ประธานวิปรัฐบาลรอพรรคร่วมฯประชุมร่างแก้ไข รธน.มาตรา 291 เผยหากไม่มีการแก้ไขหรือแก้ประเด็นที่ไม่มีสาระสำคัญยื่นประธานสภาฯ ได้ในวันพรุ่งนี้ พร้อมมั่นใจจะแก้ทันก่อนปิดสมัยประชุม ขณะเดียวกันเตรียมปรับ พ.ร.บ.เลือกตั้งให้ กกต.มีอำนาจในการเลือกตั้ง ส.ส.ร.
นายอุดมเดช รัตนเสถียร ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า กรอบเวลายังเหมือนเดิมถ้าในการประชุมวิปรัฐบาลไม่ได้แก้ไขเพิ่มเติมที่เป็นสาระสำคัญมากนักก็น่าจะเป็นไปตามกำหนดเดิมก็จะนัดหมายกับประธานรัฐสภาได้ คือ วันที่ 9 ก.พ.นี้ เพราะฉะนั้น ต้องดูว่าพรรคร่วมรัฐบาลพรรคไหนจะขอแก้ไขประเด็นไหนเพิ่มเติมบ้าง เพราะมีบางพรรคจะขอเพิ่มเติมบางส่วนในเรื่องของการทำประชามติ
ส่วนการที่พรรคชาติไทยพัฒนาเตรียมจะยึดแนวการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2540 ฉบับพิมพ์เขียว สมัยรัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี โดยจะยึดแนวทางแก้ไขในมาตรา211 นั้น เท่าที่ตนทราบและได้มีการพูดคุยกับตัวแทนพรรคชาติไทยพัฒนา บางส่วนก็เป็นเพียงแค่ความเห็น เพราะต้องนำเข้ามาปรึกษา หารือในที่ประชุมกันอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ตนเห็นว่าทางรัฐบาลควรจะนำเสนอร่างรัฐธรรมนูญประกบคู่ไปด้วย เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญคือนโยบายของรัฐบาล
ส่วนร่างรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยถือเป็นร่างสุดท้ายหรือไม่นั้น นายอุดมเดชกล่าวว่า อย่าไปคิดว่าเป็นร่างสุดท้าย ให้คิดว่าเป็นร่างล่าสุดดีกว่า ทั้งนี้ต้องรอดูว่าในที่ประชุมวิปรัฐบาลจะมีการขอแก้ไขในประเด็นใดบ้าง เพราะเมื่อวันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมา ได้นำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เข้าสู่ที่ประชุมพรรคก็มีการแก้ไข โดยห้ามมิให้ ส.ส. หรือ ส.ว. และรัฐมนตรีเข้ามาป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ซึ่งก็ได้มีการเพิ่มเติมลงไปในร่างดังกล่าว
ทั้งนี้ บางคนที่ได้เห็นก็อาจจะมีข้อกังวลในบางเรื่อง หรือมีข้อเสนอที่แตกต่างกันออกไป ก็ถือเป็นเรื่องธรรมดา เพราะฉะนั้นความคิดเห็นของพรรคร่วมรัฐบาลก็จะนำเข้ามาร่วมหารือกัน หากแก้ไขได้และไม่ผิดหลักการมากนัก ตนคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร
ส่วนหลักการในการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญนั้นก็ยังเหมือนเดิม คือให้มีตัวแทน ส.ส.ร.99 คน ซึ่งทุกสิ่งที่จะเสนอก็จะนำเข้าสู่กรรมาธิการ ถ้าหากกรรมาธิการมีข้อเสนอแนะ หรือมีเหตุผลบางอย่าง ก็สามารถแก้ไขเพิ่มเติมได้ อย่าคิดว่าร่างนี้จะต้องนำมาบังคับใช้
ส่วนที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากว่าตัวแทน ส.ส.ร.อาจจะไม่มีความเป็นกลาง หรือเป็นตัวแทนจากพรรคการเมือง นายอุดมเดช กล่าวว่า เคยวิพากษ์วิจารณ์ข้อเสนอของนายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) มาแล้ว ในกรณีที่จะให้รัฐบาลเป็นผู้ตั้งคณะทำงานขึ้นร่าง แต่พอให้ประชาชนมีส่วนร่วมเราก็ไปกังวลว่าประชาชนจะเลือกไปเป็นแนวทางของพรรคหนึ่งพรรคใด อยากถามว่าจะเอาแบบนายอุกฤษหรือ เมื่อให้ประชาชนเลือกก็ยังมีความกังวลในดุลพินิจของประชาชนอยู่ วันนี้เราอยู่ในระบอบประชาธิปไตย ถ้ายังไม่เชื่อมั่นในประชาชนแล้วจะไปฟังคนประเทศไหน
ส่วนจะสามารถบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมได้ทันในสมัยประชุมนี้หรือไม่นั้น ตนเห็นว่าถ้ายื่นตามกำหนดเดิมคือวันที่ 9 ก.พ. หลังจากนั้นก็มีการตรวจสอบรายชื่อเสร็จ ในสมัยประชุมนี้ ตนเชื่อว่าทันแน่นอน
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีข้อกังวลที่จะให้อำนาจคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทำหน้าที่เลือก ส.ส.ร. นายอุดมเดชกล่าวว่า ก็จะให้ผู้เชี่ยวชาญดูว่าจะแก้กฎหมาย กกต. ถ้าหากต้องแก้ที่กฏหมายดังกล่าวก็ต้องแก้ แต่หากกรรมาธิการศึกษาและเห็นว่าให้ระบุลงในรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ได้ โดยอาจกำหนดให้การเลือกตั้ง ส.ส.ร.ครั้งนี้กำหนดให้ กกต.ทำหนึ่งสองสามสี่ห้าได้ก็จบ เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฏหมายที่ใหญ่กว่ากฎหมาย กกต. ส่วนเนื้อหาสาระน่าจะเป็นการกำหนดหน้าที่ของผู้ที่จะมาจัดการเลือกตั้ง ประมาณว่าหน้าที่ในการเลือก ส.ส.ร.ของแต่ละจังหวัดให้เป็นหน้าที่ของ กกต.