กยน.คลอด 8 แผนงานยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำ โดยกำหนด 6 แผนระยะสั้น 2 แผนระยะยาว สั่งหลายหน่วยงานไปดำเนินการ พร้อมเร่งทำความเข้าใจประชาชน ส่วนพื้นที่แก้มลิงต้องช่วยเหลือและชดเชยผู้ที่ได้รับผลกระทบ เผย "ยิ่งลักษณ์" ห่วงแผนงานล่าช้า
นายวิเชียร ชวลิต เลขาธิการคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการน้ำ (กยน.) กล่าวภายหลังการประชุม กยน.ว่า ที่ประชุมได้รับทราบ 8 แผนงานที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณ และมีการพิจารณาวางแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวแก้ปัญหาอุทกภัย ซึ่งจะเป็นกรอบแผนงานกว้างๆ โดยใน 8 แผนงานนั้นมี 6 แผนที่อยู่ในระยะเร่งด่วน และ 2 แผน อยู่ในแผนระยะยาวคือเรื่องพื้นที่อนุรักษ์ป่าต้นน้ำและการทำความเข้าใจกับประชาชนเรื่องการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งจะครอบคลุมการแก้ไขปัญหาอุทกภัย
ทั้งนี้การทำความเข้าใจกับประชาชนว่าพื้นที่ใดจะเป็นแก้มลิงแล้วจะต้องมีการให้ความช่วยเหลือหรือการชดเชยให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเป็นพื้นที่แก้มลิง
“ขณะนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงนั้นไม่ได้กำหนดการสร้างความเข้าใจจะเป็นอะไร แต่เป็นระยะยาวที่กำหนดแนวทางทำความเข้าใจในระยะยาว เมื่อมีภารกิจก็จะมีการกำหนดหน่วยงานที่รับผิดชอบไว้ประมาณ 2-3 กรม เช่นเรื่องการกำหนดพื้นที่รับน้ำนอง จะมีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับผิดชอบการทำความเข้าใจกับประชาชน ซึ่งต้องเข้าใจภาพว่าเมื่อกำหนดยุทธศาสตร์สร้างความเข้าใจก็เป็นหนึ่งในงาน ที่แต่ละหน่วยงานจะต้องไปทำ เพราะฉะนั้นเมื่อกำหนดพื้นที่น้ำนอง หน่วยงานก็จะต้องผนวกเรื่องสร้างความเข้าใจ กระทรวงที่รับผิดชอบก็คือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พร้อมคิดว่าในพื้นที่รับน้ำ นองเมื่อผันน้ำเข้าไปเป็นแก้มลิงธรรมชาติจะต้องมีส่วนช่วยเหลือ ดูรายละเอียดจะช่วยเหลือการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต หรือปรับเป็นพื้นที่การเกษตร”
ส่วนพื้นที่รับน้ำจะเป็นจุดใดบ้างและระยะเวลาเท่าใดนั้น นายวิเชียรกล่าวว่า ขณะนี้ในระยะสั้นก็มีการกำหนดระยะเวลาที่ต้องเริ่มต้นในปี 2555 ส่วน ระยะยาวนั้นยังไม่สามารถกำหนดได้ เพราะต้องมีการศึกษาก่อน ทั้งนี้หากการทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ต่างๆ และจะมีการต่อต้านนั้น ก็ต้องทำความเข้าใจตามกฎหมายตามกระบวนการที่กำหนดไว้ต่อไป ขณะที่การทำฟลัดเวย์ก็มีการพูดคุยถึงประสิทธิภาพของฟลัดเวย์จะทำพื้นที่ใด บ้าง รวมทั้งอุโมงค์ระบายน้ำที่มีการเสนอให้ทำก่อนหน้านี้ก็พูดคุยในข้อเสนอ แต่ยังไม่ได้กำหนดจะใช้แนวทางใด
นายวิเชียร กล่าวอีกว่า การประชุม กยน.ในวันนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยเรื่องแผนงานจะมีความล่าช้า แต่ขณะนี้หน่วยงานต่างๆ ก็ได้นำแผนงานระยะสั้นไปปฏิบัติแล้ว และคิดว่าจะไม่มีอุปสรรคอะไรขณะเดียวกันแต่ละหน่วยงานก็ต้องเร่งรัดทำให้ทัน กับระยะเวลาด้วย โดยระยะยาวก็อาจจะมีการให้คอนเซ้าท์หรือที่ปรึกษา เข้าดูแผนงานด้วย ซึ่งจะทำให้แผนงานประสบความสำเร็จ