ที่ประชุมวุฒิฯ ดุเดือดไต่สวนพยานถอดถอน “ภักดี” ดีเดย์ชี้ชะตา 15 มี.ค.นี้ “หญิงหน่อย” โอดทำงานเพื่อชาติมานานไม่เคยมัวหมอง ซัด ป.ป.ช.เลือกปฏิบัติ มีขบวนการจ้องทำลายตัวเอง ด้าน “ปานเทพ” ป.ป.ช.ป้อง “ภักดี” ทำตามหน้าที่ การันตีไม่มีเอี่ยวทำทีโออาร์คอมพ์ฉาว “วุฒิสภา” ไฮเทค เตรียมยิงสดการประชุมผ่านมือถือ 23 ม.ค.นี้
วันนี้ (20 ม.ค.) ในการประชุมวุฒิสภานัดพิเศษ โดยมีพลเอกธีรเดช มีเพียร ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม และได้พิจารณาวาระเรื่องด่วนกรณี น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.พรรคเพื่อไทยและคณะ ยื่นคำร้องขอให้วุฒิสภามีมติให้ นายภักดี โพธิศิริ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พ้นจากตำแหน่ง ตามมาตรา 248 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยเป็นการประชุมนัดที่ 3 ซึ่งเป็นการรับฟังคำชี้แจงของพยานบุคคลซึ่งที่ประชุมวุฒิสภามีมติอนุญาต โดยไม่มีการซักถาม ทั้งพยานที่ได้รับอนุญาตจากฝ่ายผู้ร้องมี 8 ปาก และฝ่ายผู้ถูกร้อง 4 ปาก แต่มีพยานฝ่ายผู้ร้อง 3 ปาก แจ้งติดภารกิจไม่สามารถมาชี้แจงได้
ที่ประชุมได้เริ่มรับฟังคำชี้แจงจากพยานฝ่ายผู้ร้องก่อน โดย นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงการจัดซื้อคอมพิวเตอร์กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากข้อมูลที่ได้พบนายภักดีในฐานะประธานคณะกรรมการประกวดราคาจัดซื้อ (ทีโออาร์) เรียกประชุม 2 ครั้ง ก่อนมีการเปลี่ยนตัวประธานฯ ซึ่งมีเอกสารรายงานการประชุมชัดเจนว่า มีการตรวจสอบพบสิ่งผิดปกติใดบ้าง โดยเฉพาะเรื่องของบุคคลที่นำเรื่องนี้ร้องต่อ ป.ป.ช. ก็เป็นพยานให้กับบริษัทเอกชน จึงถือว่าเป็นผู้มีพฤติกรรมไม่ชอบ ไม่น่าเชื่อถือ แต่ ป.ป.ช.กลับรับเรื่องไว้สอบสวน โดยมีนายภักดีเป็นประธานคณะอนุกรรมการไต่สวน มีความพยายามให้ความสำคัญพยานบุคคลโดยอาศัยแต่คำกล่าวอ้างของบุคคลดังกล่าว แล้วก็ชี้มูลความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (พ.ร.บ.ฮั้ว) ทั้งที่ตนไม่ได้เกี่ยวข้องกับขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างเลย
นพ.วิชัย เทียนถาวร อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า นายภักดีจะปฏิเสธความรับผิดชอบ หรืออ้างว่าไม่รู้ไม่เห็นต่อเรื่องนี้ไม่ได้ ในฐานะหัวหน้ากลุ่มภารกิจสนับสนุนการบริการด้านสาธารณสุข ที่ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน โดยกระทรวงสาธารณสุขได้จัดกลุ่มภารกิจให้รองปลัดกระทรวงฯกำกับดูแลแทนปลัดกระทรวงฯ การลงนามใดๆของนายภักดี จึงมีภาระผูกพันตามพันธะกรณีทุกประการ จะอ้างว่าเป็นเพียงผู้ผ่านเรื่องเท่านั้นไม่ได้ และตลอดที่รับหน้าที่ได้ใช้อำนาจลงนามในหลายกรณี ทั้งนี้นายภักดียังปฏิบัติหน้าที่ขาดความเที่ยงธรรม เพราะมีเพียงความเห็นนายภักดีคนเดียวที่เห็นว่าการที่ตนยกเลิกประกวดราคานั้นไม่ชอบ ทั้งที่เป็นการใช้อำนาจสั่งการตามระบบและระเบียบทุกประการ ซึ่งศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาลงวันที่ 30 มิ.ย. 2553 ว่าหัวหน้าส่วนราชการมีอำนาจใช้ดุลพินิจยกเลิกการประกวดราคาได้
จากนั้น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีต รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ตนเป็นคนหนึ่งที่ได้รับความไม่เป็นธรรมจากนายภักดี ทั้งที่ตลอดเวลาที่รับใช้ประเทศมา ไม่เคยมีเรื่องมัวหมองทุจริต ไม่เคยถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจแม้ครั้งเดียว แต่มามีตราบาปทั้งที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้าง ต้องถูกกล่าวหาจาก ป.ป.ช. ทั้งที่ต้องถือว่าโครงการนี้ยังไม่มีการจัดซื้องบประมาณกว่า 800 ล้านบาท ก็ส่งคืนกระทรวงการคลัง ดังนั้นจึงไม่เสียประโยชน์ และศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาแล้ว แต่ตนเสียชื่อเสียงไปแล้ว
คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวต่อว่า เรื่องนี้ปัญหามาจากทีโออาร์ และนายภักดีเป็นผู้จัดทำทีโออาร์เอง แล้วบริษัทเอกชนล่วงรู้ข้อมูลทีโออาร์ได้อย่างไร หากไม่มีข้าราชการบางคนไปมีส่วนรู้เห็น ตนยกกรณีนี้ขึ้นร้องต่อ ป.ป.ช.แล้ว แต่ไม่เคยเรียกไปชี้แจงแม้แต่ครั้งเดียว ขณะที่นายภักดีกลับเลือกที่จะเร่งดำเนินคดีตามคำร้องของอีกฝ่ายหนึ่ง ยิ่งกว่านั้นบุคคลที่ร้องนั้นยังไปเป็นพยานให้บริษัทเอกชนฟ้องร้องกระทรวงฯ จะเห็นว่ามีขบวนการเป็นกลุ่มก้อน จากผู้ร้องตนจึงกลายเป็นผู้ถูกร้องเสียเอง
ขณะที่พยานฝ่ายผู้ถูกร้องเริ่มที่ นายปานเทพ กล้านรงค์ราญ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ที่ชี้แจงว่า ข้อกล่าวหาว่านายภักดีดำรงตำแหน่งกรรมการ บริษัท ไทยวัฒนาฟาร์มาซูติคัล เด็กซ์โทรส จำกัด เป็นการขัดต่อ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมาตรา 11(3) แต่นายภักดีแสดงเจตจำนงลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัทดังกล่าวภายหลังได้รับตำแหน่ง ภายในเวลาที่กำหนด และศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยแล้ว ว่าการลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัท มีผลทั้งโดยการแสดงเจตนาหรือทำเป็นหนังสือ นายภักดีจึงทำตามกฎหมายทุกประการไม่ฝ่าฝืน ส่วนข้อกล่าวหาว่าเป็นกรรมการไต่สวนคดีจัดซื้อจัดจ้างคอมพิวเตอร์ กระทรวงสาธารณสุขโดยมิชอบเนื่องจากรู้เห็นเหตุการณ์ล่วงหน้านั้น ป.ป.ช.มีมติว่า การจัดทำทีโออาร์ของกระทรวงสาธารณสุขเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนการกล่าวหา จึงอยู่เหนือความรับผิดชอบของนายภักดี
ต่อด้วย นายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการ ป.ป.ช.กล่าวเสริมว่า คณะอนุกรรมการฯวินิจฉัยประเด็นการสั่งยกเลิกประกวดราคา จึงไม่มีเหตุที่นายภักดีจะมีส่วนรู้เห็น เพราะเป็นเพียงผู้จัดทำทีโออาร์ ส่วนข้อกล่าวหาปฏิบัติหน้าที่ขาดความเที่ยงธรรม การไม่รับฟังพยานที่สำคัญ ถือเป็นอิสระของคณะอนุกรรมการฯ ซึ่งตนยังมองไม่เห็นว่านายภักดีทำตามอำเภอใจอย่างไร เพราะเป็นอิสระโดยแท้ ส่วนคำสั่งศาลปกครองก็ต้องเคารพ แต่ข้อที่คณะอนุกรรมการฯยกมาพิจารณาเกี่ยวกับมูลเหตุจูงใจว่ามีคำสั่งเพราะเห็นแก่ประโยชน์ราชการ หรือเพราะถูกสั่งการ ซึ่งประเด็นนี้ยังไม่มีคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง อนุกรรมการฯ ไม่ได้กระทำฝ่าฝืนคำสั่งศาล
ขณะที่ นายพงษ์เทพ ทวีโชคธนากุล ข้าราชการชำนาญการ กล่าวว่า ประเด็นของผู้ร้อง อนุกรรมการฯเคยพิจารณามาแล้ว 3 รอบ เปิดโอกาสให้มีการนำสืบและปฏิบัติตามระเบียบ ป.ป.ช.ครบถ้วน เรื่องโทรศัพท์เป็นเอกสารในสำนวนที่มีการพิจารณาอย่างชัดเจนแล้ว แต่มีความคลาดเคลื่อนในจุดทศนิยม และเรื่องนี้เราไม่ได้ยกขึ้นมาสอบสวนเอง แต่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาสอบสวนและศึกษาเรื่องเกี่ยวกับการทุจริต วุฒิสภา ที่มี พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ ส.ว.กทม.สมัยนั้นเป็นประธาน ส่งสำนวนมาให้ ส่วนคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง อาจพิจารณาไปตามพยานเอกสารของเอกชน แต่อนุกรรมการฯมีการนำสืบรวบรวมพยานครบถ้วน และไม่มีกฎหมายฉบับใดกำหนดว่า ป.ป.ช. หรืออนุกรรมการฯต้องรับฟัง เพราะข้อมูลอาจไม่ตรงกัน
ด้าน นายสุรินทร์ เพชรชูพงษ์ ข้าราชการบำนาญ สำนักงานเลขาธิการ ป.ป.ช. เลขานุการคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ กล่าวว่า ขั้นตอนของเรื่องนี้ยังไม่จบ ไม่ใช่ว่าอนุกรรมการฯชี้มูลอย่างไรแล้วจบ เพราะ ป.ป.ช.มีมติให้ไต่สวนคดีนี้ทั้งคณะ หากมีมูลก็ยังเข้าสู่ชั้นอัยการ ก่อนขึ้นสู่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เรื่องนี้โปร่งใส การใช้สิทธิตาม กรณีนี้ผู้ร้องได้ก้าวล่วงเนื้อหาสำนวน พยาน 4 ใน 5 ท่านก็เป็นผู้ถูกร้อง
“ในชั้นสอบสวนหัวหน้าส่วนราชการคนหนึ่งกล้ายืนยันว่า มีฝ่ายการเมืองสั่งการล้มประกวดราคา แต่ไม่ได้สั่งทันที พอไม่ทำก็ถูกให้พ้นจากตำแหน่ง เมื่อท่านถูกกระทำอนุกรรมการฯจึงไม่อาจปฏิเสธได้ และยังตรวจพบว่ามีการโทรศัพท์ของรัฐมนตรีไปยังผู้เกี่ยวข้อง หลายครั้งหลายครา จนผลการพิจารณาของคณะกรรมการเปลี่ยนไป แต่ยอมรับว่าเอกสารที่ได้รับรายงานจากกระทรวงสาธารณสุข ไม่มีจุดทศนิยมจริง พบว่าผิด อนุกรรมการฯ รายงานถึงกรรมการ ป.ป.ช.ทันที แต่สาระสำคัญคือมีการโทรหาจริง จึงเชื่อว่ามีเหตุจูงใจ” นายสุรินทร์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงาน ขั้นตอนจากนี้จะเปิดโอกาสให้ ส.ว.ได้ทำคำซักถามพยานของทั้ง 2 ฝ่ายผ่านตัวแทน ภายในวันที่ 27 ม.ค.55 เพื่อให้พยานชี้แจงอีกครั้ง และจะมีการลงมติให้นายภักดี พ้นจากตำแหน่งหรือไม่ ในวันที่ 15 มี.ค.นี้ ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ พล.อ.ธีรเดชได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่าได้ส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ไต่สวนกรณีนายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ และส.ส.จำนวน 145 คน ได้ยื่นถอดถอน น.ส.กฤษณา สีหลักษณ์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลัง ออกจากตำแหน่ง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 270 กรณีใช้อำนาจก้าวก่ายแทรกแซงการทำงานของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)
นอกจากนี้ การประชุมวุฒิสภาโดย พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ประธานวุฒิสภา จะเป็นประธานพิธีเปิดการถ่ายทอดสดการประชุมวุฒิสภาผ่านโทรศัพท์มือถือในวันที่ 23 ม.ค.นี้ เวลา 09.45 น. ณ บริเวณหน้าห้องประชุมรัฐสภา ชั้น 2 อาคารรัฐสภา 1 โดยพิธีเปิดในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการเปิดการถ่ายทอดสดผ่านโทรศัพท์มือถือแล้ว วุฒิสภายังได้เพิ่มช่องทางในการเข้าถึงระบบโดยสามารถเข้าชมผ่านโทรศัพท์มือถือ ทั้งทางเว็บเบราว์เซอร์ และยังได้เพิ่มความสะดวกในการรับชม โดยจัดทำเป็นโมบายแอพพลิเคชั่นที่ชื่อว่า “Senate TV” ซึ่งได้เปิดบริการให้สามารถดาวน์โหลดไปใช้งานได้ฟรีสำหรับผู้ใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนระบบปฏิบัติการ iOS (ไอโอเอส) สามารถดาวน์โหลดได้ที่ AppStore และระบบปฏิบัติการ Android (แอนดรอยด์) สามารถดาวน์โหลดได้ที่ AndroidMarket
โดยวัตถุประสงค์ของโครงการนี้ วุฒิสภาได้เล็งเห็นประโยชน์ของโทรศัพท์มือถือที่ได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากในปัจจุบัน รวมทั้งมาจากวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นจึงได้ดำเนินการจัดทำระบบถ่ายทอดสดการประชุมวุฒิสภาผ่านมือถือให้สามารถรองรับอุปกรณ์เคลื่อนที่ที่ใช้ระบบปฏิบัติการต่างๆ ได้แก่ ระบบปฏิบัติการ iOS ของผลิตภัณฑ์ Apple ระบบปฏิบัติการ Andriod ของค่าย Google ระบบปฏิบัติการ RIM ที่ใช้กับเครื่อง Blackberry ระบบปฏิบัติการ Windows Mobile จากค่าย Microsoft และระบบปฏิบัติการ Symbian ที่ใช้อยู่บนมือถือของหลายค่ายผู้ผลิต ซึ่งผลจากการทดสอบดังกล่าว ไม่พบปัญหาอันเป็นอุปสรรคต่อการรับชม