องค์การนิรโทษกรรมสากลออกแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยกรณีที่ “สมคิด” อธิการบดีธรรมศาสตร์ห้ามใช้พื้นที่เคลื่อนไหวมาตรา 112 อ้างจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพทางวิชาการ มาแปลกมองการอภิปรายเผ็ดร้อนส่อเผชิญหน้าและการไม่เห็นด้วย เป็นเสาหลักของเสรีภาพวิชาการ แนะเพิ่มความพยายามคุ้มครองเสรีภาพเป็นสองเท่า
วันนี้ (10 ก.พ.) องค์การนิรโทษกรรมสากล หรือ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์ในหัวข้อ “คุ้มครองเสรีภาพทางวิชาการในมหาวิทยาลัย” หรือ Protect academic freedom at university กรณีที่มติของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ห้ามไม่ให้นักวิชาการในนามกลุ่มนิติราษฎร์ ใช้พื้นที่ในมหาวิทยาลัยเพื่อรณรงค์การปฏิรูปกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งถือเป็นการละเมิดหลักการสิทธิมนุษยชนในด้านเสรีภาพทางวิชาการ และควรยกเลิกมติดังกล่าว สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 30 ม.ค.ที่ผ่านมา นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกาศไม่อนุญาตให้กลุ่มนิติราษฎร์ ซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 7 คน ใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยเพื่อรณรงค์การปฏิรูปกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งเป็นการเอาผิดต่อการพูดดูหมิ่น หมิ่นประมาท และแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ของไทย เนื่องจากมหาวิทยาลัยเป็นหน่วยงานของรัฐ ประชาชนอาจเข้าใจว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เห็นด้วยหรือไม่กับการรณรงค์ครั้งนี้ และการกระทำของกลุ่มนิติราษฎร์อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่และทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย
เห็นว่ามติของมหาวิทยาลัยดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามอย่างต่อเนื่องในการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกในประเทศไทย ทั้งยังเป็นการละเมิดเสรีภาพทางวิชาการด้วย เสรีภาพทางวิชาการเป็นหลักการที่มีพื้นฐานมาจากสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกและการแสดงความเห็น รวมทั้งสิทธิที่จะได้รับการศึกษา สิทธิดังกล่าวได้รับการรับรองตามข้อ 26 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights - UDHR) และข้อ 13 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights-ICESCR) ซึ่งประเทศไทยเป็นรัฐภาคีตั้งแต่ปี 2542 ทั้งนี้ การอภิปรายถกเถียงอย่างเผ็ดร้อนและอาจมีการเผชิญหน้า และการแสดงความไม่เห็นด้วย ถือเป็นเสาหลักของเสรีภาพทางวิชาการ กรณีที่เกรงว่าการใช้เสรีภาพทางวิชาการอาจทำให้เกิดความรุนแรง การแก้ปัญหาที่ถูกต้องน่าจะเป็นการเพิ่มความพยายามเป็นสองเท่าเพื่อคุ้มครองเสรีภาพดังกล่าว ไม่ใช่ไปจำกัดเสรีภาพโดยการออกคำสั่งห้ามปฏิบัติการของกลุ่มบางกลุ่ม
ในแถลงการณ์ยังกล่าวอีกด้วยว่า คณะกรรมการว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (Committee on Economic, Social, and Cultural Rights - CESCR) ซึ่งเป็นผู้ตีความกติกา ICESCR ได้ระบุว่า “สิทธิด้านการศึกษาจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อมีการส่งเสริมเสรีภาพทางวิชาการของเจ้าหน้าที่และนักศึกษาด้วย” ในส่วนความเห็นต่อสิทธิด้านการศึกษาคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมได้เขียนไว้ว่า เสรีภาพทางวิชาการครอบคลุมถึงความเป็นอิสระของบุคคลที่จะแสดงความเห็นอย่างเสรีเกี่ยวกับสถาบันหรือระบบที่ตนเองทำงานอยู่ เป็นการปฏิบัติหน้าที่ของตนโดยไม่มีการแบ่งแยก หรือโดยไม่มีความกลัวว่าจะถูกปราบปรามจากรัฐหรือบุคคลอื่น ๆ ความสามารถที่จะเข้าร่วมในหน่วยงานด้านวิชาการแบบมืออาชีพหรือสมาคมวิชาการ และการได้รับสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นที่รับรองในระดับสากล และเป็นสิทธิที่บุคคลอื่น ๆ ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจศาลเดียวกันพึงได้รับ