xs
xsm
sm
md
lg

ดูตัวเองบ้าง อุกฤษ มงคลนาวิน

เผยแพร่:   โดย: ราวี เวียงพยัคฆ์

ปัญหาที่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยกขึ้นมาให้เป็นปัญหาสำคัญขณะนี้คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งที่มีปัญหาอื่นที่สำคัญยิ่งกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่ประเทศชาติเพิ่งประสบวิกฤตเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากมหาอุทกภัย จะต้องฟื้นฟูประเทศ จะต้องแก้ปัญหาไม่ให้มหาอุทกภัยเกิดขึ้นอีก จะต้องชำระสะสางหนี้สินของประเทศที่เรียกกันว่า หนี้สาธารณะ ฯลฯ

แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นนโยบายหนึ่งที่พรรคเพื่อไทยได้ประกาศเอาไว้ระหว่างหาเสียงเลือกตั้ง เมื่อได้รับเลือกตั้ง ได้เป็นรัฐบาลแล้ว ก็จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่ได้หาเสียงเอาไว้ โดยที่ความเป็นจริงประชาชนที่หย่อนบัตรลงคะแนนให้พรรคเพื่อไทยนั้นลงให้เพราะอยากให้มาแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือเลือกเพราะอย่างอื่น

พวกเขาพูดถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยที่ไม่ได้บอกกล่าวให้ประชาชนทั้งหลายรู้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่ใช้กันอยู่ขณะนี้มีข้อบกพร่องตรงไหน จะแก้ไขประเด็นใด รัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ในขณะนี้เป็นอุปสรรคต่อการบริหารประเทศตรงไหน มีข้อความใดบ้างที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทำให้ประชาชนเสียสิทธิ ไม่เป็นประชาธิปไตย เช่นเดียวกับประชาชนในยุคก่อน 14 ตุลาคม 2516

เราขาดเสรีภาพในการชุมนุม การแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียนหรือ? ก็ไม่ ไม่เชื่อไปถาม พ.ต.ต.เสงี่ยม ข้าราชการการเมืองในสำนักนายกรัฐมนตรีดูก็ได้ อยากจะปิด อยากจะเปิดประตูน้ำ อยากจะทำหน้าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ก็ทำให้เห็นมาแล้ว

ข้อรังกียจรัฐธรรมนูญ 2550 ที่พูดกันก็คือ รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากการรัฐประหาร 2549 โดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ที่เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารครั้งนั้น บัดนี้หันมาเอาดีเช่นเดียวกับสมาชิกสภาฯ ที่เขาเป็นหัวหน้าคณะล้มมาแล้ว ซึ่งรัฐธรรมนูญหลายสิบฉบับของประเทศไทยก็เป็นเช่นนี้ คือ มีการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาล ล้มรัฐบาล ล้มสภาผู้แทนฯ ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับดิม แต่งตั้งบุคคลหรือคณะบุคคลขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญแล้วประกาศใช้ จัดการเลือกตั้ง มีรัฐบาลบริหารประเทศ บริหารสักพักก็ทุจริตบ้าง สร้างความเสียหายให้แก่ประเทศชาติในทางใดทางหนึ่งบ้าง แล้วก็เกิดการรัฐประหาร ร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ มีรัฐบาลใหม่ วนเวียนกันอยู่อย่างนี้

รัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมานั้นก็ขึ้นอยู่กับยุคสมัย ขึ้นอยู่กับกาลเวลานั้นๆ หากกระแสประชาธิปไตยมากหน่อย ก็ให้เสรีภาพกับประชาชนมาก บางยุคบางสมัยมีบทเรียนจากการเลือกตั้งที่ทุจริตซื้อเสียง ก็ออกแบบรัฐธรรมนูญให้มีกรรมการการเลือกตั้ง ให้มีองค์กรที่สามารถตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล

นี่เป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องธรรมดาที่ผ่านมานับตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2475

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ถ้าหากมีข้อบกพร่องที่จะต้องแก้ไข ก็ต้องแก้ไข กล่าวคือ ถ้าหากมีบทบัญญัติที่เป็นอุปสรรคในการบริหารประเทศชาติ หรือมีเนื้อหาสาระที่ขัดขวางการเป็นประชาธิปไตย หรือมีบทบัญญัติที่ลิดรอนเสรีภาพของประชาชน

แต่ไม่ใช่เหตุผลอย่างที่นายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานคณะกรรมการองค์กรอิสระว่าด้วยหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) บอกว่า ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ขาดหลักนิติธรรม

ดังได้กล่าวแล้วว่า เนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญนั้นขึ้นอยู่กับสถานการณ์ เหตุการณ์บ้านเมืองระหว่างที่มีการร่างรัฐธรรมนูญ เช่น ต้องการให้รัฐบาลเข้มแข็ง ก็เขียนรัฐธรรมนูญให้มีบทบัญญัติยากที่จะอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี อยากให้พรรคการเมืองมีระเบียบวินัยไม่ให้ซื้อสิทธิซื้อเสียงประชาชนเพื่อจะเข้าสู่อำนาจ ก็เขียนให้มีบทลงโทษพรรคการเมืองที่ทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง เป็นต้น ถ้าการเขียนรัฐธรรมนูญอย่างนี้ขาดหลักนิติธรรม ถามว่า การได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมการองค์กรอิสระว่าด้วยหลักนิติธรรมแห่งชาติ ของนายอุกฤษ มงคลนาวิน นั้นชอบด้วยหลักนิติธรรมตรงไหน

น่าจะเป็นการชอบด้วยหลักของ ทักษิณ ชินวัตร หรือนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เสียมากกว่าเพราะศึกษาจากปูมหลังแล้วไม่ปรากฏว่านายอุกฤษ มงคลนาวิน เคยมีประวัติอุทิศตัวเพื่อรับใช้ประเทศชาติ ประชาชนในทางประชาธิปไตยอย่างโดดเด่นแต่อย่างใด ตรงข้ามกลับเป็นที่รู้ว่านายอุกฤษ มงคลนาวิน รับใช้เผด็จการหรือไม่ก็เป็นที่สนิทเสน่หาคนที่กำลังหนีคุกอย่าง ทักษิณ ชินวัตร อันเป็นการท้าทายต่อหนึ่งในสามอำนาจอธิปไตย คืออำนาจตุลาการอยู่ขณะนี้

ยิ่งแนวคิดของคณะกรรมการที่เสนอแต่งตั้ง 34 คน เป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยิ่งมองไม่เห็นว่า นี่เป็นการกระทำที่ชอบด้วยหลักนิติธรรมตรงไหนอย่างไร? นอกจากแสดงให้เห็นว่า อยากเป็นเจ้ากี้เจ้าการ อยากมีอำนาจในการกำหนดรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสำคัญในการปกครองประเทศเพื่อรับใช้คนที่เขาแต่งตั้ง เพราะตั้งแต่ที่ได้รับแต่งตั้งมาหลายเดือนยังไม่มีงานเป็นชิ้นเป็นอันได้ทำพอจะให้ถูกมองว่าเป็นคนสำคัญเลยแม้แต่น้อย

และที่สำคัญในบรรดาผู้คน 34 คนที่ไปเสนอแต่งตั้งเขานั้น มีหลายคนที่เขาไม่เล่นด้วย เพราะฉะนั้นควรทำความเข้าใจเสียใหม่ว่า มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้ยินดียินร้ายกับสิ่งที่นายอุกฤษ มงคลนาวิน คิดว่า เป็นอำนาจวาสนาสมควรที่จะไขว่คว้าเอาไว้เมื่อมีโอกาส

บางคนเขาก็พิจารณาตัวเองเหมือนกันว่า ตำแหน่งแห่งที่ที่คนเขายกให้ แต่งตั้งให้นั้น สมควรที่จะรับไว้หรือไม่ รับไว้แล้วจะเป็นตัวตลกให้ผู้คนเขาหัวเราะเยาะหรือไม่ เหมือนกับที่ผู้คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกสมเพชเวทนาคนที่มีตำแหน่งใหญ่ๆ โตๆ ทุกวันนี้ที่ ไม่รู้จักตัวเองยังไม่พอ ยังมีหน้าขออยู่จนครบเทอมอีก เข้าใจไหมครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น