xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” เชียร์เลือก ส.ส.ร.แก้ รธน. แต่เชื่อพรรคการเมืองเอี่ยวแน่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (แฟ้มภาพ)
“อภิสิทธิ์” ค้านข้อเสนอ คอ.นธ. ย้ำแก้ รธน.ต้องเลือกตั้ง ส.ส.ร.มาดำเนินการ แต่ยอมรับพรรคการเมืองเข้าไปมีเอี่ยวแน่ แนะเลือกตั้งจังหวัดละ 2 คน ให้แต่ละจังหวัดเลือกเหลือ 1 พร้อมหนุนแนวคิด ส.ว. ชงยื่นศาล รธน.ตีความรัฐออก พ.ร.ก.4 ฉบับ


นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีมติคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อให้มีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ซึ่งสวนทางกับแนวทางของคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) ที่เสนอให้มีคณะกรรมการยกร่างแก้รัฐธรรมนูญ 34 คนว่า สำหรับตนสนับสนุนแนวทางการตั้ง ส.ส.ร. มากกว่าแนวทางของนายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธาน คอ.นธ. อย่างน้อยการที่วิปรัฐบาลมีความชัดเจนในเรื่องนี้ก็ถือเป็นเรื่องดี

“ขณะนี้รัฐบาลพยายามใช้ประโยชน์จากกรรมาธิการที่ว่าด้วยเรื่องปรองดอง ดังนั้นก็น่าจะมีการมาปรึกษาหารือว่าการตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมาโดยเฉพาะที่ยังมีคนไม่สบายใจเกี่ยวกับแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่าสมควรทำ เพราะมีความจำเป็นเร่งด่วนอย่างไร ตรงนี้ก็น่าจะมีเวทีที่จะหาข้อยุติร่วมกันว่า ส.ส.ร.จะมาอย่างไร ถึงจะเป็นที่ยอมรับได้ เช่น มีการถกเถียงกันว่า จะมาจากกลุ่มอาชีพ หรือมาจากการเลือกตั้งโดยตรง ส่วนใหญ่ก็จะเสนอว่าเสนอกันมาจังหวัดละคน ซึ่งไม่เกี่ยวกับพรรคการเมือง”

นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวถึงการไปร่วมรับประทานอาหารกับ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาความปรองดองของคนในชาติ เมื่อวันศุกร์ที่ 6 ม.ค. ที่ผ่านมาว่า หากมีการเลือกตั้ง ส.ส.ร.โดยตรงในพื้นที่ เป็นเรื่องยากที่จะกีดกันบทบาทของนักการเมือง

“ผมได้ยกตัวอย่าง สมมติว่าเป็นการเลือก ส.ส.ร.ที่อุดรธานี มีคนเดียว ผมคิดว่าคนที่อยากเป็น ส.ส.ร.ที่สมัครเข้ามาก็ต้องวิ่งเข้าไปหาพรรคเพื่อไทย เพราะเป็นฐานเสียงสำคัญ หัวคะแนนคุณอยู่ไหน คุณจะสนับสนุนหรือไม่ แล้วพอมาภาคใต้ อย่าง จ.นครศรีธรรมราช ก็เชื่อว่าคนก็ต้องมาหาพรรคประชาธิปัตย์ แล้วก็เวลามีความเคลื่อนไหวเลือกตั้งกันอย่างนี้ในพื้นที่ เหมือนเลือก ส.ก. เหมือนเลือก อบจ. แม้ว่าทุกครั้งเราจะบอกว่าเป็นการลงแบบอิสระก็ตาม แต่จะมีบทบาทของพรรคการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องอย่างที่ปฏิเสธได้ยากในทางปฏิบัติ พอเป็นอย่างนี้แล้วก็ทำให้ไม่เป็นสภาร่างฯ ที่ไม่ได้เป็นอิสระจากพรรคการเมืองอย่างแท้จริง”

นายอภิสิทธิ์กล่าวอีกว่า การเลือกตัวแทน ส.ส.ร. แทนที่จะให้มีตัวแทน ส.ส.ร.จังหวัดละ 1 คน ก็ให้มีจังหวัดละ 2 คน แต่ให้กาเลือกคนเดียว เมื่อเป็นอย่างนี้ ผู้สมัครที่ไปยึดเหนี่ยวกับพรรคการเมืองก็จะมีโอกาสที่จะได้ทั้ง 2 คนยากขึ้น สมมติมีพรรคการเมืองหนึ่ง มีฐานเสียงอยู่ 60% ในพื้นที่นั้น พยายามจะได้ ส.ส.ร.ทั้ง 2 คน มันก็ไม่ง่ายแล้ว เพราะเก่งสุดก็ต้องแบ่งกันคนละ 30% ขนาดลงตัว 30 : 30 ก็อาจจะมีคนได้ 40 ก็จะได้ไปคนเดียว อีกคนก็ไม่ใช่ เพราะฉะนั้น ตรงนี้ก็จะเป็นหลักประกันนิดหนึ่งว่า ส.ส.ร.ไม่ใช่ลักษณะที่ไปอิงอยู่กับฐานเสียงทางการเมืองของแต่ละพื้นที่ ผมว่าประเด็นอย่างนี้ต้องเอามาพูดคุยกัน มันจะทำให้เกิดการยอมรับได้ง่ายขึ้น

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า จากการที่มีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) หลายคนออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับแนวความคิดของรัฐบาลในการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 4 ฉบับ พร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตว่า การดำเนินการดังกล่าวจะสอดคล้องรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 หรือไม่ และเตรียมยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น ส่วนตัวเห็นด้วยและเป็นสิ่งที่ได้เคยพูดมาแล้วก่อนหน้านี้ว่า หากจะกำหนดเป็น พ.ร.ก.จริงจะต้องดูว่าเข้าเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญก็ชัดว่า ต้องเป็นเรื่องที่จำเป็นเร่งด่วนเพื่อประโยชน์สาธารณะ ป้องกันภัยพิบัติ และต้องไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เพราะโดยเจตนารมณ์แล้ว การออก พ.ร.ก.ก็เป็นการออกกฎหมายซึ่งเป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งถ้าทำเป็น พ.ร.บ.ก็หมายความว่าทั้ง ส.ส.และ ส.ว.ก็มีสิทธิ์จะแปรญัตติปรับปรุงแก้ไขต่างๆ ได้ แต่เมื่อเป็น พ.ร.ก.จะทำไม่ได้ และจะมีผลบังคับไปก่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น