“ส.ว.” แฉ สตช.ใช้งบกว่า 5 พันล้านบาท สร้างสถานีตำรวจ 396 แห่งทั่วประเทศ จ่ายไปแล้วกว่า 800 ล้านบาท ครบกำหนด 17 ก.ค.55 แต่ไม่คืบหน้า บางที่ยังไม่เริ่มสร้าง-ไม่สามารถส่งมอบ พท.“เหลิม” รับเป็นเรื่องจริง เล่นบทเข้ม เรียกบริษัทรับงานชี้แจง สั่ง ผบ.ตร.ติดตาม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมวุฒิสภา วันนี้ (13 ก.พ.) ที่มี พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ประธานวุฒิสภา เป็นประธานในการประชุม โดยมีกระทู้ถามนายกรัฐมนตรีเรื่อง โครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) โดยพล.ต.ท.มาโนช ไกรวงศ์ ส.ว.สรรหา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการยุติธรรมและการตำรวจ วุฒิสภา เป็นผู้ตั้งคำถาม ทั้งนี้ได้มอบให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ชี้แจง
พล.ต.ท.มาโนช กล่าวว่า จากการที่ ครม.เคยได้อนุมัติให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ดำเนินการโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจทดแทน จำนวน 396 แห่ง ทั่วประเทศ และได้มีการทำสัญญากับ บริษัท พีซีซี ดีเวลอปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด เป็นผู้รับจ้าง เมื่อวันที่ 25 มี.ค.2554 เป็นเงินค่าจ้างจำนวน 5,848 ล้านบาท และทาง สตช.ได้จ่ายเงินล่วงหน้าไปแล้ว 877,200,000บาท ในขณะที่ สตช.ได้แยกหลักประกันการทำสัญญาเพียงประมาณ 292,400,000 บาท โดยสัญญากำหนดว่าให้ผู้ว่าจ้างลงมือก่อสร้าง เมื่อวันที่ 26 มี.ค.2554 และจะก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 7 มิ.ย.2555 เป็นเหตุทำให้ต้องมีการรื้อถอนสถานีตำรวจเดิม เพื่อเตรียมการสร้างสถานีตำรวจแห่งใหม่ ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีที่ทำการ บางแห่งต้องใช้เต้นท์ชั่วคราว ใช้สถานที่โรงรถ หรือบางแห่งต้องเบียดบังที่พักข้าราชการตำรวจน้ำเป็นที่ทำการ ก่อให้เกิดความเดือดร้อนและไม่สะดวกต่อการปฏิบัติหน้าที่และประชาชนผู้มาติดต่อราชการเป็นอย่างยิ่ง
พล.ต.ท.มาโนช กล่าวเพิ่มเติมว่า แต่บัดนี้จะครบกำหนดสัญญาแล้ว แต่ตัวโครงการเกือบจะไม่มีเลย ซึ่งทางกมธ.ก็ได้รับเรื่องร้องเรียนจากข้าราชการเจ้าหน้าที่ตำรวจถึง 2 กลุ่มด้วยกัน คือ กลุ่มข้าราชการเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ไม่มีที่ทำการ เพราะถูกรื้อถอนไป อีกกลุ่มคือ ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าหน้าที่ตรวจรับงาน หรือบรรดาผู้บังคับการ ผู้กำกับการ ของกองอำนวยการกองบัญชาการต่างๆ ซึ่งไม่ได้มีความรู้เรื่องการก่อสร้างเลย คนเหล่านี้ก็เกรงว่าเมื่อการก่อสร้างถูกจ้างมาเป็น 2-3 ช่วงนั้น ปริมาณงาน และปริมาณเงินที่ใช้ในการก่อสร้งอาจจะลดลง และอาจทำให้ไม่ได้คุณภาพงานตามที่ตกลงไว้ กลุ่มเหล่านี้จึงหวาดระแวงว่าถ้าเป็นผู้รับงานมาก็อาจจะต้องมีความผิดไปด้วย และจากการลงพื้นที่ของ กมธ.พบว่า บางแห่งก็ได้เริ่มดำเนินการสร้างไปบ้างแล้ว แต่บางแห่งกลับยังไม่เริ่มต้น หรือตอกเสาเข็มคาไว้ แล้วก็ทิ้งไปเลยซี่งตนก็ไม่แน่ใจว่าผู้รับเหมาเหล่านั้นจะกลับมาทำต่อหรือไม่ เพราะจะใกล้หมดระยะเวลาการก่อสร้างแล้ว
ทั้งนี้ ยังมีอยู่อีกจำนวน 9 แห่ง ที่ไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ให้ได้ และก็ไม่ทราบว่าเมื่อไหร่จะสามารถส่งมอบพื้นที่ได้ ซึ่งอาจกลายเป็นข้ออ้างให้แก่ผู้รับเหมาที่จะขยายเวลาต่อไปแบบไม่มีกำหนดได้ ประกอบด้วย 1.สภ.บ้านเป้า จ.ชัยภูมิ ซึ่งต้องรองบประมาณเปลี่ยนแปลงสถานที่ 2.สภ.วังเหนือ จ.ชัยภูมิ 3.สภ.วังกะพี้ จ.อุตรดิตถ์ ก็รองบประมาณเปลี่ยนแปลงสถานที่เป็น สภอ.นาอิ่ม จ.อุตรดิตถ์ 4.สภอ.เมือง จ.เชียงใหม่ ขณะนี้อยุ่ในขั้นตอนที่ต้องให้แก้ไขแบบ เนื่องจากว่าความสูงของแบบไม่เป็นไปตามกฎหมายการควบคุมอาคาร 5.สภ.อ.เมือง จ.น่าน อยุ่ระหว่างแก้ไขแบบความสูงของอาคาร 6.สภ.อ.เกาะสีชัง จ.ชลบุรี ก็ต้องเร่งแก้ไขแบบเพื่อให้สามารถสร้างในสถานที่ที่มี 7.สภ.อ.เมือง จ.นราธิวาส ซึ่งมีสถานที่อยู่แล้ว และก็ไม่มีความจำเป็นต้องสร้างใหม่ ก็ขออนุมัติเปลี่ยนแปลงไปสร้างที่ สภอ.ตากใบ จ.นราธิวาส 8.สภ.ราตาปันยัง จ.นราธิวาส ก็ขอเปลี่ยนแปลงสถานที่ไปสร้างที่ สภ.นาประดู่ จ.นราธิวาส 9.สภ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งอยู่ในขั้นตอนต้องแก้ไขแบบให้เป็นไปตามควบคุมความสูงของอาคาร
พล.ต.ท.มาโนช จากการที่ กมธ.ได้ลองตั้งข้อสังเกต พบว่า ประการแรก หน่วยเหนือซึ่งเป็นผู้ที่ให้มีการก่อสร้างสถานีตำรวจในพื้นที่ทั้ง 396 แห่ง นั้น กลับไม่ได้มีการสอบถามความต้องการของคนในพื้นที่ว่ามีความพร้อมหรือไม่ โดยมีลักษณะของการรีบเร่งใช้งบประมาณ ประการที่สอง ได้มีการเปลี่ยนแปลงประกวดราคาจ้าง จากเดิมที่เคยขออนุมัติมายังนายกฯ เมื่อวันที่ 29 พ.ค.2552 ในสมัย พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ นั่งเป็น ผบ.ตร.โดยขอแยกประมูลเป็นรายกองบัญชาการ และทำเป็น 9 สัญญา แต่ยังไม่มีการดำเนินการก่อสร้าง จนกระทั่ง วันที่ 8 พ.ย.2552 ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงสัญญาให้มีการก่อสร้างรวมเป็นสัญญาเดียว ในสมัย พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รักษาการ ผบ.ตร.
“การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวแม้จะมีข้ออ้างเพื่อควบคุมให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย แต่ข้อเท็จจริงการทำสัญญาเดียวกับบริษัทเดียวทั้ง 396แห่ง เป็นไปไม่ได้สำหรับการบริหารงานที่เหมาะสม ประการที่สาม บริษัท พีซีซี ดีเวลอปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ได้ประมูลงานทั้งหมด 2 สัญญาด้วยกัน คือ การก่อสร้างแฟลตตำรวจ 163 หลัง จำนวนเงิน 3,000 ล้านบาทเศษ เมื่อวันที่ 31 มี.ค.2553 เริ่มสัญญา 1 เม.ย.2553 กำหนดแล้วเสร็จ 24 มิ.ย.2554 แต่ขณะนี้ขอต่อสัญญามาวันที่ 12 เม.ย.2555 และการก่อสร้างสถานีตำรวจ 396 แห่ง ตามที่กล่าว แต่งานทั้ง 2 กลับยังไม่แล้วเสร็จสักงาน รวมถึงติดปัญหาการไม่ส่งมอบพื้นที่อีก 9 แห่ง ของสตช.นั้น ตนเกรงว่าผู้รับเหมาอาจถือเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่องานราชการเสียเอง และจะฟ้องร้องกลับได้ ซึ่งรัฐบาลมีมาตรการเร่งรัด หรือตรวจสอบให้เกิดความคืบหน้าของโครงการ เพื่อให้เป็นไปตามสัญญาหรือไม่ อย่างไร และรัฐบาลได้ตรวจสอบความบกพร่อง ไม่โปร่งใสของข้อสัญญาอันอาจเป้นช่องทางการทุจริตหรือไม่ อย่างไร และหากพบว่ามีการประพฤติผิดหรือผิดสัญญาจริง รัฐบาลจะมีแนวทางการกำหนดแก้ไขปรับปรุงไว้อย่างไร หรือไม่” ประธาน กมธ.ตำรวจ กล่าว
ร.ต.อ.เฉลิม ชี้แจงว่า เรื่องทั้งหมดเป็นไปตามที่ พล.ต.ท.มาโนช อภิปรายโครงการดังกล่าวจะก่อสร้าง สถานีตำรวจ 396 หลัง แบ่งเป็นขนาดใหญ่ 88 หลัง ขนาดกลาง136 และขนาดเล็ก 172 หลัง ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีที่ใดเสร็จเลย ตนจะมีการติดตามโครงการดังกล่าว หากไม่สามารถส่งมอบงานได้ทันกำหนด 17 ก.ค. 55 อาจจะมีมาตรการปรับเป็นจำนวนเงิน 5.8 ล้านบาท
ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ขณะนี้ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทางลับ และได้เร่งรัดให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติสั่งการผู้บัญชาการภูธร 1-9 และผู้บัญชาการใน3จังหวัดชายแดนใต้ติดตาม และจะเชิญผู้รับจ้างมาถามว่าเสียค่าคอมมิชชัน หรือจ่ายใต้โต๊ะหรือไม่ ทั้งนี้ จะได้ดูว่ากรรมการตรวจการจ้างและการควบคุมงานเร่งรัดผู้รับจ้างหรือไม่ ซึ่งหากพบการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่จะดำเนินคดีแน่นอน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่รองนายกฯ ชี้แจงเสร็จ พล.ต.ท.มาโนช ได้ฝากข้อเสนอแนะให้ สตช.จ้างส่วนราชการหรือไม่ก็ส่วนของสถาบันการศึกษาซึ่งมีผู้ที่รู้เรื่องเกี่ยวกับวิศวกรรมโยธามาเป็นกรรมการกำกับในพื้นที่ด้วย ที่เป็นกรรมการที่ปรึกษาในโครงการด้วยเพราะเชื่อว่าทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติยังไม่มีเจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญด้านโยธาเข้าไปดูแล