ผู้นำฝ่ายค้าน ติงรัฐบาลปรับฐานเงินเดือน ขรก.วุฒิปริญญาตรีใหม่ เกิดปัญหาเหลื่อมล้ำช่องว่างระหว่างรายได้เพิ่มสูง รายจ่างประชาชนพุ่งครัวเรือนละ 2,000 บาท แนะทบทวนนโยบายขึ้นราคาพลังงาน ชี้ เล่ห์รัฐเตรียมแช่แข็งค่าแรง 2 ปี หลังเพิ่ม 300 บาท
วันนี้ (1 ก.พ.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แสดงความเป็นห่วงกรณีที่รัฐบาลไม่ได้ปรับฐานเงินเดือนเป็น 15,000 บาท ตามที่มีการหาเสียงไว้ โดยฐานเงินเดือนอยู่ที่ประมาณ 11,000 บาท แต่ใช้วิธีเพิ่มค่าครองชีพไปที่ 15,000 บาทแทน แม้จะเป็นเรื่องดีในการเพิ่มรายได้ แต่ก็สร้างผลกระทบอย่างหนักกับข้าราชการที่วุฒิต่ำกว่าปริญญาตรี เพราะข้าราชการที่ได้รับเงินช่วยค่าครองชีพบวกกับเงินเดือนไปแล้วยังได้อยู่ที่ตัวเลข 9,000 บาท กลายเป็นช่องว่างระหว่างข้าราชการเหล่านี้กับข้าราชการที่จบปริญญาตรีถึง 6,000 บาท และยังเป็นการส่งสัญญาณผิดในเรื่องที่รัฐบาลพยายามส่งเสริมให้เยาวชนศึกษาในสายวิาชีพ หรืออาชีวศึกษาด้วย ดังนั้น หากรัฐบาลจะทำเช่นนี้ก็ควรปรับให้กับข้าราชการที่จบระดับ ปวช. และ ปวส.ในแบบเดียวกันหรือใกล้เคียงกันมากกว่านี้ จึงอยากให้ ครม.ทบทวนเพื่อเพิ่มสิทธิในส่วนนี้ให้กับข้าราชการที่จบสายอาชีวะ หรือวุฒิต่ำกว่าปริญญาตรีทั้งหมดด้วย เพราะขณะนี้ขั้นต่ำมีรายได้อยู่ที่ 9,000 บาท สูงสุดที่ 12,000 บาท แต่ปริญญาตรีได้ 15,000 บาท
“นโยบายนี้นอกจากจะทำลายบางส่วนในการปฏิรูปการศึกษาแล้ว ยังเป็นการตอกย้ำความเหลื่อมล้ำในสังคมซึ่งไม่ควรมี หากรัฐบาลจะอธิบายวาาเป็นการช่วยเหลือค่าครองชีพก็ควรให้กับทางอาชีวะด้วยจะดีกว่า เพราะเกิดความสับสนระหว่างเงินเพิ่มค่าครองชีพกับอัตราเงินเดือน และยังกระทบต่อราคาสินค้าที่จะเพิ่มสูงขึ้นด้วย ผมอยากเตือนให้รัฐบาลทบทวนนโยบายพลังงานโดยด่วน เพราะลำพังเฉพาะที่ประกาศไปถ้ารัฐบาลทำตามที่พูดทั้งหมดภายในสิ้นปีนี้ค่าใช้จ่ายต่อครัวเรือนโดยเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นถึงเดือนละ 2 พันบาท ซึ่งสูงมาก นี่ยังไม่นับว่าจะมีการขึ้นค่าครองชีพจากมติ ครม.เรื่องค่าแรงหรือเรื่องอื่นด้วยหรือเปล่า ดังนั้น ครม.ต้องทบทวนเป็นการเร่งด่วนเพราะไม่ได้มีความจำเป็นที่จะต้องขึ้นค่าพลังงาน” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
ผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวด้วยว่า การจากสำรวจข้อมูลพบว่าสินค้าหลายอย่างที่รัฐบาลประกาศเป็นสินค้าควบคุมนั้น ประชาชนยืนยันว่า มีราคาแพงขึ้น ในขณะที่รัฐบาลไม่สามารถดูแลได้ การที่รัฐบาลมาตื่นตัวเรื่องของข้าวแกงไม่ให้เกิน 25 บาท ก็ต้องดูว่าปฏิบัติได้จริงหรือไม่ เพราะกระทรวงพาณิชย์ระบุว่าต้นทุนสินค้าลดลงแต่ราคาสินค้าแพงขึ้น แสดงให้เห็นว่ามีปัญหาในการบริหารจัดการ ซึ่งข้อเท็จจริงในเรื่องนี้พรรคจะสำรวจตรวจสอบว่าทำได้จริงหรือไม่ เพราะที่สำรวจล่าสุดใน กทม.ราคาข้าวแกงอยูที่ 40 บาท อาหารตามสั่งอาจไปถึง 50 บาท จึงอยากเตือนว่าเวลาของขึ้นราคาแล้วลงยาก ยกตัวอย่าง กรณีไข่ดาวขณะนี้ฟองละ 10 บาท ทั้งๆ ที่ราคาไข่ไก่ลดลงแล้ว การที่รัฐบาลประกาศคุมราคาสินค้าหลายอย่างในขณะนี้เป็นเรื่องยาก เช่น การควบคุมราคาโดยระบุเมนูอาหารนั้นร้านค้าก็อาจเปลี่ยนแปลงเมนูเพิ่มคำว่าพิเศษลงไปเพื่อหลบเลี่ยงการควบคุมของกระทรวงพาณิชย์ ดังนั้น การแก้ปัญหาที่ถูกจุดจึงควรไปดูที่ต้นทุน และอะไรที่รัฐบาลไม่จำเป็นต้องทำก็อย่าทำ เช่น การเพิ่มต้นทุนพลังงาน
ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลกำลังหลงทางในการแก้ปัญหาค่าครองชีพหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า จะหลงทางหรือเปล่าไม่ทราบ แต่นโยบายพลังงานของรัฐบาลไม่ได้พยายามที่ตอบโจทย์เรื่องค่าครองชีพ แต่ตอบโจทย์ในการเพิ่มมูลค่าของ ปตท.เพื่อการแปรรูปให้เป็นของเอกชนซึ่งเป็นวิธีคิดที่ผิด นอกจากนี้สิ่งที่รัฐบาลต้องพิารณาเพิ่มเติมคือ การที่ ครม.ยังไม่ตัดสินใจเรื่องฐานเงินเดือน แต่ปรับในส่วนค่าครองชีพไปที่ 15,000 บาท จะทำให้เงินเดือนหยุดนิ่ง เช่นเดียวกับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ก็มีการระบุเงื่อนไขว่า เมื่อได้ 300 บาทแล้วจะไม่ให้มีการขึ้นค่าแรงอีก 2 ปี เป็นสิ่งที่ต้องระวังเพราะการขึ้นค่าแรงตามธรรมชาติให้สอดคล้องกับความเป็นจริงจะทำให้ทุกฝ่ายปรับตัวได้ แต่การขึ้นแบบนี้แล้วระงับการขึ้นอีกสองปีก็กระทบโครงสร้างการปรับค่าแรง
“เร่งด่วนที่สุด คือ รัฐบาลต้องขจัดเงื่อนไขการเพิ่มค่าครองชีพในเรื่องพลังงานก่อน หันมาจริงจังกับการรักษาคำพูดในเรื่องของรายได้ให้มาก และต้องดูแลให้เกิดความเป็นธรรม เพราะขณะนี้กลายเป็นว่าการทำเรื่องปริญญาตรีกับ ปวช.เป็นการตอกย้ำความเหลื่อมล้ำมากซึ่งไม่เป็นผลดี” นายอภิสิทธิ์ กล่าว