xs
xsm
sm
md
lg

พม่าปฏิเสธรายงานกล่าวหาใช้ฟอสฟอรัสเข้าสลายกลุ่มผู้ชุมนุม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>เพิงพักแรมของผู้ชุมนุมประท้วงเหมืองแร่จีนถูกไฟเผาไหม้เสียหาย หลังเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเข้าสลายค่ายพักของผู้ชุมนุมในช่วงรุ่งสาง เมื่อวันที่ 29 พ.ย. จากเหตุเข้าสลายกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงมีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายสิบราย และบางรายมีแผลไฟไหม้รุนแรง. -- AFP PHOTO /STR.</font></b>

เอเอฟพี - ทางการพม่าวานนี้ ได้ปฏิเสธรายงานที่กล่าวหากองกำลังรักษาความปลอดภัยของรัฐบาลใช้ฟอสฟอรัสขาวในการปราบปรามการประท้วงเหมืองแร่ทองแดงเมื่อปีก่อน ที่ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายสิบราย

การเข้าสลายค่ายพักผู้ชุมนุมประท้วงในช่วงรุ่งสางที่บริเวณเหมืองแร่ที่ได้รับการสนับสนุนจากจีนทางภาคเหนือของพม่า ในเดือน พ.ย. นับเป็นการเข้าสลายการชุมนุมต่อกลุ่มผู้ประท้วงรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่รัฐบาลชุดใหม่เข้าบริหารประเทศเมื่อต้นปี 2554

เครือข่ายทนายความได้ส่งวัตถุที่พบในบริเวณเกิดเหตุในเมืองมอญยอ ให้แก่ห้องปฏิบัติการในต่างประเทศตรวจสอบ และพบการปนเปื้อนของฟอสฟอรัสขาว ที่สามารถนำไปสู่การบาดเจ็บรุนแรงได้ รายงานระบุ

แต่โฆษกประธานาธิบดีปฏิเสธรายงาน และไม่แสดงความเห็นต่อการค้นพบดังกล่าว โดยกล่าวแต่เพียงว่า รัฐบาลจะพิจารณาผลการสอบสวนที่นำโดยนางอองซานซูจีซึ่งอยู่ในระหว่างการดำเนินการ

“เราไม่ศึกษา หรือให้ความเห็นในการสอบสวนหาข้อมูลโดยบุคคลทั่วไป” โฆษกประธานาธิบดีเต็งเส่ง กล่าวและว่า รายงานดังกล่าวอาจรบกวนการทำงานของคณะกรรมการของนางอองซานซูจี

กลุ่มทนายความที่ยื่นผลการสอบสวนให้แก่นางอองซานซูจีเมื่อปลายเดือน ม.ค. และในสัปดาห์นี้ได้เผยแพร่ร่างสุดท้ายของรายงานที่อ้างว่ากองกำลังของรัฐบาลใช้ความรุนแรงมากเกินไปในการเข้าสลายกลุ่มผู้ประท้วงเหมืองแร่

นอกจากนั้น รายงานยังระบุว่า เจ้าหน้าที่อาวุโสในท้องถิ่นทำหน้าที่เป็นตัวแทนเหมืองที่เป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัทวานเป่า ของจีน และบริษัทเมียนมาร์ อีโคโนมิค โฮลดิ้ง ที่เป็นกิจการของทหาร และใช้อำนาจในทางมิชอบลงโทษชาวบ้านที่คัดค้านการขายที่ดินของตัวเอง

นักเคลื่อนไหวกล่าวว่า ประชาชนประมาณ 100 คน ได้รับบาดเจ็บจากการปราบปรามครั้งนั้น และบางคนมีบาดแผลไฟไหม้รุนแรง และในเวลานั้น รัฐบาลได้กล่าวขอขมาต่อพระชั้นผู้ใหญ่ในกรณีที่มีพระสงฆ์ได้รับบาดเจ็บ

ส่วนสำนักงานของประธานาธิบดีเต็งเส่งระบุว่า ในการปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วง ทางการใช้เพียงแก๊ซน้ำตา และระเบิดควัน แต่ปฏิเสธข้อกล่าวหาของสื่อท้องถิ่นที่ระบุว่า มีการใช้อาวุธเคมีร่วมด้วย

โครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากจีนซึ่งเกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติของพม่าสร้างความไม่พอใจให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น ฝ่ายต่อต้านได้เรียกร้องให้เหมืองยุติการดำเนินการ และอนุญาตให้ดำเนินการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม

ฝ่ายคณะกรรมการของนางอองซานซูจีที่แต่เดิมจะต้องเสนอผลการสอบสวนในช่วงสิ้นเดือน ม.ค. แต่ต้องเลื่อนวันออกไป เนื่องจากสมาชิกในคณะดำเนินงานแนะนำว่าการตัดสินไม่ควรเกิดขึ้นก่อนปลายเดือน ก.พ.
กำลังโหลดความคิดเห็น