“รมต.ยุ่น” พบ “กิตติรัตน์” หารือภาคีเยียวยา ธุรกิจโดนพิษน้ำท่วม ออก 6 มาตรการ ฟื้นตัวไทย ยันไทยยังเป็นแหล่งลงทุนที่น่าสนใจ ด้านรัฐบาลยันออก 3 มาตรการรองรับ
วันนี้ (11 ม.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายยูกิโอะ เอดาโนะ รัฐมนตรีเศรษฐกิจการค้า และอุตสาหกรรมประเทศญี่ปุ่น เดินทางเข้าพบ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เพื่อหารือมาตรการฟื้นฟูภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย ซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศไทยและรวมไปถึงห่วงโซ่อุปทานของเศรษฐกิจทั่วโลก
นายเอดาโนะกล่าวว่า ประเทศญี่ปุ่นจะร่วมมือกับประเทศไทยในการฟื้นฟูประเทศหลังอุทกภัย ให้ฟื้นตัวให้เร็วที่สุด และยังเห็นว่า ประเทศไทยยังเป็นแหล่งลงทุนที่น่าสนใจ ทั้งนี้ ทั้งสองประเทศได้มีการหารือโดยกำหนดมาตรการร่วมกัน 5 ประการ คือ 1. ญี่ปุ่นจะส่งผู้เชี่ยวชาญมาฟื้นฟูดูแลโรงงานที่ได้รับความเสียหาย เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมฟื้นตัวให้เร็วที่สุด 2. จัดสัมมนาในประเทศญี่ปุ่นเกี่ยวกับมาตรการของประเทศไทยในการป้องกันและฟื้นฟูอุตสาหกรรมที่ได้รับความเสียหายจากพื้นที่อุทกภัย 3. พัฒนาโครงการความช่วยเหลือระหว่างประเทศ เช่น โครงการช่วยเหลือการส่งออก การส่งผู้เชี่ยวชาญมาดูแลและให้คำแนะนำ เพื่อให้ประเทศไทยยังคงมีความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก
4. ดำเนินการรับคนงานไทยบางส่วนที่ทำงานในบริษัทญี่ปุ่น และได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเข้าประเทศญี่ปุ่นชั่วคราวอย่างต่อเนื่อง 5. ให้เงินสนับสนุนบริษัทญี่ปุ่นที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมในไทย ผ่านบริษัทแม่ในญี่ปุ่น และ 6. เสนอระบบการจัดการพิบัติภัยโดยใช้ดาวเทียม เพื่อป้องกันน้ำท่วม
ขณะที่ประเทศไทยจะดำเนินการ ตามมาตราการ 3 ประการ คือ 1. อำนวยความสะดวกในเรื่องมาตรการต่างๆ สำหรับผู้ประกอบการต่างชาติ เช่น การออกวีซ่าในการทำงานและใบอนุญาตทำงานให้ต่างชาติ 2. ดำเนินมาตรการช่วยเหลือให้กับบริษัทที่ได้และไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการการลงทุน (บีโอไอ) เช่น ยกเลิกภาษีการนำเข้าอะไหล่และอุปกรณ์ที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม โดยเร็วที่สุด และ 3. ฟื้นฟูความมั่นใจของนักลงทุนชาวญี่ปุ่นและชาวต่างชาติ โดยซ่อมแซมและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดน้ำท่วมอีก
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน แบบจำกัดวงเงินภาษีที่ยกเว้น ให้เสมือนเป็นโครงการใหม่ ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี หากยังลงทุนในจังหวัดเดิมที่ประสบอุทกภัย จะได้รับการยกเว้นภาษีในอัตราร้อยละ 150 ของเงินลงทุน รวมกับวงเงินภาษีที่ได้รับอยู่เดิมที่ยังเหลืออยู่ แต่หากย้ายไปการลงทุนจังหวัดอื่น ให้ได้รับยกเว้นร้อยละ 100 ของการลงทุน
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนแบบไม่จำกัดวงเงินภาษีที่ยกเว้น ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เพิ่มจากระยะเวลาสิทธิที่เหลืออยู่อีกไม่เกิน 3ปี แต่รวมแล้วไม่เกิน 8 ปี สำหรับโครงการที่มีระยะเวลาการได้รับสิทธิเหลือมากกว่า 5 ปี ให้ได้สิทธิเพิ่ม ดังนี้ หากเหลือระยะเวลายกเว้นภาษีได้มากกว่า 5-6 ปี ให้ได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 ถึง 2 ปี หากเหลือเวลายกเว้นภาษีเงินได้มากกว่า 6-7 ปี ให้ได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 อีก 4 ปี และหากเหลือระยะเวลายกเว้นภาษีเงินได้มากกว่า 7-8 ปี ให้ได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 อีก 5 ปี
อนึ่ง ในปี 2554 มีโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจำนวน 1,847 โครงการ มูลค่า 663,600 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนจากผู้ประกอบการไทยร้อยละ 41 ผู้ประกอบการต่างชาติร้อยละ 34 ที่เหลือเป็นการร่วมทุนโดยนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนสูงสุด คือ นักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น จำนวน 543 โครงการ เงินลงทุน 187,750 ล้านบาท