีแบบแผน ส่วนด้านตะวันตกสั่งขุดคลองลัดแม่น้ำท่าจีนให้ระบายน้ำลงทะเลได้อย่างรวดเร็ว พร้อมทุ่มงบฯ ลงนครปฐม-สมุทรสาคร เกือบ 300 ล้านบาทขุดลอกคูคลองให้น้ำไหลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยันไม่ทำบ้าๆ เหมือนที่ฝ่ายค้านวิจารณ์


นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวถึงกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ออกมาวิจารณ์รัฐบาลสอบตกในการป้องกันน้ำท่วม ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำว่า พื้นที่ต้นน้ำ ยุทธศาสตร์คือการดูดซับน้ำและชะลอน้ำโดยใช้ป่าต้นน้ำ และการสร้างฝายชะลอน้ำ โดยป่าที่จะปลูกเป็นป่าประเภทป่าดิบและป่าดิบแล้ง และยังจะมีการปรับปรุงสวนป่าสักในเขตลุ่มน้ำยมให้เป็นป่าเบญจพรรณเพื่อให้ซับน้ำได้มากกว่าเดิม ในการนี้ได้มีการแบ่งภารกิจ หน้าที่เป็นที่เรียบร้อยระหว่างกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมป่าไม้ กองทัพ และกระทรวงมหาดไทย และองค์กรเอกชนเช่น มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในการทำหน้าที่ปลูกป่า

ส่วนพื้นที่กลางน้ำตอนบน ยุทธศาสตร์คือ การใช้เขื่อนขนาดใหญ่รับน้ำเช่น เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ให้พร่องน้ำไว้เพื่อรองรับน้ำประมาณ 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตร และใช้อ่างเก็บน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ เช่น บึงบอระเพ็ด และบึงสีไฟ โดยไม่ให้ราษฎรเดือดร้อน ประมาณว่าจะเก็บน้ำส่วนเกินไว้อีกประมาณ 700 ล้านลูกบาศก์เมตร พร้อมใช้ที่ลุ่ม (Flood Plain) อีกประมาณ 470,000 ไร่ เพื่อเก็บและชะลอน้ำที่จะหลากลงมา และให้มีการขุดคลองขนาดใหญ่ 2 คลอง เพื่อเชื่อมลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำน่านเข้าด้วยกัน (Tran Basin Diversion) ซึ่งถือว่าเป็นความพยายามในการเชื่อมลุ่มน้ำขนาดใหญ่ในประเทศไทยเป็นครั้งแรก

สำหรับพื้นที่กลางน้ำตอนล่าง ใช้พื้นที่ลุ่มอีกประมาณ 1 ล้านไร่ เป็นพื้นที่รับน้ำ ซึ่งคาดว่าจะชะลอน้ำได้ประมาณ 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตร พร้อมทั้งขุดลอกขยายคูคลองระบายต่างๆ ที่ตื้นเขิน นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ปลายน้ำที่รัฐบาลใช้ยุทธศาสตร์ คือ การเร่งระบายน้ำลงทะเลโดยมีเป้าหมายปริมาณน้ำที่ 1 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยได้เพิ่มงบประมาณพิเศษเพื่อการขุดลอกคูคลองระบายน้ำ ซ่อมแซมและขยายประตูน้ำ ตลอดจนยกระดับถนนและเขื่อนริมทางน้ำ เพื่อป้องกันการท่วมล้นเข้าไปในพื้นที่เมือง

นายปลอดประสพกล่าวต่อว่า กรณีที่มีการกล่าวหาว่ารัฐบาลไม่ดูแลแม่น้ำท่าจีนนั้น ตนขอเรียนว่ารัฐบาลได้อนุมัติให้เริ่มการศึกษาการสร้างคลองลัด หรือท่อระบายน้ำขนาดใหญ่ตามบริเวณแม่น้ำที่คดงอ เช่นเดียวกับคลองลัดโพธิ์ เพื่อเร่งการระบายน้ำสู่ทะเล และให้สร้างคันกั้นน้ำเพื่อป้องกันอำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นแหล่งปลูกกล้วยไม้ที่สำคัญของประเทศ พร้อมทั้งให้เร่งรัดการขุดลอกสันดอนที่ปากน้ำ ให้สามารถเพิ่มการระบายน้ำออกทะเลได้เร็วขึ้น พร้อมทั้งให้เริ่มการศึกษาการเบี่ยงน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาผ่านคลองอู่ทอง-มะขามเฒ่า มาลงแม่น้ำท่าจีน หรือแม่น้ำแม่กลอง เพื่อลดปริมาการไหลของน้ำที่เขื่อนเจ้าพระยาลงอีก 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และได้สั่งให้ซ่อมแซมประตูน้ำทั้ง 14 ประตู ให้สามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ พร้อมให้ติด CCTV และ Hydrometers ให้ครบทุกจุดที่สำคัญ

นายปลอดประสพกล่าวว่า ในการประชุมได้หารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐมและจังหวัดสมุทรสาคร และได้เพิ่มงบประมาณพิเศษให้อีกประมาณ 180 ล้านบาท และ 112 ล้านบาทตามลำดับ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ และได้ตัดสินใจที่จะใช้เส้นทางเดิมของน้ำเท่าที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยการขุดลอกคูคลองและแม่น้ำ เพิ่มการติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเครื่องดันน้ำให้ไหลลงแม่น้ำหรือทะเลได้สะดวก

สำหรับ Flood Diversion หรือทางเบี่ยงน้ำ ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่นั้น ได้วางแผนที่จะให้เกิดขึ้นทั้งทางซีกตะวันออก และตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยสำหรับฝั่งตะวันตกอาจจะใช้เส้นทางอู่ทอง-มะขามเฒ่า-แม่น้ำแม่กลอง

ส่วนกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ระบุว่าปีที่แล้วรัฐบาลทำบ้าๆ ให้คนตายนั้น นายปลอดประสพกล่าวว่า เรื่องนี้คงมีผู้ว่าฯ กทม.เท่านั้นที่ทำบ้าๆ เช่น การประกาศให้เชื่อตนคนเดียว ประกาศขอรับผิดชอบว่าน้ำจะไม่ท่วม กทม. แต่สุดท้ายก็ท่วม กทม. หรือไม่ยอมเปิดประตูน้ำจนทำให้น้ำท่วมไปทั่วปริมณฑล รวมไปถึงการสั่งอพยพประชาชนเมื่อน้ำท่วมมากแล้ว ทำให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงเพราะหนีไม่ทัน

ทั้งนี้ นายปลอดประสพยังเปิดเผยว่า รัฐบาลได้ใช้คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 30 คน ซึ่งล้วนเป็นอดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ระดับปลัดกระทรวง อธิบดี และอาจารย์จากมหาวิทยาลัยหลายแห่งที่มีประสบการณ์ด้านการบริหารจัดการน้ำ เป็นองค์คณะแบบ Multi-disciplinary approach เข้าสังเคราะห์ปัญหา (Synthesis) และให้คำแนะนำการแก้ปัญหาน้ำซึ่งสลับซับซ้อนไปด้วยเรื่องนิเวศวิทยา วิศวกรรม ผังเมือง เศรษฐกิจและสังคม หรือแม้แต่เรื่องการเมือง
กำลังโหลดความคิดเห็น