กรมศิลป์ เสนอ 3 แผนปรับปรุงภูมิทัศน์และสร้างผนังกั้นน้ำ ใช้งบกว่า 800 ล้าน “ปู” หนุนขุดลอกคลองรอบโบราณ 19 แห่ง รองรับการระบายน้ำ มอบหมายนมหาดไทยเป็นผู้พิจารณา
วันนี้ (16 ก.พ.) ที่วัดไชยวัฒนาราม จ.พระนครศรีอยุธยา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะ ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการบูรณะพื้นที่โบราณที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย โดย นางโสมสุดา ลียะวณิช อธิบดีกรมศิลปากร เป็นผู้บรรยายสรุปว่า จากการสำรวจเพื่อเตรียมการนำเสนอโครงการของประมาณเพื่อปรับสภาพภูมิทัศน์ของโบราณสถานจากอุทกภัย ในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา จำนวน 141 แห่ง งบประมาณ 694 ล้านบาท จ.นครนายก 4 แห่ง งบประมาณ 26 ล้านบาท จ.สระบุรี 4 แห่ง งบประมาณ 5 ล้านบาท จ.อ่างทอง จำนวน 7 แห่ง งบประมาณ 75 ล้านบาท และ จ.สิงห์บุรี 14 แห่ง งบประมาณ 36.5 ล้านบาท รวมงบประมาณทั้งสิ้นประมาณ 805 ล้านบาท ทั้งนี้ กรมศิลปากรได้กำหนดแผนในการบูรณะเป็น 3 ระยะ โดยแผนระยะแรกมุ่งเน้นให้โบราณสถานกลับสภาพปกติโดยเร็ว เช่น การทำความสะอาด ปรับสภาพภูมิทัศน์เพื่อให้เกิดความสวยงาม และจัดทำป้ายนำทางประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาปกติ เป็นต้น มีระยะแล้วเสร็จภายใน 3 เดือน
นางโสมสุดา กล่าวต่อว่า ระยะที่ 2 เป็นแผนงาน ที่ดำเนินการต่อเนื่องและทำควบคู่กับระยะแรก ตั้งแต่การสำรวจความเสียหาย ตรวจสอบความมั่นคงด้านวิศวกรรมโครงสร้างของโบราณสถาน การบูรณะอนุรักษ์ตามหลักวิชาการ การขุดลอกคูคลองโบราณเพื่อช่วยในการระบายน้ำ และการจัดทำรายงานผลการดำเนินงาน ตลอดจนการทำหนังสือจดหมายเหตุ จากนั้นจะเป็นการดำเนินการแผยระยะที่ 3 ซึ่งเป็นแผนระยะยาวในการป้องกันผลเสียหายจากน้ำท่วม เช่น การสำรวจลักษณะทางกายภาพของโบราณสถานแต่ละแห่ง เพื่อจัดทำแนวป้องกัน การกำหนดรูปแบบการก่อสร้างเขื่อนให้เหมาะกับโบราณสถาน
นางโสมสุดา กล่าวด้วยว่า สำหรับแนวทางการป้องกันน้ำท่วมอุทยานประวัติศาสตร์ จ.พระนครศรีอยุธยา แบ่งเป็นภายในเกาะเมือง ใช้แนว ถ.อู่ทอง ร่วมกับคันดินป้องกันน้ำของเทศบาลนครเป็นแนวการป้องกัน ทั้งโบราณสถานที่อยู่นอกแนว ถ.อู่ทอง 2 แห่ง คือ ป้อมเพชร จะใช้แผนกั้นน้ำถาวร ร่วมกับกระสอบทราย และติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ส่วนบริเวณท้ายพระราชวังโบราณ จะใช้เครื่องสูบน้ำเป็นหลัก ในส่วนพื้นที่รอบเกาะเมือง ได้แก่ วัดไชยวัฒนาราม วัดธรรมาราม และหมู่บ้านโปรตุเกส จะทำระบบป้องกันน้ำของตัวเอง ส่วนโบราณสถานที่ไม่ทำระบบป้องกัน จะใช้กำแพงวัดเป็นกำแพงกั้นน้ำ โดยเสริมความสูงและฉีดอัดน้ำปูนป้องกันการรั่วซึม และติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ทั้งนี้ กรมศิลปากร จะทำการบูรณะและฟื้นฟูขุดลอกคลองโบราณจำนวน 19 คลองรอบโบราณสถาน
จากนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยกับการที่จะให้โบราณสถานเป็นที่รองรับน้ำ เพราะเกรงว่าจะกระทบกับโครงสร้าง และทำให้เสียหายแต่สำหรับการขุดลอกคลองโบราณ 19 คลองนั้นตนเห็นด้วย ซึ่งคลองที่ขุดต้องเชื่อมโยงไปถึงแม่น้ำสายหลัก เพราะเมื่อเกิดน้ำท่วมขังบริเวณนี้น้ำจะได้มีทางออก ส่วนการทำกำแพงป้องกันรอบเกาะเมือง จึงมอบหมายให้ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย และกรมโยธาธิการ ทำงานควบคู่กับ กยน. เพื่อวางรูปแบบให้เกิดความแข็งแรง พร้อมกับการเตรียมแผนป้องกันภัย โดยเฉพาะโบราณสถานซึ่งต้องอาศัยผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ จึงขอให้นายยงยุทธนำทีมมาประสานกับกระทรวงวัฒนธรรม
น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวด้วยว่า ขอฝากให้ นายวิทยา ผิวผ่อง ผู้ว่าฯอยุธยา ให้ปรับระยะเวลาเรื่องของการป้องกันเกาะเมืองให้มีความรวดเร็วขึ้น หากมีปัญหาเรื่องกำลังคน กึจะบูรณาการกองทัพเข้ามาร่วมด้วย