xs
xsm
sm
md
lg

เปิดแผนรับมืออุทกภัย ลงพื้นที่ทำเวิร์กชอปคุมเกมรอบด้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล (แฟ้มภาพ)
เผยตารางทัวร์ลุ่มน้ำ “ยิ่งลักษณ์” นำคณะบริหารจัดการน้ำทั้ง รมต.-กนย. ลงพื้นที่จริง จัดเวิร์คช๊อป “ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ” ซ้อมแผนเผชิญเหตุรับมืออุทกภัย พร้อมพยากรณ์สถานการณ์น้ำ ชงเข้า ครม.อังคารหน้า

วันที่ 3 ก.พ. ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการยุธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) โดยการประชุมในครั้งนี้ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ที่ปรึกษาคณะกรรมการกยน. ไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วย ทั้งนี้ภายหลังการประชุมนานกว่า 3 ชั่วโมง นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมกนย.บรรยากาศเป็นไปด้วยดี ส่วนกรณีที่ ดร.สุเมธ ไม่ได้เข้าร่วมประชุมนั้น ท่านเคยบอกแล้วงานไม่ว่างก็มาไม่ได้ แต่ท่านไม่ได้งอนอะไร

ส่วนที่ประชุม กยน.ได้คุยถึงแผนปฏิบัติการที่จะเดินทางไปติดตามงาน ตามโครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ซึ่งทางส่วนราชการได้ทำแผน ขณะที่รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณในระดับหนึ่ง นอกเหนือจากงบคณะกรรมการเพื่อให้การช่วยเหลือฟื้นฟูเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากุทกภัย (กฟย.) และสร้างสิ่งเสียหายให้กลับคืนสู่สภาพเดิม 120,000 ล้านบาท ซึ่งได้อนุมัติไปแล้วเกือบ 80,000 ล้านบาท ดังนั้นทางจังหวัดได้ทำโครงการไปแล้ว ซึ่งนายกรัฐมนตรีและคณะจะเดินทางลงพื้นที่เพื่อทบทวนแผนงานและติดตามว่าทำไปถึงไหนแล้ว ติดขัดอะไรหรือไม่ และทางรัฐบาลจะช่วยอะไรได้อีก เพื่อให้การดำเนินงานป้องกันน้ำท่วมดียิ่งขึ้น พร้อมกันนี้จะเป็นการไปดูแผนงานรวมทั้งหมด ตั้งแต่สมัย กฟย.และกยน.ที่ทำเพิ่ม 18,000 ล้านบาท รวมถึง 350,000 ล้านบาทด้วย เพื่อให้เห็นการแก้ปัญหาองค์รวมทั้งหมด

นายนิวัฒน์ธำรงค์ กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรีและคณะจะเริ่มเดินทางไปที่เขื่อนสิริกิตติ์เป็นจุดแรก โดยการติดตามงานจะแบ่งเป็น 4 ตอนหลัก ตอนแรกเป็นพื้นที่ต้นน้ำ ซึ่งเป็นเรื่องการปลูกป่า ทำฝายแม้วและดูระบบนิเวศต่างๆ รวมถึงโครงการพระราชดำริ เพื่อชะลอน้ำด้านบน จากนั้นจะดูเรื่องการระบายน้ำตามเขื่อนต่างๆ ทั้งนี้การทำงานจะแบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอน โดยตอนแรกนายกรัฐมนตรีจะไปดูงาน ซึ่งคณะทำงาน และข้าราชการที่เกี่ยวข้องได้มีการเตรียมงานไว้ก่อนแล้ว ทั้งนี้ในพื้นที่ต้นน้ำ ในจ.อุตรดิตถ์ และจ.พิษณุโลก จะมาร่วมเวิร์คช็อปกัน เพื่อจัดทำแผนของแต่ละจังหวัดให้ละเอียด โดยมีส่วนราชการกลาง เข้าไปดูอีกชั้น เพื่อให้แผนการดำเนินงานสมบูรณ์ จากนั้นจะนำผลงานจากการเวิร์คช็อปเข้าที่ประชุมคณะกรรมการกนย. ต่อไป และจะมีการแถลงข่าวให้สื่อมวลชนและประชาชนรับทราบถึงผลจาการดูต้นน้ำ

นายนิวัฒน์ธำรงค์ กล่าวต่อว่า จากนั้นจะลงพื้นที่ต่อเพื่อไปดูอ่างเก็บน้ำบางระกำและลงมา จ.นครสวรรค์ เพื่อดูพื้นที่กลางน้ำ ตั้งแต่จ.พิจิตร ไล่ลงมาถึงจ.ชัยนาท โดยจะดูการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยาทั้งฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก รวมถึงประตูระบายน้ำบางโฉมศรี ประตูน้ำพลเทพ ส่วนที่จ.ลพบุรี จะมีการทำแผนเผชิญเหตุ เพื่อรับมือกับอุทกภัย จากนั้นจะลงมาที่ จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อดูนิคมอุตสาหกรรม และโบราณสถานและผลกระทบชาวบ้านจะแก้ปัญหาอย่างไร พร้อมทั้งจะดูพื้นที่รับน้ำ 2 ล้านไร่ ซึ่งได้มีการศึกษาและดูสถานที่ไว้แล้ว โดยจะมีพื้นที่รับน้ำใหญ่ๆประมาณ 2-3 จุด นอกนั้นจะเป็นพื้นที่เล็กๆอีกหลายจุด รวมทั้งจะมีการหารือถึงมาตรการเยียวยา ที่อาจต้องคุยกับชาวบ้านและตัวแทนภาคอุตสาหกรรมด้วย ทั้งหมดคือพื้นที่ปลายน้ำตอนบน

ส่วนพื้นที่ปลายน้ำตอนล่าง ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม ฉะเชิงเทรา ตรงนี้จะดูเรื่องของการผลักดันน้ำ ระบายน้ำ นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้หารือกันถึงการระบายน้ำในเขื่อน ซึ่งคณะกรรมการระบายน้ำมีแผนงานอยู่แล้ว โดยประมาณเดือนพฤษภาคมจะมีการระบายน้ำทุกวันตามแผนงาน ซึ่งจะทำให้น้ำลดลงเรื่อยๆ คาดว่าจะต่ำกว่าระดับน้ำในเขื่อนปีที่แล้วส่วนการประเมินสถานการณ์น้ำนั้น ตรงจุดเขื่อนสิริกิตติ์ ที่จ.อุตรดิดถ์ จะมีการสรุปพยากรณ์น้ำด้วย อย่างไรก็ตามการเดินทางครั้งนี้ จะเป็นการดูพื้นที่จริงและการจัดเวิร์คช๊อปคู่ขนานกัน โดยแบ่งรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกเป็นสองทีม เพื่อการทำงานที่สมบูรณ์ผู้สื่อข่าวถามว่า มั่นใจหรือไม่รัฐบาลจะดูแลสถานการณ์น้ำครั้งต่อไปได้ นายนิวัฒน์ธำรง กล่าวว่า ถ้าน้ำเท่าปีที่แล้ว สภาพต้องดีขึ้นกว่าปีที่แล้วแน่นอน แต่เราไม่รู้น้ำจะมีมากน้อยแค่ไหนอย่างไร ถ้าเราโชคดีน้ำน้อยกว่าปีที่แล้วน่าจะดีกว่าปีที่แล้ว แต่ตอนนี้ไม่มีใครบอกได้ แต่จะมีการพยากรณ์กันที่ จ.อุตรดิตถ์ ทั้งนี้การพยากรณ์ไม่แน่เสมอไป อาจแค่ใกล้เคียง
กำลังโหลดความคิดเห็น