xs
xsm
sm
md
lg

ข้อเสนอ “นิติราษฎร์” แก้ รธน. จะปฏิรูปหรือเปิดช่องแทรกแซง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทักษิณ ชินวัตร
รายงานการเมือง

“กลุ่มนิติราษฎร์” ทำงานแรงได้ใจทักษิณ ชินวัตร-คนเสื้อแดง-ขบวนการล้มเจ้าขึ้นเรื่อยๆ

สองสัปดาห์ที่แล้ว กลุ่มนิติราษฎร์ใช้ธรรมศาสตร์เป็นที่ชุมนุมเคลื่อนไหวการเมือง ล่ารายชื่อประชาชน 1 หมื่นชื่อแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

พร้อมกับเสนอแนวคิดแก้ไขมาตรา 112 แบบสุดโต่ง เช่น ให้ราชเลขาธิการเป็นผู้ดำเนินคดีร้องทุกข์กล่าวโทษต่อผู้ละเมิดสถาบันเพียงฝ่ายเดียว ปิดโอกาสไม่ให้ประชาชนคนจงรักภักดีได้ใช้สิทธิของประชาชนหากทนเห็นพฤติกรรมจาบจ้วงสถาบัน ยิ่งไปกว่านั้นเป็นการดึงสถาบันให้เข้าสู่การเมืองมากขึ้น เพราะราชเลขาธิการก็เปรียบเสมือนตัวแทนสถาบัน หากให้อำนาจส่วนนี้ไปอยู่กับราชเลขาธิการจะยิ่งเป็นผลเสียมากกว่าผลดี

หรือประเด็นการให้แบ่งโทษความผิดของผู้ดูหมิ่นสถาบัน หรือจาบจ้วง จากปัจจุบันที่ครอบคลุมทั้งพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ก็เสนอให้แยกโทษของพระมหากษัตริย์ออกมาต่างหาก

ล่าสุด เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา กลุ่มนิติราษฎร์ใช้หอประชุมเล็กธรรมศาสตร์จัดงานอภิปรายในหัวข้อ “ลบล้างผลพวงรัฐประหาร-นิรโทษกรรม-ปรองดอง”

ข้อเสนอที่ประมวลได้จากเวทีคราวนี้ เป็นเรื่องให้ลบล้างผลพวงจากการรัฐประหารทั้งหมด และแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50 รวมถึงแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำรัฐธรรมนูญที่นิติราษฎร์เสนอไว้ 25 คน ให้มีที่มาจาก 3 ทาง คือ ให้ ส.ส.เลือก 20 คน คิดตามสัดส่วนจำนวน ส.ส.ของแต่ละพรรคการเมือง หากใช้โมเดลนี้ เพื่อไทยก็ได้โควตามากสุด และจะมีผลทันทีต่อการแก้ไขและเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ทั้งฉบับ และโควตาจาก ส.ว.เลือกตั้ง จำนวน 3 คน และ ส.ว.สรรหา จำนวน 2 คน แล้วก็วางกรอบแก้ไขรัฐธรรมนูญ แล้วทำการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แล้วเอาเข้าไปใปให้สภาฯ และวุฒิสภาพิจารณา

แต่ไม่ได้ให้ไปพิจารณาว่าจะให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบ ให้อำนาจแค่รับฟังความคิดเห็น หากเสียงส่วนใหญ่เห็นอย่างไร คณะกรรมการฯ 24 คนก็นำกลับมาแก้ไขและให้ประชาชนทำประชามติ หากประชาชนเห็นชอบก็ใช้ รธน.ฉบับใหม่ แต่หากประชาชนไม่เห็นด้วย ก็กลับไปใช้ รธน.50

โมเดลนี้ของนิติราษฎร์และของกลุ่มไหนก็ตาม ทุกโมเดลย่อมมีข้อดีข้อเสีย ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ เช่นเดียวกับของนิติราษฎร์ดูแล้ว หัวใจหลักของนิติราษฎร์ คือ แม้จะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 แต่นิติราษฎร์กลับไม่เอาด้วยกับแนวทางการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญที่พวกเพื่อไทยส่วนใหญ่ให้ใช้แนวทางนี้

แต่กลับให้ใช้วิธีการตั้งคณะกรรมการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งตรงกับแนวคิดของ “คณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ” หรือ คอ.นธ.ของอุกฤษ มงคลนาวิน เพียงแต่ของอุกฤษเสนอให้ใช้ 34 คน

นิติราษฎร์อ้างว่า ที่เสนอโมเดลนี้ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะผ่านการยึดโยงจากประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม

ทางอ้อมก็ขั้นตอนแรกเลยคือให้พรรคการเมืองที่ได้เสียง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ที่คือการที่ประชาชนเลือกพรรคการเมืองนั้นๆ เป็นคนเลือกกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญตามโควตา ซึ่งก็จะทำให้สองพรรคใหญ่ คือ เพื่อไทย กับประชาธิปัตย์ จะมีบทบาทมากสุดในขั้นตอนนี้

และคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ช่วยเปิดช่องให้คนที่พรรคการเมืองเสนอไปย่อมขาดความเป็นอิสระเพราะก็ต้องเงี่ยหูฟังสิ่งที่แต่ละพรรคต้องการในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วย เพื่อจะได้เอาไปเสนอในที่ประชุมกรรมการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ

ทางตรงก็คือ การให้ประชาชนทำประชามติ ว่าจะยอมรับหรือไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ดี-ไม่ดี เห็นด้วย-ไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้ ก็ว่ากันไป แต่ที่แรงสุดเห็นจะไม่พ้น ข้อเสนอที่ให้ทุกหมวดในรัฐธรรมนูญ แตะต้อง พูดถึงได้ ถึงขั้นเสนอให้ปฏิรูปสถาบันหลักๆ ของประเทศไทย เช่น

ศาล กองทัพ สถาบันการเมือง
และสถาบันพระมหากษัตริย์

ในส่วนของข้อเสนอที่ต้องพูดถึง นอกจากเสียงคัดค้านดังระงม ที่เรื่องให้ปฏิรูปสถาบันฯ แม้จะบอกว่าประเทศไทยยังเป็นราชอาณาจักร ที่ยังมีประมุขของรัฐ คือ พระมหากษัตริย์ แต่ต้อง จัดวางโครงสร้างความสัมพันธ์ ระหว่างประมุขของรัฐกับองค์กรผู้ใช้อำนาจอื่นๆ ให้สอดคล้องกัน

ด้วยการให้ประมุขของรัฐ จะต้องสาบานตนว่าจะปฏิบัติตาม รธน.และพิทักษ์ รธน.ก่อนเข้ารับตำแหน่ง

มันยิ่งกว่าเหิมแล้ว สำหรับคนกลุ่มนี้ ไม่แปลกที่เริ่มจะมีคนทนไม่ได้กับพฤติกรรมจาบจ้วงไม่จบสิ้น

การที่มีกลุ่มคนชาวโคราชไปประท้วงหน้าอนุสาวรีย์ท้าวย่าโม เมืองโคราช เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา โดยสาปแช่งด่าทอพวกนิติราษฎร์ว่าเนรคุณแผ่นดิน พร้อมกับเผาหุ่น “วรเจตน์แอนด์เดอะแก๊งค์” จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ต้องจับตามองว่าเริ่มมีคนชักทนไม่ได้กับพวกนี้มากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว เหมือนกับจะรู้ทันบางอย่างว่าจุดหมายปลายทางของคนพวกนี้ต้องการอะไรกันแน่

เพราะข้อเสนอแต่ละอย่างแม้จะเป็นเรื่องน่าสนใจนำไปหารือกันว่าควรทำหรือไม่ แต่หลักๆ ที่นิติราษฎร์มา ผู้คนก็ยังสงสัยไม่ได้ว่า ข้อเสนอของนิติราษฎร์มันสร้างประโยชน์กับคนส่วนรวมอย่างไร

อาทิ ให้ปฏิรูประบบศาลนั้น ข้อเสนอที่เสนอออกมาดูแล้วก็ไม่เห็นว่าจะเป็นเรื่องการปฏิรูปแต่เป็นการเปิดช่องให้มีการแทรกแซงตุลาการได้จากฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติซึ่งก็คือพวกนักการเมือง ที่ส่วนใหญ่มีพื้นฐานมาจากนักธุรกิจหลากหลายประเภท ทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย โดยนิติราษฎร์เสนอให้ประธานศาลที่มีอยู่ทั้งใน ศาลชั้นต้น-อุทธรณ์ หรือฎีกา จะต้องได้รับการเสนอชื่อจาก ครม.และเห็นชอบจากรัฐสภา

จากปัจจุบันที่เป็นอำนาจของคณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) ที่เห็นชอบแล้วส่งรายชื่อให้ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ก็จะถูกยึดอำนาจส่วนนี้ไปอยู่ในมือของนักการเมืองทั้งหมด

ทำให้องค์กรศาลจะถูกการเมืองครอบงำแทรกแซงได้ง่าย สถาบันศาลที่เป็นสถาบันที่คนยังพึ่งหวังได้ จะถูกทำลายความน่าเชื่อถือลงทันที หากต้องถูกยึดโยงไปอยู่กับฝ่ายการเมืองมากถึงขนาดนั้นตามข้อเสนอนิติราษฎร์

แม้ข้อเสนออื่นๆ ดูแล้วจะน่าสนใจ เช่น ให้คณะตุลาการจะต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินต่อที่สาธารณะ เช่น นักการเมือง รวมถึงที่ให้ศาลชั้นต้น จะต้องให้มีผู้พิพากษาศาลสมทบ หรือผู้พิพากษาที่ได้รับการคัดเลือกจากประชาชน เข้าไปร่วมตัดสินคดีร่วมด้วย

สองเรื่องดังกล่าว ก็เป็นข้อเสนอที่น่ารับฟังนำไปถกแถลงถึงข้อดีข้อเสีย ว่าทำแล้วมีผลดีกับระบบศาล กระบวนการยุติธรรมอย่างไร เป็นการไปก้าวล่วงตุลาการมากเกินไปหรือไม่

เพราะของแบบนี้ บางทีการรักษาระยะห่างของ 3 โครงสร้างอำนาจหลัก คือ ฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ศาล เอาไว้ มันก็เป็นเรื่องดี เพื่อให้มีการถ่วงดุลตรวจสอบกันและเป็นที่พึ่งพาของสังคมได้ในยามที่หากอำนาจส่วนไหนกลไกทำงานไม่ได้ ขาดความเป็นอิสระ ไร้ซึ่งความเป็นธรรม ก็จะได้พึ่งหวังกลไกอื่น

เหมือนกับที่ครั้งหนึ่งเกิด ตุลาการภิวัฒน์ขึ้น ในช่วงที่นิติบัญญัติ-บริหาร ถูกระบอบทักษิณรวบอำนาจไว้จนหมด ตุลาการก็กลายเป็นที่พึ่งเพียงหนึ่งเดียวของสังคม

มาวันนี้ โมเดลของนิติราษฎร์ ที่ให้มีการเปิดประตูให้คนเข้าไปแทรกแซงศาลได้ จึงน่ากลัวไม่น้อย หากมีคนคิดตามและเอาด้วย เมื่อมีการยกร่าง รธน.ฉบับใหม่
กำลังโหลดความคิดเห็น