ฝั่งขวาเจ้าพระยา
โดย...โชกุน
การชุมนุมปิดถนนวิภาวดีรังสิต ของกลุ่มผู้ประกอบการขนส่ง เมื่อวานซืน เพื่อคัดค้านการปรับขึ้นราคาเอ็นจีวี ของ ปตท. จบลงด้วยการที่ ทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายผู้ประกอบการตกลงกันว่า จะมีการปรับขึ้นราคาเอ็นจีวี ในวันที่ 16 มกราคมนี้ ตามแผนเดิม กิโลกรัมละ 50 สตางค์ และอีก 3 เดือนต่อไป เดือนละ 50 สตางค์เช่นกัน รวมแล้วคือ ปรับขึ้น 2 บาทต่อ 1 กิโลกรัม ภายในเวลา 4 เดือน
หลังจากนั้น ตั้งแต่เดือนที่ 5 จนถึง สิ้นปี จะเป็นอย่างไรต่อไป รัฐบาลจะตั้งคณะทำงานร่วมสองฝ่ายขึ้นมาหารือกันอีกครั้ง
การขึ้นราคาเอ็นจีวี กิโลกรัมละ 2 บาท เป็นข้อเรียกร้องของ ฝ่ายผู้ประกอบการมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ กระทรวงพลังงานไม่รับฟัง อ้างแต่ว่า มติ ครม.ให้ขึ้น 6 บาท โดยขึ้นแบบขั้นบันได เดือนละ 50 สตางค์ ต่อ 1 กิโลกรัม ซึ่งความจริงแล้ว เป็นความต้องการของ ปตท. ที่อยากจะให้ขึ้นราคาเอ็นจีวี เป็น กิโลกรัมละ 14.50 บาท จากราคาปัจจุบัน 8.50 บาท หรือปรับขึ้นถึง 70 % จนผู้ประกอบการต้อง สำแดงพลัง ปิดถนน สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน
ในเบื้องต้น การเคลื่อนไหว ของผู้ประกอบการรถขนส่ง บรรลุเป้าหมาย คือ สกัดกั้น ไม่ให้ ปตท. ขึ้นราคาเอนจีวีได้ตามใจชอบ และรัฐบาลต้องยอมฟังเสียงของพกวเขา หากจะมีการขึ้นราคาอีก ส่วน ปตท. แม้จะไม่ได้ขึ้นราคามากอย่างที่ตัวเองต้องการ แต่ก็ได้ขึ้นอีกถึง กิโลกรัมละ 2 บาท หรือ เพิ่มขึ้น 23 % หลังจากที่พยายามที่จะขึ้นราคามานาน
คอยดูก็แล้วกันว่า ปีนี กำไร ปตท. จะเพิ่มขึ้นอีกเท่าไร
ข้อมูลเรื่องต้นทุนเอนจีวีที่แท้จริง เป็นเท่าไร เป็นข้อมูลที่ ปตท. เป็นฝ่ายป้อนให้กับสังคม ผ่านสื่อ เพียงฝ่ายเดียว ปตท. อ้างว่า ขาย เอ็นจีวี ในราคาที่ขาดทุน เพราะต้นทุนที่ว่าจ้าง สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยศึกษา คือ กิโลกรัมละ 15 บาท ประกอบด้วย ต้นทุนเนื้อแก๊ส กิโลกรัมละ 8.39 บาท ต้นทุนค่าขนส่ง กิโลกรัมละ 5.56 บาท บวกด้วยภาษีมูลค่าเพิ่ม 1.01 บาทต่อกิโล
แต่ ข้อมูลจาก น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาตรวจสอบการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา แย้งว่า ปตท. ขายเอ็นจีวี ให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตในราคา 8.39 บาท ต่อกิโลกรัม เท่ากับต้นทุนที่ ปตท. อ้าง ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่ ปตท. จะไม่คิดการผ่านท่อ ค่าบริหารจัดการ กับ กฟผ. ดังนั้น ราคา 8.39 บาทนั้น จึงไม่น่าจะเป็นต้นทุนที่แท้จริง แต่เป็นราคาที่บวกกำไรเข้าไปแล้ว
เวลาที่ ปตท. จะขึ้นราคาแอลพีจี จะอ้างว่า ราคาตลาดโลกสูง แต่เวลาจะขึ้นเอนจีวี กลับไม่อ้างอิงราคาตลาดโลก หรือราคาที่ไหนเลย ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพระว่า ราคาตลาดโลกของเอ็นจีวีนั้น ถูกกว่า ราคาต้นทุนที่ ปตท อ้าง ถึง 1 เท่าตัว คือ ราคาเพียง 4 บาท ต่อ 1 กิโลกรัมเท่านั้น และราคาก๊าซในอ่าวไทย ก็อยู่ที่ 2 บาทต่อ กิโลกรัมเท่านั้น
คำถามจึงมีอยู่ว่า ราคาต้นทุนที่ ปตท. อ้างว่า อยู่ที่ กิโลกรัมละ 8.39 บาท นั้นมาจากไหน ไมจึงสูงกว่าราคาในตลาดโลก และก๊าสจากอ่าวไทย ซึ่ง ปตท. ไม่เคยตอบ อ้างแต่เพียงว่า เป็นผลการศึกษาของสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ซึ่งเดาได้เลยว่า ผู้ที่จ้างให้ สถาบันปิโตรเลียมฯ ศึกษา คือใคร
ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตัวเลขต้นทุนเอนจีวี ประการต่อไปคือ ต้นทุนค่าขนส่ง ที่ ปตท.อ้างว่า ตกกิโลกรัมละ 5.56 บาท นั้น มีสัดส่วนสูงถึง 39.85 เปอร์เซ็นต์ของต้นทุนเนื้อก๊าซ ที่คิดตามตัวเลขของ ปตท. และหากคิดตามต้นทุนเนื้อก๊าซจากอ่าวไทย กิโลกรัมละ 2 บาท แล้ว ต้นทุนค่าขนส่งนี้จะสูงถึง 73.54 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งแสดงถึงความไร้ประสิทธิภาพอย่างยิ่ง ในการบริหารจัดการของ ปตท. เพราะมีค่าขนส่งที่สูงถึง 40-73.5 % ของต้นทุนทั้งหมด โดยที่ ปตท. ผลักภาระอันเกิดจากความไม่มีประสิทธิภาพของตัวเองนี้ ไปให้กับผู้ใช้เอ็นจีวีทั้งหมด
ปตท. ก็ไม่เคยตอบคำถามนี้เช่นเดียวกัน
ปตท. ผูกขาด ธุรกิจแก๊สธรรมขาติ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำคือ เป็นผู้จัดหา ขนส่ง จำหน่าย แต่เพียงผู้เดียว แต่ละขั้นตอน มีการบวกค่าใช้จ่าย กำไรไปแล้ว ขั้นตอนสุดท้ายคือ การจำหน่ายเอนจีวี ให้กับรถบรรทุก รถแท๊กซี่ รถตู้ รถเมล์ และรถยนต์ทั่วไป ที่อ้างว่าขายขาดทุน ก็เพราะได้โอนกำไรไปซ่อนอยู่ในธุรกิจจัดหา และขนส่งแก๊ส โครงสร้างการผูกขาดเช่นนี้ บวกกับ การไม่สามารถชี้แจง ข้อโต้แย้งในเรื่องต้นทุนที่แท้จริงได้ จึงทำให้ ข้ออ้างในการขึ้นราคาเอนจีวีเป็นสิ่งทีไม่ชอบธรรม