xs
xsm
sm
md
lg

“UNSC” ลงดาบอดีต ปธน.โกตดิวัวร์ “ยึดทรัพย์-ห้ามเดินทาง” บีบให้สละอำนาจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักรบฝ่ายประธานาธิบดี อลาสซาเน ออตตารา สามารถบุกยึดกรุงยามุสซุโกร เมืองหลวงของโกตดิวัวร์ ได้แล้ว วานนี้ (30)
โลรองต์ จีบักโบ
เอเอฟพี - คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติมีมติเป็นเอกฉันท์ให้กำหนดมาตรการลงโทษ โลรองต์ จีบักโบ อดีตประธานาธิบดีโกตดิวัวร์ผู้หวงเก้าอี้ วานนี้ (30) เพื่อหาทางริดรอนอำนาจของเขาให้จงได้

มติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) ที่ 1975 มีคำสั่งอายัดทรัพย์สินของจีบักโบ และภริยา รวมทั้งบุคคลใกล้ชิดอีก 3 ราย รวมทั้งห้ามบุคคลทั้งหมดเดินทางเข้าประเทศสมาชิกยูเอ็น

รัฐสมาชิกยูเอ็นเอสซีทั้ง 15 ชาติ แสดงท่าทีชัดเจนให้ โลรองต์ จีบักโบ ก้าวลงจากอำนาจจากการลงมติ ซึ่งมีขึ้นเพียงไม่กี่ชั่วโมงให้หลังการบุกยึดกรุงยามุสซุโกร เมืองหลวงโกตดิวัวร์ (ไอเวอรีโคสต์) ของกลุ่มนักรบผู้ซื่อสัตย์ต่อ อลาสซาเน ออตตารา บุรุษผู้ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี ซึ่งนานาชาติยอมรับ

ความไม่สงบในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาคร่าชีวิตผู้คนไปหลายร้อยราย จน เจอราร์ด อาโรด์ เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำยูเอ็นออกมาเตือนว่า สถานการณ์การสู้รบอาจลุกลามเข้าสู่เมืองอาบิดจัน จุดยุทธศาสตร์สำคัญของโกตดิวัวร์

“จีบักโบต้องลงจากอำนาจ นั่นเป็นหนทางเดียวที่จะหลีกเลี่ยงสงครามกลางเมืองเต็มรูปแบบ และเหตุการณ์นองเลือดทั่วถนนในเมืองอาบิดจัน” เจอราร์ด อาโรด์ ให้สัมภาษณ์กับนักข่าว

อนึ่ง ฝรั่งเศส อดีตเจ้าอาณานิคมของโกตดิวัวร์ และไนจีเรีย ประเทศยักษ์ใหญ่ในแอฟริกาตะวันตก เป็นผู้เสนอมติที่ 1975 ต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

“สถานการณ์เหนือความคาดหมายกำลังเกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาเรา” จอย อ็อกวู ทูตไนจีเรียประจำยูเอ็น สำทับถึงการฆ่าและข่มขืนที่ระบาดไปทั่วไอเวอรีโคสต์ มติของยูเอ็นเอสซีครั้งนี้ยังได้ตอกย้ำอีกครั้งว่าการสังหารพลเรือนถือเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และคดีดังกล่าวสามารถนำขึ้นพิจารณาในศาลอาญาระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ สหภาพแอฟริกา (เอยู) สมาคมประชาชาติแอฟริกาตะวันตก (อีโควาส) และองค์การนานาชาติต่างๆ ล้วนยอมรับ อลาสซาเน ออตตารา ในฐานะประธานาธิบดีโดยชอบธรรม ด้าน ยูเอ็นได้ส่งเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพจำนวนกว่า 11,000 คนเข้าไปยังโกตดิวัวร์ โดยกองกำลังยูเอ็นประมาณ 800 คนกำลังคุ้มครองที่ทำการของออตตารา ในเมืองอาบิดจัน ซึ่งตกอยู่ในวงล้อมของนักรบฝ่ายหนุนโลรองต์ จีบักโบ

อย่างไรก็ตาม นักการทูตจากหลายประเทศได้เรียกร้องให้ คณะผู้แทนสหประชาชาติในโกตดิวัวร์ (The United Nations Operation in Côte d'Ivoire - UNOCI) ปฏิบัติหน้าที่อย่างยุติธรรม โดยมีเสียงคัดค้านจาก จีน อินเดีย แอฟริกาใต้ และบราซิล ให้แก้ร่างมติฉบับที่ 1975 นี้ ซึ่งเน้น “ความจำเป็นที่ต้องยึดอาวุธหนัก” จากกองกำลังต่างๆ ในไอเวอรีโคสต์ ร่างสุดท้ายของมติดังกล่าวระบุว่า กองกำลังยูเอ็นควรทำหน้าที่ “เพื่อป้องกันการใช้อาวุธหนัก”

องค์การสหประชาชาติประเมินว่า มีพลเรือนโกตดิวัวร์มากกว่า 1 ล้านคนลี้ภัยสงครามจากถิ่นฐานบ้านเกิด ตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2010 แม้ผลคะแนนเป็นหลักฐานยืนยัน ว่า ประชาชนเห็นชอบให้ อลาสซาเน ออตตารา ขึ้นเป็นผู้นำประเทศ ทว่าโลรองต์ จีบักโบ ผู้ครองเก้าอี้ประธานาธิบดีในขณะนั้น ไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ จนนำมาซึ่งการปะทะกันระหว่างนักรบของทั้งสองฝ่าย
กำลังโหลดความคิดเห็น