ผ่าประเด็นร้อน
กำลังตีปี๊บปราบปรามยาเสพติดกันอย่างขนานใหญ่สำหรับรัฐบาลพรรคเพื่อไทย โดยมอบหมายให้ รองนายกรัฐมนตรี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ และ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการเลขาธิการปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.)
สมทบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก และอธิบดีกรมราชทัณฑ์ พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ที่อุตส่าห์ไปโยกข้ามสายข้ามกระทรวงจากผู้ตรวจราชการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) มานั่งเก้าอี้ตัวนี้ซึ่งเป็นสังกัดกระทรวงยุติธรรม
พิจารณาทั้งตัวบุคคลและทีมงานล้วนเป็นทีมเดียวกัน แพกกันแน่น ทุกคนล้วนเป็นคนกันเอง เหมือนกับครอบครัวเดียวกัน ทำให้มั่นใจว่าการปราบปรามยาเสพติด ซึ่งเวลานี้ถูกยกระดับขึ้นเป็นวาระแห่งชาติน่าจะได้ผลดี สร้างความหวังให้ชาวบ้านได้อย่างดี เพราะต้องยอมรับกันว่าปัญหาดังกล่าวสร้างความทุกข์ให้กับคนไทยจำนวนมากที่มีลูกหลาน รวมไปถึงได้เห็นเยาวชนตกเป็นทาสยานรก
ที่ผ่านมารัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ก็ประกาศทำสงครามกับยาเสพติด มีการสร้างภาพสร้างผลงานได้อย่างโดดเด่น หลายคนจดจำภาพดังกล่าว หลายคนถึงกับมองข้ามความผิดกับเรื่องการฆ่าตัดตอนถึงกว่า 2,500 ศพ ทั้งที่เป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่ขณะเดียวกันลองไปสำรวจความเห็นของชาวบ้านแทบทุกครั้งก็มักจะออกมาตรงกันว่า “พอใจ” ซึ่งความหมายก็คือ พวกเขาตระหนักถึงพิษภัยที่สร้างผลกระทบ ดังนั้นเมื่อมีใครมาจัดการขั้นเด็ดขาดก็ตรงใจ แม้ว่าอีกด้านหนึ่งมันเป็นแค่กลเกมทางการเมืองที่ฉวยจังหวะกำจัดฝ่ายตรงข้าม หรือแม้แต่กำจัดนักค้ารายเดิมเพื่อเปิดทางให้เครือข่ายใหม่เข้าไปแทน รวมไปถึงการสร้างภาพลวงตา แต่ถึงอย่างไรมันก็ได้ผล จนรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ นำมาต่อยอด และคนที่อาสาเข้ามารับงานต่อก็คือ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง จนเป็นที่หวือหวาอยู่ในเวลานี้
พิจารณาจากผลการปราบปรามยาเสพติดกำลังไปได้ดี ล่าสุดมีการจับกุมเครือข่ายค้ายารายใหญ่ จับทั้งยาบ้า ยาไอซ์รวมแล้วมูลค่าเป็นพันล้านบาท และการแถลงข่าวการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจถ้าหน่วยไหนโชว์ของกลางแค่หลักหมื่นเม็ดถือว่าห่วยแตกกันไปแล้ว ต้องระดับแสนเม็ดขึ้นไปแล้วทั้งสิ้น
อย่างไรก็ดี ปัญหาระบาดของยาเสพติดมีการขยายเครือข่ายเข้าไปในคุก เพราะแทบทุกครั้งที่มีการจับกุมผู้ต้องหาหากมีการรับสารภาพก็ต้องบอกว่าได้รับคำสั่งยามาจากนักค้ายาเสพติดระดับ “ขาใหญ่” จากในคุกทั้งสิ้น พร้อมทั้งมีข่าวการตรวจค้นเรือนจำ ก็มักจะพบโทรศัพท์มือถือที่นักโทษใช้ติดต่อสั่งการไปข้างนอก อยู่เป็นประจำ
ความเคลื่อนไหวที่ปรากฏดังกล่าวมันสะท้อนภาพออกมาได้หลายมุมทั้งในมุมของความตื่นในการปราบปรามแก้ปัญหาซึ่งต้องดำเนินการกันอย่างต่อเนื่อง แต่อีกด้านหนึ่งมันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การจับกุมภายในเรือนจำ ที่ถือว่าเป็นสถานที่ต้องห้ามเป็นสถานที่ควบคุมพิเศษ การเข้าออกต้องมีการตรวจค้นอย่างเข้มงวด เพราะนี่คือคุก คนที่เข้าไปอยู่ในสถานที่ดังกล่าวย่อมต้องมีความผิดผ่านการพิจารณาคดีผ่านการพิพากษาของศาลแล้ว ต้องจำกัดเสรีภาพไม่เหมือนคนทั่วไป ขณะเดียวกัน “ผู้คุม” ก็ต้องมีระเบียบ ขั้นตอนที่จะต้องดำเนินการตามกฎหมาย ต้องผ่านการอบรมคัดเลือกมาอย่างดี แต่เมื่อยังพบความผิด เกิดความหละหลวมให้เห็นอย่างต่อเนื่อง
เพราะการตรวจค้นจับกุมได้มีการกระทำอย่างต่อเนื่อง และก็สามารถจับกุม อุปกรณ์โทรศัพท์มือถือที่เป็นเครื่องมือในการสั่งซื้อขายยาเสพติดได้แทบทุกครั้ง ถามว่ามันเกิดเรื่องแบบนี้ได้อย่างไร หากไม่ใช่เป็นเพราะมีเจ้าหน้าที่เรือนจำรู้เห็นเป็นใจ มีการทุจริต รับเงินรับทองจากนักโทษค้ายาเสพติดเหล่านั้น ซึ่งมันก็ต้องแน่นอนอยู่แล้ว ไม่เช่นจะมีข่าวการไล่ออกเจ้าหน้าที่เรือนจำรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ จำนวน 3 คน และกำลังขยายผลเพื่อจับกุมเพิ่มเติมอีกหลายคน ซึ่งนี่คือทำตอบว่าทำไมปัญหาดังกล่าวถึงได้ระบาดเข้าไปถึงในคุก สาเหตุก็เป็นเพราะ “คน” เป็นหลักนั่นเอง ดังนั้น ถ้าจะแก้ไขก็ต้องแก้ไขที่ต้นเหตุนั่นคือ คน ที่เจ้าหน้าที่เรือนจำ ขณะที่ภายนอกก็ต้อง “เข้มงวด” กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปราบปรามเป็นหลัก
แต่ในทางตรงกันข้าม รัฐบาลชุดนี้กลับเน้นที่การสร้างอาคาร เรื่องเงินงบประมาณเป็นหลัก โดยเตรียมเสนองบกว่า 3,500 บาท เพื่อสร้างเรือนจำพิเศษที่มีลักษณะเฉพาะด้าน ในเรื่องการใช้อุปกรณ์ป้องกันแบบไฮเทค สำหรับการควบคุมกักขังนักโทษค้ายาเสพติดระดับ “ขาใหญ่” โดยเฉพาะ ขณะเดียวกันก็จะคัดเลือกผู้คุมที่กำหนดคุณสมบัติพิเศษเป็นการเฉพาะเช่นต้องจบปริญญาตรีและโท เงินเดือนสูง ซึ่งคนที่ผลักดันเรื่องดังกล่าวอย่างเต็มที่ก็คือ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง นั่นเอง
คนพวกนี้เชื่อว่าหากทำวิธีนี้แล้วจะได้ผล นั่นคือต้องใช้งบประมาณในการสร้างคุกใหม่ มีผู้คุมใหม่ อุปกรณ์พิเศษไฮเทคทั้งหมด เพื่อควบคุมนักโทษค้ายาเสพติด ซึ่งถ้ามองเฉพาะความคิดในเรื่องการตื่นตัวกับการป้องกันปราบยาเสพติดมันก็ถือว่าเป็นเรื่องดี ไม่น่าไปขัดคอ แต่อีกด้านหนึ่งก็ต้องบอกว่ามันผิดทิศผิดทาง เพราะหากบอกว่าจะเข้มงวดกับเจ้าหน้าที่ ผูคุมเรือนจำหากยังปล่อยให้มีการสั่งการจากข้างในคุกออกมาอีกผู้บัญชาการเรือนจำ หรืออธิบดีกรมราชทัณฑ์ต้องรับผิดชอบ ต้องมีการ “เชือด” ให้เห็นเป็นตัวอย่าง เพราะนี่คือความหละหลวม หย่อนยาน ซึ่งก็คือการทุจริตนั่นเอง หากบอกว่าจะสร้างคุกใหม่ เพื่อลดความแออัด เพื่อสร้างมาตรฐานการควบคุมนักโทษและป้องกันปัญหา เหตุผลแบบนี้น่าจะรับฟังได้มากกว่า
เพราะถ้าไปสร้างคุกใหม่ ไม่ว่าจะใหญ่โตโอฬารแค่ไหนก็ตาม แต่ถ้าระบบการควบคุมและการบริหารจัดการยังไม่พัฒนา มันก็ไม่มีความหมาย เพราะมันไม่มีหลักประกันว่าหลังจากมีคุกดังกล่าวเกิดขึ้นมาแล้วจะไม่มีเรื่องอื้อฉาวเกิดขึ้นอีก และถ้าเกิดขึ้นจะทำอย่าง ต้องหาเงินมาสร้างคุกใหม่ที่สุดไฮเทคกว่าเดิมอีกงั้นหรือ ดังนั้น การปราบปรามยาเสพติดที่ได้ผลทำไม ไม่เริ่มตั้งแต่การปรับทัศนคติการทำงานตั้ง หัวหน้าทีมอย่าง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ก่อนนั่นแหละ ว่าทำไมถึงคิดแต่เรื่องทุ่มงบสร้างคุกใหม่ ทำไมไม่คิดในเรื่องการปรับปรุงความเป็นอยู่ภายในให้ดีขึ้น คาดโทษกรมราชทัณฑ์ ทำไมไม่เริ่มจากสิ่งที่ใกล้ตัวในสิ่งที่เป็นไปได้ก่อน!!