xs
xsm
sm
md
lg

คำร้อง พ.ร.ก.กู้เงินของวุฒิฯ ถึงศาล รธน. คาด 30 วันรู้ผล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คำร้อง พ.ร.ก.กู้เงินของ ส.ว.ถึงศาล รธน.แล้ว ด้านตุลาการฯ กำหนดประชุมพิจารณานัดแรก 6 ก.พ.นี้ วงในคาดไม่เกิน 30 วันรู้ผล

นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าคณะโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า เมื่อเวลา 11.00 น. สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้รับเรื่องที่ประธานวุฒิสภายื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยกรณี นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา และคณะ 69 คนส่งความเห็นว่า พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2555 เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 184 หรือไม่

หลังจากนี้ ทางสำนักงานฯ ก็จะได้ส่งคำร้องดังกล่าวให้แก่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทุกคน ควบคู่กับทำการตรวจสอบคำร้องในเบื้องต้นว่ามาตามช่องทางถูกต้องหรือไม่ และอยู่ในอำนาจที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับไว้พิจารณาหรือไม่เพื่อเสนอความเห็นต่อคณะตุลาการฯ ในต้นสัปดาห์หน้า

ผู้สื่อข่าวถามว่า การลงมติของคณะตุลาการในคำร้องนี้จะแตกต่างจากการลงมติในการตีความว่ากฎหมายอื่นขัดรัฐธรรมนูญอย่างไร นายพิมลกล่าวว่า กรณีคำร้องนี้ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาว่าการออก พ.ร.ก.กู้เงินดังกล่าวเป็นไปด้วยความจำเป็นเร่งด่วนตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 184 หรือไม่ ซึ่งในมาตรา 184 วรรคท้ายก็บัญญัติว่าหากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า พ.ร.ก.ใดไม่เป็นไปตามมาตรา 184 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง ต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมด หรือ 6 เสียงใน 9 เสียง

ทั้งนี้ มีรายงานว่า คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้มีการนัดประชุมครั้งแรกเพื่อพิจารณาคำร้องเกี่ยวกับ พ.ร.ก.กู้เงิน ทั้งที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานวุฒิสภาเสนอเรื่องมาในวันจันทร์ที่ 6 ก.พ.นี้เวลา 09.30 น. ซึ่งจะเป็นการพิจารณาว่าจะรับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณาวินิจฉัยหรือไม่ หากรับวินิจฉัยก็จะมีการหารือเพื่อกำหนดปฏิทินการทำงาน

อย่างไรก็ตาม ทางสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้มีการตรวจสอบการทำงานของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเมื่อคราวรับพิจารณาวินิจฉัย พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ฉบับเมื่อปี 2552 สมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ พบว่า ใช้เวลานับแต่รับเรื่องไว้วินิจฉัยจนถึงวันที่มีคำวินิจฉัยรวมเวลา 16 วัน แต่ในการยื่นคำร้องครั้งนี้เป็นการขอให้วินิจฉัย พ.ร.ก.2 ฉบับ จึงคาดว่าจะใช้เวลาในพิจารณาวินิจฉัยไม่น่าเกิน 30 วัน
กำลังโหลดความคิดเห็น