xs
xsm
sm
md
lg

กสม.จี้นายกฯ ให้ ปชช.มีส่วนร่วมบริหารจัดการภัยพิบัติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปธ.กสม.ลงนาม จม.เปิดผนึก ถึงนายกฯ แนะควรให้ประชาชนรู้ข่าวภัยพิบัติและมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ รวมทั้งปกป้อง คุ้มครอง เยียวยาให้เหมาะสม

วันนี้ ( 23 ม.ค) ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน นางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ลงนามในจดหมายเปิดผนึกเรื่อง “ภัยพิบัติกับสิทธิมนุษยชน” ถึงนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ระบุว่า เหตุการณ์น้ำท่วมในปี 2544 นับเป็นมหาอุทกภัยครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย เพราะสร้างความเสียหายในพื้นที่ร่วม 60 จังหวัด ทั้งในระดับครัวเรือน ชุมชน ภาคสาธารณะ รวมทั้งภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม ทำให้คนจำนวนไม่น้อยต้อง พลัดพรากจากที่อยู่อาศัย ถูกทอดทิ้ง ลำบาก ขาดแคลน เจ็บป่วย ประสบอุบัติภัย สูญเสียทรัพย์สิน ไปจนถึงชีวิต

ภัยพิบัติครั้งนี้รุนแรงเกินกำลังการจัดการของหน่วยงานภาครัฐเพียงลำพัง โดยเฉพาะในภาวะที่ผู้เสียหาย เดือดร้อน ต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน จึงเป็นเรื่องน่าชื่นชมที่หน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน สื่อมวลชน ประชาชนหลากหลายกลุ่ม มีจิตอาสา ร่วมรับผิดชอบต่อสังคม ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในรูปแบบต่าง ๆเมื่อระดับน้ำลดลงจนกลับสู่ภาวะปกติ จึงเป็นช่วงเวลาของการเยียวยา ซ่อมแซม ความเสียหายต่าง ๆ ขณะที่มีการย้อนวิเคราะห์เหตุการณ์ ทั้งสาเหตุ การจัดการ การสื่อสาร และอื่นๆ อย่างคาดหวังว่า จะมีความพร้อมมากขึ้น มีการจัดการที่ดีขึ้น เพื่อความเสียหายที่น้อยลง

ช่วงปลายปีที่ผ่านมา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้จัดสัมมนาเรื่อง “วิกฤตน้ำท่วมกับสิทธิมนุษยชน” ผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชนทั่วไป จำนวนทั้งสิ้น 234 คน และมีข้อเสนอจากการระดมความคิดเห็น 1.ประชาชนควรมีสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างถูกต้องและรวดเร็วจากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือและบริหารจัดการ เพื่อสามารถลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ให้น้อยที่สุด 2.ประชาชนควรมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการภัยพิบัติ โดยรัฐบาลต้องจัดช่องทางที่เหมาะสม เพื่อให้แสดงความคิดเห็น และร่วมดำเนินการ ตั้งแต่ระยะก่อนเกิดภัย ระหว่างเกิดภัย และหลังเกิดภัย 3.รัฐต้องให้การปกป้อง คุ้มครองและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการเกิดภัยพิบัติอย่างเหมาะสม เสมอภาค เท่าเทียม และเป็นธรรม โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ ตามหลักการสิทธิมนุษยชน

ทั้งนี้ข้อเสนอทั้งหมดสอดคล้องกับหลักในการจัดการภัยพิบัติที่รัฐพึงดำเนินการ คือ การเตรียมพร้อม การให้ข้อมูล ความรู้ การจัดระบบการเตือนภัย การเคลื่อนย้าย การจัดที่พักพิงที่ใช้มิติการคุ้มครองสิทธิเพิ่มเติมจากมิติการสงเคราะห์ ด้วยการจัดกิจกรรมและสร้างการมีส่วนร่วมโดยเสมอภาคและไม่เลือกปฏิบัติ และเมื่อสถานการณ์ผ่อนคลาย รัฐพึงดูแลการย้ายกลับ การเยียวยา การฟื้นฟู เพื่อให้กลับสู่สภาพเดิม หรือสภาพที่สามารถดำรงชีวิตต่อไปได้ อันเป็นหลักการสำคัญตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และหลักการจัดการภัยพิบัติ ที่ประชาชนพึงได้รับการคุ้มครอง ป้องกัน และใช้หลักการนี้กับภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในทุกรูปแบบ ทุกสถานการณ์ ทุกพื้นที่ โดยเฉพาะภัยพิบัติในพื้นที่ซ้ำซาก ซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จะติดตามการจัดการภัยพิบัติที่รัฐพึงดำเนินการอย่างรอบด้าน ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น