xs
xsm
sm
md
lg

โพลเผยคนอีสานฮิตดูทีวีช่อง 3-ไทยรัฐครอบงำความคิดมากสุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“อีสานโพล” เผยสื่อทีวีเป็นช่องทางที่คนอีสานติดตามข่าวมากที่สุด โดยเฉพาะช่อง 3 และนิยมเสพข่าวบันเทิงมากกว่าการเมือง เลือก “สรยุทธ-กาละแมร์” ขวัญใจผู้ประกาศข่าว ยกหนังสือพิมพ์ไทยรัฐเป็นกลางมากสุด ประเมินการเสนอข่าวในรอบปีให้ผ่านร้อยละ 85 แต่เกือบครึ่งยังอยากให้สื่อปรับปรุงด้านความน่าเชื่อถือและเป็นกลาง

วันที่ 14 ก.พ. ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทำผลสำรวจเรื่อง “พฤติกรรมการบริโภคข่าวสารและความน่าเชื่อถือของสื่อในความคิดคนอีสาน”ระหว่างวันที่ 11-13 กุมภาพันธ์ 2555 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,093 ราย ในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ หนองคาย ชัยภูมิ เลย อุบลราชธานี อุดรธานี นครพนม หนองบัวลำภู สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สกลนคร มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ และบึงกาฬ พบผลการสำรวจในประเด็นต่างๆ ดังนี้

ช่องทางหลักที่คนอีสานติดตามข่าวสารมากที่สุด คือ โทรทัศน์ ร้อยละ 58.5 รองลงมาจากสื่ออินเทอร์เน็ต ร้อยละ 20.4 หนังสือพิมพ์ ร้อยละ 13.1 และสถานีวิทยุ ร้อยละ 8.0 ตามลำดับ

ส่วนหมวดข่าวที่คนอีสานสนใจติดตามมากที่สุด คือ ข่าวบันเทิง ร้อยละ 24.3 รองลงมาข่าวการเมือง ร้อยละ 22.7 ข่าวเศรษฐกิจ ร้อยละ 20.7 ข่าวอาชญากรรม ร้อยละ 9.9 ข่าวกีฬา ร้อยละ 9.0 ข่าวต่างประเทศ ร้อยละ 6.2 ข่าวท้องถิ่น ร้อยละ 4.9 และอื่นๆ ร้อยละ 2.3 ตามลำดับ

สำหรับ “ข่าวโทรทัศน์” พบว่าคนอีสานมีการติดตามการนำเสนอข่าวของช่อง 3 ร้อยละ 37.1 ช่อง 5 ร้อยละ 7.9 ช่อง 7 ร้อยละ 30.0 ช่อง 9 ร้อยละ 11.2 ช่อง 11 (สทท.) ร้อยละ 2.7 ช่องไทยพีบีเอส ร้อยละ 5.9 ช่องเนชั่น ร้อยละ 3.3 และอื่นๆ ร้อยละ 1.8 ตามลำดับ โดยในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาคนอีสานมีการติดตามข่าวโทรทัศน์ทุกวัน คิดเป็นร้อยละ 48.9

เมื่อถามต่อถึงความน่าเชื่อถือและเป็นกลางในการนำเสนอข่าวของ 7 สื่อโทรทัศน์ยักษ์ใหญ่ พบว่าคนอีสานโหวตให้ “ช่อง 3” เป็นสื่อที่น่าเชื่อถือและเป็นกลางมากที่สุด ร้อยละ 35.8 รองลงมาคือ ช่อง 7 ร้อยละ 29.1 ช่องไทยพีบีเอส ร้อยละ 12.7 ช่อง 9 ร้อยละ 9.1 ช่อง 5 ร้อยละ 5.6 ช่องเนชั่นชาแนล ร้อยละ 4.8 ส่วน “ช่อง 11 (สทท.)” น่าเชื่อถือและเป็นกลางน้อยที่สุด ร้อยละ 3.0

ขณะที่ผลการจัดอันดับ “ผู้ประกาศข่าว/ผู้สื่อข่าวโทรทัศน์หญิง” ที่คนอีสานอยากมอบดอกไม้ให้มากที่สุด 3 อันดับแรก คือ กาละแมร์-พัชรศรี เบญจมาศ จากช่อง 3 (ร้อยละ 27.3) รองลงมา ฐปนีย์ เอียดศรีไชย (ร้อยละ 15.5) จากช่อง 3 เช่นกัน และอันดับ 3 เป็นของ นรากร ติยายน จากช่อง 7

ด้าน ผลการจัดอันดับ “ผู้ประกาศข่าว/ผู้สื่อข่าวโทรทัศน์ชาย” ที่คนอีสานอยากมอบดอกไม้ให้มากสุดสามอันดับแรก คือ สรยุทธ สุทัศนะจินดา (ร้อยละ 32.0) รองลงมา กิตติ สิงหาปัด (ร้อยละ 21.5) และ ภาษิต อภิญญาวาท (ร้อยละ 14.9) จากช่อง 3 ทั้งหมด

ด้านข่าวจาก “หนังสือพิมพ์ หรือเว็บไซต์” พบว่า คนอีสานมีการติดตามการนำเสนอข่าวของไทยรัฐ ร้อยละ 50.7 รองลงมาเดลินิวส์ ร้อยละ 24.0 มติชน ร้อยละ 8.1 ข่าวสด ร้อยละ 7.0 คมชัดลึก ร้อยละ 6.4 ผู้จัดการ ร้อยละ 1.8 และสื่ออื่นๆ ร้อยละ 2.0 โดยในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาคนอีสานจะมีการติดตามข่าวจากหนังสือพิมพ์หรือเว็บไซต์ เฉลี่ยแล้วเพียง 2-3 วัน/สัปดาห์

เมื่อถามต่อถึงความน่าเชื่อถือและเป็นกลาง หรือไม่เลือกข้างในการนำเสนอข่าวของ 6 หนังสือพิมพ์ หรือเว็บไซต์ที่มีฐานผู้ชมมากที่สุด พบว่า ไทยรัฐมีความน่าเชื่อถือและเป็นกลางมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 50.5 รองลงมามติชนร้อยละ 14.1 เดลินิวส์ร้อยละ 13.8 ข่าวสด ร้อยละ 10.0 คมชัดลึกร้อยละ 9.2 ในขณะที่ “ผู้จัดการ” ได้คะแนนความน่าเชื่อถือและเป็นกลางน้อยที่สุดในมุมมองคนอีสาน คิดเป็นร้อยละ 2.4

อย่างไรก็ตาม ผลการประเมินการนำเสนอข่าวสารของสื่อหนังสือพิมพ์หรือเว็บไซต์ โดยรวมในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา คนอีสานประเมินให้ผ่าน ร้อยละ 85

สำหรับสิ่งที่คนอีสานอยากให้สื่อมวลชนที่นำเสนอข่าวสารปรับปรุงมากที่สุด แม้ภาพรวมจะประเมินให้ผ่าน คือ ประเด็นความน่าเชื่อถือและเป็นกลาง ร้อยละ 49.3 ความแม่นยำและความลึกของข้อมูล ร้อยละ 24.9

“ยุคนี้เป็นยุคของการบริโภคข่าวสาร สื่อจึงเข้ามามีบทบาทและมีพลังอย่างมากในการชี้นำสังคมไปในทิศทางต่างๆ การประเมินความน่าเชื่อถือของสื่อได้สะท้อนให้เห็นว่าคนอีสานคาดหวังประโยชน์ที่จะได้รับจากการที่คอยติดตามสื่อทั้งในเรื่องความน่าเชื่อถือและความถูกต้องแม่นยำ ดังนั้น หากสื่อมีจุดยืนเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง ก็เป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อนสังคมและทำให้เกิดความปรองดอง” ดร.สุทินกล่าวตอนท้าย

ข้อมูลทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง ประกอบด้วยเพศหญิง ร้อยละ 55.3 เพศชาย ร้อยละ 43.7 ส่วนใหญ่อายุ 18-25 ปี ร้อยละ 32.2 รองลงมาอายุ 26-35 ปี ร้อยละ 25.2 อายุ 36-45 ปี ร้อยละ 22.3 อายุ 46-55 ปี ร้อยละ 16.9 และอายุ 56 ปีขึ้นไป ร้อยละ 3.4 อยู่ในเขตเทศบาลร้อยละ 60.1 และอยู่นอกเขตเทศบาลร้อยละ 39.9

ระดับการศึกษาส่วนใหญ่จบปริญญาตรี ร้อยละ 44.7 รองลงมาปวช./มัธยมปลาย ร้อยละ 19.8 ประถมศึกษา/ต่ำกว่า ร้อยละ 11.4 ปวส./อนุปริญญา ร้อยละ 9.0 ปริญญาโทและเอก ร้อยละ 7.8 และมัธยมต้น ร้อยละ 6.6

ด้านอาชีพส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับราชการ/รัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 26.8 รองลงมานักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 24.4 ค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 13.3 พนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ 10.9 รับจ้างทั่วไป/ใช้แรงงาน ร้อยละ 10.7 เกษตรกรรม ร้อยละ 6.0 และอื่นๆ ร้อยละ 3.2

ด้านรายได้เฉลี่ยต่อเดือนส่วนใหญ่อยู่ที่ไม่เกิน 5,000 บาท ร้อยละ 26.8 รองลงรายได้ 5,001-10,000 บาท ร้อยละ 26.2 รายได้ 10,001-15,000 บาท ร้อยละ 16.3 รายได้ 20,001-40,000 บาท ร้อยละ 14.5 รายได้ 15.001-20,000 บาท ร้อยละ 9.2 และมากกว่า 40,001 บาทขึ้นไป ร้อยละ 7.0
กำลังโหลดความคิดเห็น