อย่าคิดว่าคำ"กล่องดวงใจ"ไม่ใช่คำสุภาพ เพราะนี่คือคำที่เหมาะเหลือเกินในการบอกเล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างค่ายผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือและนักพัฒนาแอปพลิเคชันในยุคสมาร์ทโฟนครองเมือง สิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้คือค่ายมือถือต้องรักษานักพัฒนาของตัวเองให้ดี อย่าให้ใครชิงกล่องดวงใจไปเหมือนทศกัณฐ์ที่เผลอให้หนุมานหลอกล่อจนเอากล่องดวงใจไปขยี้จนต้องพ่ายแพ้ในเรื่องรามเกียรติ์
ที่ผ่านมา ดวงใจของค่ายมือถือคือผู้บริโภคที่หล่อเลี้ยงสูบฉีดให้ธุรกิจเติบโต ขอเพียงผลิตเครื่องโทรศัพท์มือถือให้สวยงามและมีคุณสมบัติฮาร์ดแวร์ที่ดี ผู้บริโภคก็จะเทใจให้และเลือกซื้อโทรศัพท์มือถือรุ่นนั้น แต่วันนี้ไม่ใช่ ผู้บริโภคหันมาชั่งน้ำหนักจากจำนวนแอปพลิเคชันที่สามารถใช้งานกับสมาร์ทโฟนทุกรุ่นในท้องตลาด ค่ายมือถือจึงต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้นักพัฒนาแอปพลิเคชันหรือ Developer มีความสนใจสร้างแอปสำหรับโทรศัพท์มือถือของตัวเองมากกว่าค่ายคู่แข่ง
เมื่อนักพัฒนากลายเป็นปัจจัยเสริมที่สามารถชี้ชะตาธุรกิจได้ สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้คือค่ายมือถือผู้สร้างระบบปฏิบัติการสำหรับสมาร์ทโฟน ทั้งแอปเปิล กูเกิล ไมโครซอฟท์ แบล็กเบอรี่ และโนเกียต้องจัดงานประชุมนักพัฒนาแอปพลิเคชันทุกปี พยายามลงทุนและสร้างนวัตกรรมให้นักพัฒนาสามารถสร้างแอปพลิเคชันได้เร็วและง่ายขึ้น ซึ่งใครทำได้ดีกว่าก็จะได้ใจกลุ่มนักพัฒนาไปครองได้มากกว่า
"ผมคิดว่านักพัฒนาส่วนใหญ่เลือกสร้างแอปพลิเคชันตามความชอบส่วนตัวก่อน อีกส่วนคือเลือกตามจำนวนผู้ใช้งานแล้วดูความคุ้มค่าในการลงทุน" สิทธิพล พรรณวิไล ผู้อำนวยการบริษัท หัวลำโพง (hlp) ผู้ผลิตแอปพลิเคชันแชร์ภาพชื่อดังอย่าง Molome กล่าวในงานประชุมนักพัฒนา Blackberry DevCon Asia 2011 ที่จัดขึ้นเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ประเทศสิงคโปร์
งาน Blackberry DevCon Asia 2011 คืออีกบทพิสูจน์ที่ตอกย้ำว่าแบล็กเบอรี่หรือบีบีกำลังเดินมาตรการรักษากล่องดวงใจอย่างเต็มที่ เพราะนาทีนี้ "ริม (RIM : Research In Motion)" ผู้ผลิตบีบีนั้นเดินหน้าเข้าถึงกลุ่มนักพัฒนาในท้องถิ่นเอเชียอย่างจริงจัง โดยสิทธิพลเป็นหนึ่งในนักพัฒนาไทยมากกว่า 100 คนที่ริมออกค่าใช้จ่ายให้ไปร่วมงานที่ประเทศสิงคโปร์ หลังจากริมต้องย้ายสถานที่จัดงานจากประเทศไทยไปเพราะภัยน้ำท่วม
ธรรมชาติของนักพัฒนาที่สิทธิพลกล่าวถึงมีส่วนทำให้ริมปรับตัวใหม่ในวันนี้ ด่านแรกที่ริมสอบผ่านคือการประกาศเปิดตัวระบบปฏิบัติการใหม่ Blackberry 10 ซึ่งจะเริ่มทำตลาดอย่างเร็วในช่วงปีหน้า จากการพูดคุยกับนักพัฒนาที่ร่วมงาน ระบบปฏิบัติการนี้ได้ใจนักพัฒนาเพราะความทันสมัยของรูปแบบยูสเซอร์อินเทอร์เฟสหรือ UI (User Interface) ซึ่งถูกการันตีว่ามีความหมดจด และเติบโตเต็มที่กว่าระบบปฏิบัติการใดๆที่ริมเคยทำตลาดมา ทั้งบีบีและแท็บเล็ตอย่างเพลย์บุ๊กในอนาคต
เบื้องหลังรูปแบบยูไอหรือหน้าตาโปรแกรมที่อลังการงานสร้างนั้นเกิดขึ้นได้เพราะการควบรวมกับบริษัท The Astonishing Tribe หรือ TAT ซึ่งเป็นผู้ร่วมออกแบบยูไอของ iPhone รุ่นแรกมาก่อน ทั้งหมดนี้ต้องยกนิ้วว่าริมสามารถวางแผนประสานการทำงานของ 2 บริษัทที่ซื้อมาได้ดีมาก คือทั้ง TAT และ QNX บริษัทผู้พัฒนาระบบปฏิบัติการสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ส่วนใหญ่ในท้องตลาดทั้งระบบฝังตัวในรถยนต์และอุปกรณ์เสริมโทรทัศน์
"TAT ออกแบบยูไอในไอโฟน 2G รับรองว่าน่ากลัว ทั้ง TAT และ QNX จะประสานกันหมดเป็นระบบนิเวศน์และช่วยผลักดันบีบีไปถึงยอดเขาลูกใหม่" อาณัติ เลี้ยงพาณิชย์ นักพัฒนาจาก www.blackberryclubthailand.com อธิบาย
อาณัตินั้นมีดีกรีเป็นผู้นำชุมชน (Community Leader) ของนักพัฒนาแอปพลิเคชันแบล็กเบอรี่จากประเทศไทยที่เข้าร่วมงาน Blackberry DevCon Asia 2011 ครั้งนี้ อาณัติประเมินว่าสัดส่วนนักพัฒนาไทยที่เขียนแอปพลิเคชันให้แบล็กเบอรี่ในขณะนี้มีเพียง 20% ก็จริง แต่แนวโน้มเติบโตนั้นชัดเจนอย่างมากในช่วงปีหน้า
"นักพัฒนาแอปบีบีในไทยมีน้อยแต่แข็งแรง ถ้าเขียนขึ้นมาแล้วมีโอกาสขายได้มาก ปีหน้าไม่ว่า Blackberry 10 จะถูกเปิดตัวเดือนไหน แต่เชื่อว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นแน่นอน ยังไม่ยุติธรรมถ้าจะประเมินการเติบโตของนักพัฒนาแอปบีบีตอนนี้"
นอกจากยูไอ ริมยังอำนวยความสะดวกให้นักพัฒนาแอปพลิเคชันทั่วโลกเป็นพิเศษด้วยการเปิดตัวเครื่องมือใหม่อย่าง WebWork ซึ่งจะทำให้นักพัฒนาสามารถเขียนแอปพลิเคชันสำหรับอุปกรณ์แบล็กเบอรี่ได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย เท่ากับนักพัฒนาจะมีคู่แข่งในสังเวียนแอปพลิเคชันบีบีเพิ่มขึ้นแน่นอนนับจากนี้ แต่ประโยชน์จะตกอยู่กับผู้ใช้บีบีที่จะมีแอปพลิเคชันเพิ่มขึ้น
หากถึงจุดนั้น เชื่อว่ามีโอกาสที่ชาวบีบีจะได้ใช้แอปพลิเคชันฟรีเพิ่มขึ้น เรื่องนี้สิทธิพลชี้ว่าเทรนด์การพัฒนาแอปพลิเคชันแบบเสียค่าใช้จ่ายนั้นไม่ยั่งยืน เพราะมีโอกาสสูงที่แอปพลิเคชันฟรีจะเกิดขึ้นตามหลังแอปพลิเคชันเสียค่าบริการ โดยระบุว่าแอปพลิเคชัน Molome ของหัวลำโพงนั้นมียอดการดาวน์โหลดจากผู้ใช้แบล็กเบอรี่สูงมาก คิดเป็น 30-40% ของยอดการดาวน์โหลดในแพลตฟอร์มอื่น
ที่สำคัญ ริมยังมีแผนเข้าถึงนักพัฒนาไทยอย่างจริงจัง โดยนอกจากงานครั้งนี้ ริมได้จัดงานประชุมนักพัฒนาขึ้นที่ประเทศอินโดนีเซียช่วงต้นปีที่ผ่านมา เท่ากับริมจัดงานประชุมนักพัฒนาในเอเชียถึง 2 ครั้งในปีนี้ แถมยังมีแผนเข้าร่วมมือทำโครงการการศึกษากับมหาวิทยาลัยไทยช่วงปีหน้า
"ต้องยอมรับว่าตอนนี้ บีบี เป็นแพลตฟอร์มที่เข้าถึงนักพัฒนาไทยมากที่สุด ในภาพรวม ริมแก้ปัญหาทั้งหมดที่เคยเกิดขึ้นกับนักพัฒนาได้ดี ทั้งการปรับยูไอใหม่ และการให้ชุดพัฒนาโปรแกรม (SDK) ที่เร็วกว่าเดิม ผิดจากก่อนนี้ที่ได้ช้า"
เหนืออื่นใด ผู้ร่วมงาน Blackberry DevCon Asia 2011 นั้นได้รับแจกแท็บเล็ตบีบี "Playbook" รุ่น 16GB คนละ 1 เครื่อง ซึ่งเป็นไปตามเทรนด์งานประชุมนักพัฒนาอื่นๆที่ค่ายผู้ผลิตมักจะแจกอุปกรณ์แพลตฟอร์มนั้นแก่นักพัฒนาฟรี เรียกว่าเลี้ยงดูปูเสื่อให้พร้อมทั้งเครื่องมือและอุปกรณ์
ใครที่อยากสัมผัสงาน Blackberry DevCon Asia ปีหน้า ริมสัญญาว่าจะกลับมาจัดในเมืองไทยแน่นอนหากน้ำไม่ท่วม!!