xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” ซัด “ประชา” เลือกปฏิบัติ จี้นายกฯ พูดเป้าแก้ รธน.ให้ชัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หน.ประชาธิปัตย์ ตักบาตรพระ 59 รูปปีใหม่ จี้เปิดแผนวางระบบน้ำ 2.7 ล้านล้าน สอดคล้องภาพพื้นที่หรือไม่ แนะเร่งผุดกองทุนประกันภัย หวั่นไม่สำเร็จกระทบนักลงทุนแน่ เตือนรัฐอย่ามุ่งหาเรื่องใช้เงิน ซัด “ประชา” เมินเอี่ยวช่วยท่วมใต้สะท้อนเลือกปฏิบัติชัด ชี้ คอ.นธ.เสนอ 34 อรหันต์แก้ รธน.ไม่สอดคล้องนโยบายรัฐ จี้ถอนเรื่อง แนะนายกฯ พูดให้ชัดเป้าหมายคืออะไร งง “ยิ่งลักษณ์” ไม่เคยปรามแก๊งแก้อาญา ม.112


วันนี้ (8 ม.ค.) ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธานในพิธีทำบุญตักบาตรพระ 59 รูป เนื่องในโอกาสขึ้นปีใหม่ของชาวคลองตัน ซึ่งเป็นประเพณีปฏิบัติทุกปีเป็นปีที่ 16 โดยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับยุทธศาสตร์ของรัฐบาลที่จะใช้เงิน 2.7 ล้านล้านบาท ในการวางระบบน้ำและสร้างอนาคตให้กับประเทศว่า ขณะนี้มีแต่ภาพรวมจึงต้องดูรายละเอียดว่าจะมีการกำหนดโครงการอย่างไร และสอดคล้องกับสภาพพื้นที่ตามธรรมชาติหรือไม่ อีกทั้งยังต้องดูถึงระบบบริหารจัดการว่าจะเป็นอย่างไร การระบุตัวเลขวงเงินในภาพรวม โดยที่ไม่ได้มีการขอความเห็นจากผู้ที่มีบทบาทการบริหารจัดการลุ่มน้ำในแต่ละท้องถิ่น เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง ดังนั้น หากรัฐบาลมีแผนที่ชัดเจนควรเร่งนำออกมาเปิดเผยต่อสาธารณะเพื่อรับฟังความเห็น และทำความเข้าใจกับประชาชน ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาการผลักดันโครงการตามมา การใช้เงินเป็นตัวตั้งไม่ใช่คำตอบในการแก้ปัญหา เพราะการใช้ยอดเงินเป็นตัวนำยังไม่ใช่หลักประกันที่จะทำให้นักลงทุน และประชาชนเกิดความเชื่อมั่นว่าจะไม่เกิดปัญหาน้ำท่วมอีก เพราะการเรียกความเชื่อมั่นอยู่ที่ความชัดเจนในสิ่งที่รัฐบาลจะทำและบริหารจัดการ

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวต่อว่า โดยสิ่งที่ควรเร่งดำเนินการคือกองทุนประกันภัย เพราะจะช่วยเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนได้ในระดับหนึ่ง แต่ขณะนี้การที่ปลัดกระทรวงการคลังออกมาให้สัมภาษณ์ ก็ดูเหมือนไม่มีความชัดเจนในเรื่องของโครงสร้าง จึงอยากให้ผลักดันโดยเร็ว รวมถึงการกำหนดแนวทางการบริหารให้ชัดเจน ซึ่งก็มีแบบอย่างที่ประเทศญี่ปุ่น และนิวซีแลนด์ เป็นแนวทางอยู่แล้ว แต่ถ้าหากรัฐบาลจัดตั้งกองทุนนี้ไม่สำเร็จ จะกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนถึงขั้นย้ายฐานการผลิตกับประเทศไทยได้ โดยควรมีการแต่งตั้งผู้รับผิดชอบการเชื่อมโยงระบบในภาพรวม เพราะระบบประกันภัยพืชผลไปจนถึงการประกันภัยทรัพย์สินอื่น ทั้งของครัวเรือนและธุรกิจ รัฐบาลยังไม่เอาใจใส่เท่าที่ควร

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า รวมถึงมาตรการช่วยเหลือประชาชนก็ปล่อยให้เป็นเรื่องของแต่ละหน่วยงาน จนสร้างความสับสน เช่นกรณีคูปอง 2 พันบาทของกระทรวงพลังงาน ที่กระทรวงพลังงานยังมีปัญหาเรื่องประสิทธิภาพและความโปร่งใส รวมถึงความไม่เป็นธรรมต่อประชาชน ทั้งนี้ อยากเตือนรัฐบาลว่าไม่ควรมุ่งแต่ที่จะลงทุนในโครงการขนาดใหญ่เพื่อกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวจนกระทั่งพยายามทุกทางที่จะหาเงินเพื่อมาใช้จ่าย ทั้งๆ ที่การฟื้นฟูเศรษฐกิจต้องทำควบคู่ไปกับการป้องกันน้ำท่วม แม้ว่าตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจอาจจะอยู่ที่ 7 เปอร์เซ็นต์ หรือสูงกว่านั้น แต่ไม่ได้สะท้อนถึงชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน เพราะการใช้จ่ายเงินเป็นการฟื้นฟูชีวิตหลังน้ำลด ซึ่งยังไม่ได้หมายความว่าประชาชนจะกลับมามีชีวิตเหมือนเดิมด้วยซ้ำ เป็นเพียงการรักษาสถานภาพ ไม่ใช่การทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น แต่จะมีเงินในการซื้อเครื่องใช้จำเป็นที่เกิดการหมุนเวียนต่อระบบเศรษฐกิจ ในขณะที่ประชาชนอาจมีหนี้สินเพิ่ม

นายอภิสิทธิ์ยังแสดงความแปลกใจกรณีที่ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม ในฐานะผอ.ศภป.ที่ระบุว่า ศปภ.ไม่มีหน้าที่ดูแลปัญหาน้ำท่วมภาคใต้ ทั้งๆ ที่ควรต้องเริ่มแก้ไขเพราะเป็นปัญหาของคนไทย อีกทั้งจะต้องปรับปรุงระเบียบที่ส่งผลกระทบ ทำให้ชาวใต้อาจไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ในส่วนนี้ เช่นกรณีการลดหย่อนภาษีเรื่องซ่อมบ้าน ซ่อมรถ เพราะจำกัดว่าต้องเป็นน้ำท่วมก่อนสิ้นปี ทำให้ภาคใต้ไม่ได้รับสิทธิ์ตรงนี้ ซึ่งตนหวังว่าเป็นเรื่องความบกพร่องในการทำงาน ความจงใจที่เลือกปฏิบัติที่เคยเกิดขึ้นในยุค พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

นอกจากนี้ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวถึงกรณีที่นายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธาน คอ.นธ. เสนอให้มีการแต่งตั้งกรรมการ 34 คน มายกร่างรัฐธรรมนูญแทน ส.ส.ร.ว่า เป็นข้อเสนอที่ไม่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล และบุคคลที่ถูกอ้างถึงหลายคนก็ออกมาปฏิเสธแล้ว คอ.นธ.จึงควรถอนข้อเสนอนี้กลับไป เพราะรัฐบาลก็บอกกับรัฐสภาว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะทำโดย ส.ส.ร. และให้ประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งในขณะนี้การเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ล้วนแต่เป็นคนในเครือข่ายของรัฐบาลท้งสิ้น ซึ่งตนเห็นว่าเป็นสิทธิ์เนื่องจากรัฐบาลได้หาเสียงและกำหนดเป็นนโยบาย โดยในที่ประชุมหัวหน้าพรรคการเมืองก็พูดชัดเจนว่าถ้าเป็นการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้ระบบดีขึ้น สามารถดำเนินการได้ แต่ต้องดูรายละเอียดว่าจะทำรูปแบบไหนอย่างไร เป้าหมายคืออะไร นายกฯควรพูดและทำให้ชัดเจนเพื่อหยุดความสับสนของสังคม แต่ปัญหาคือรัฐบาลพยายามพูดถึงความปรองดอง และสร้างกลไกทำเรื่องนี้ แต่คนเป็นหัวหน้ารัฐบาลไม่ส่งสัญญาณอย่างจริงจัง ที่จะทำให้เกิดความปรองดองในประเทศ เช่นกรณีกฎหมายอาญามาตรา 112 มีเพียง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรอง รองนายกฯ ที่พูดชัด แต่นายกฯ ยังไม่เคยพูดให้ชัด และไม่เคยไปพูดกับกลุ่มที่สนับสนุนตัวเองให้หยุดการเคลื่อนไหวเรื่องนี้ รวมถึงการตั้งหมู่บ้านเสื้อแดงด้วย เพราะเป็นการตอกย้ำความแตกแยก ดังนั้น หากรัฐบาลต้องการให้เกิดความปรองดองจริงต้องเลิกทำการเมืองสองหน้า ผู้นำรัฐบาลต้องส่งสัญญาณกับผู้สนับสนุนให้ชัด ไม่อย่างนั้นความปรองดองก็เกิดขึ้นยาก




กำลังโหลดความคิดเห็น